มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 495 / สร้างโดย Web Admin

จิระศักดิ์ อินทะวิชัย*

เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ซึ่งไม่ว่าสังคมนั้นๆ จะมีรูปแบบการปกครองแบบใด วัฒนธรรมเกี่ยวกับเงินตราล้วนมีการสรรค์สร้างและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของอินเดียโบราณ หรือดินแดนชมพูทวีป อันเป็นต้นกำเนิดลัทธิวิธี แหล่งปรัชญาสมาคม และศาสนาต่างๆ ในฐานะแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประการ๑ รวมถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีเงินตราใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าด้วย อนุทวีปอินเดียก็มีเงินตราและหน่วยวัดเงินตราโบราณ โดยเฉพาะในสมัยพุทธกาล (๖๐๐ - ๓๐๐ ปี ก่อน ค.ศ.) คือ "มาสกและกหาปณะ” ซึ่งเป็นต้นเค้ารูปแบบเงินตราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย พบว่ามีการอธิบายเรื่องของเงินตรา "มาสกและกหาปณะ” ในหนังสือหรือตำราทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า "คัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา” ซึ่งเป็นหนึ่งในคัมภีร์หรือตำราทางพุทธศาสนาเพียงไม่กี่ฉบับที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเงินตราและระบบชั่ง ตวง วัดต่างๆ ไว้โดยเฉพาะ


ที่มาของคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา

คัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกาเป็นหนังสือหรือตำราทางพุทธศาสนา ที่พบในอาณาจักรล้านนาสมัยรุ่งเรือง ยุคราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๒๐๖๘) ในสมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘๒ นับเป็นช่วงยุคทองของวรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา มีการแต่งวรรณกรรมอันทรงคุณค่าลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่อาณาจักรมีความมั่นคงทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง และมั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้เกิดความเฟื่องฟูในศาสนาจักร กล่าวคือ พุทธศาสนามีความรุ่งเรืองในด้านศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และวิชาการ มีการเกิดนิกายใหม่ คือ สีหล ซึ่งสืบมาแต่ลังกา รวมไปจนถึงการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกขึ้นในดินแดนที่นิยามว่าเป็นประเทศไทยปัจจุบัน พระเถระปราชญ์ผู้ทรงภูมิทั้งหลายได้แต่งวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่มีชื่อเสียงต่างๆ ขึ้นหลายฉบับ โดยเฉพาะ "พระสิริมังคลาจารย์” ได้แต่ง "สังขยาปกาสกฎีกา” ขึ้น มีลักษณะเป็นฎีกา โดยอธิบายรูปแบบมาตรา ชั่ง ตวง และวัด๓ เป็นการขยายความจากอรรถกถาซึ่งอธิบายความจากพระไตรปิฎกอีกชั้นหนึ่ง ให้ผู้สนใจได้ศึกษาประกอบเนื้อหาสาระหลักเหล่านั้นง่ายยิ่งขึ้น

พระรสิริมังคลาจารย์

พระสิริมังคลาจารย์ (ราว พ.ศ. 2000 – 2100)

เป็นพระเถระล้านนาผู้แต่งคัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกา


สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา: หนังสือว่าด้วยการนับ

สังขยาปกาสกฎีกา เป็นคัมภีร์ชั้นรองที่อธิบายความคัมภีร์หลัก คือ สังขยาปกาสกปกรณ์ (สังขยา+ปกาสก+ปกรณ์ หมายถึงคัมภีร์ที่อธิบายการนับ) ซึ่งแต่งขึ้นโดยพระญาณวิลาส ก่อน พ.ศ. ๒๐๕๙๔ เป็นคาถาบาลี แบบร้อยกรอง ยาว ๗๓ คาถา เนื้อหาหลักกล่าวถึงลักษณะการคำนวณนับ ๖ ประเภทหรือมาตรานับ ได้แก่ อัทธาสังขยา (มาตราวัดระยะทาง) ธัญญสังขยา (มาตราตวงสิ่งของ) ปมาณสังขยา (มาตราชั่งสิ่งของ) ภัณฑสังขยา (ระบบการนับจำนวน) มูลภัณฑราสังขยา (มาตรานับเงินตรา) และนีลกหาปณปมาณสังขยา (การนับมูลค่าและกำหนดขนาดนีลกหาปณะ) โดยพระสิริมังคลาจารย์ได้แต่งสังขยาปกาสกฎีกา (สังขยา+ ปกาสก+ฎีกา หมายถึงคำอธิบายขยายความของคัมภีร์ที่อธิบายการนับ ๖ อย่าง)๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๓ เป็น แบบร้อยแก้ว บันทึกเป็นความได้จำนวน ๒ ผูก๖

คำว่า "สังขยา” โดยความหมายตามรูปศัพท์นั้น หมายถึง ตัวเลข การนับหรือจำนวนนับ๗


มาสกและกหาปณะ: รูปแบบเงินตราที่ใช้ในสมัยพุทธกาล

เงินตราในสังคมสมัยพุทธกาลนั้นถูกกล่าวถึงใน ๒ หมวด คือ ภัณฑมูลสังขยา และนีลกหาปณปมาณสังขยา ดังนี้ ภัณฑมูลสังขยา มีเนื้อความจำนวน ๑๐ คาถา แปลตามรูปศัพท์ หมายถึง การนับมูลค่าของสิ่งของ ที่ควรซื้อขาย เงินที่ใช้สอยกันในหมู่ชนบทของแคว้นต่างๆ นั้นมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่

๑. "มาสก” อ่านว่า "มา-สก”๘ เรียกได้อีกหลายชื่อ คือ กาสกะ มาสะ และกาสะ ตัวเงินมาสกทำด้วยทองแดง ตะกั่ว ยาง ครั่งหรือแก่นไม้๙ เงินมาสกมีตราประทับซึ่งเป็นเครื่องหมายของแต่ละแคว้น เงินที่ทำด้วยไม้ นับได้ว่ามีค่าต่ำสุด จะถูกนำไปซื้อสินค้าราคาถูก คือ ผ้า

๒. "กหาปณะ” มาจากคำว่า กรีส + ปณะ หมายถึง เงินตราที่ใช้สอยในท้องตลาด เรียกได้อีกหลายชื่อ คือ ปณกะ ตกาณะ และกรีสาปณะ กหาปณะทำจากทองคำเป็นส่วนประกอบโดยนำทองคำ เงิน และทองแดงผสมกัน ซึ่งบางตำราก็ระบุว่าใช้ทองแดง ตะกั่วผสมด้วย จากนั้นจึงตัดเป็นรูปตามที่ประทับไว้ ลักษณะของเงินกหาปณะนั้นคล้ายกับผลสมอพิเภก ดังปรากฏความว่า

"...ในฎีกาวิสุทธิมรรค จตุรงคพลอำมาตย์กล่าวว่าวัตถุที่เป็นประโยชน์ในทางค้าขายที่ทำเป็นรูปสมอพิเภกชื่อว่า กหาปณะ..”

"...ทรัพย์ประเภทหนึ่งทำเป็นรูปขนาดเท่าผลสมอพิเภกชื่อว่า กหาปณะ...”

"...รูปิยะที่มีขนาดเท่าผลสมอพิเภก...”๑๐

จำนวนเงิน ๑ กหาปณะนั้นมีมูลค่าเท่ากับ ๔ บาท น้ำหนักของทั้งมาสกและกหาปณะในแต่ละแคว้นนั้นไม่เท่ากัน๑๑ ซึ่งเนื้อหาในคัมภีร์นั้นไม่ได้กล่าวถึงมาตราเงินชนิดนี้ไว้โดยละเอียดนัก

นีลกหาปณปมาณสังขยา มีเนื้อความจำนวน ๑๒ คาถา แปลโดยความหมาย คือ เงินกหาปณะที่ไม่มีตำหนิ เงินชนิดนี้ คือ เงินกหาปณะที่มีรูปแบบสมบูรณ์ถูกต้องตามที่ตำราได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีความพิเศษ คือ ใช้สอยอยู่ในเฉพาะแคว้นมคธเท่านั้น นีลกหาปณะนั้นทำมาจากทองคำ ๑ ส่วน เงิน ๑ ส่วน และทองแดง ๒ ส่วน ผสมกันประทับรูปแล้วจึงทำเป็นเหรียญ๑๒ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเงินนีลกหาปณะที่ทำมาจากทองผสมกับโลหะอื่นๆ นีลกหาปณะนั้นทำมาจากทองคำ จากสภาพสังคมเมืองที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมีการเปรียบเทียบเงินชนิดนี้ว่า "...เป็นโลหะพิเศษชนิดหนึ่ง กล่าวคือเป็นโลหะที่มีสีเหมือนผลมะเดื่อสุก...”๑๓ จำนวน ๑ นีลกหาปณะนั้น มีมูลค่าเท่ากับ ๒๐ มาสก

นีลกหาปณะ


นีลกหาปณะทำมาจากโลหะที่มีค่าสูงและเป็นหน่วยเงินตราที่มีมูลค่าสูง


ระบบมาสกและกหาปณะเมื่อเทียบเคียงกับหน่วยนับอื่นๆ ในคัมภีร์สามารถสรุปเทียบเคียงออกมาเป็นอัตราได้ดังนี้

๔ วีหิ๑๔ มีค่าเท่ากับ ๑ กุญชา

๒ กุญชา มีค่าเท่ากับ ๑ มาสกะ

๕ มาสกะ มีค่าเท่ากับ ๑ ปาทะ๑๕

๔ ปาทะ มีค่าเท่ากับ ๑ กหาปณะหรือนีลกหาปณะ

๓ กหาปณะหรือนีลกหาปณะ มีค่าเท่ากับ ๑ รุทรทามกกหาปณะ

ทว่าในหนังสือที่แต่งอธิบายความนี้ ไม่ได้บอกที่มาของมาตราเงินว่าปรากฏที่แห่งใดในพระไตรปิฎกบ้าง๑๖ มาสกและกหาปณะในพุทธศาสนา

ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยพุทธกาล หรือสมัยก่อนราชวงศ์เมารยะ อยู่ในช่วงประมาณ ๖๐๐ - ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองและมีพัฒนาการมาโดยลำดับ เรื่องราวของเงินตราในสังคม ในขณะนั้นจึงได้ปรากฏในรูปแบบของเรื่องเล่า และภายหลังได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มาสกและกหาปณะนั้นปรากฏในมูลเหตุที่ทำให้เกิดการบัญญัติพระวินัย ในอาบัติปาราชิกข้อที่ ๒ เรื่อง การกำหนดโทษเกี่ยวกับทรัพย์ของพระภิกษุ ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ตามมูลค่าของ "มาสก” ซึ่งหากพระภิกษุนำเอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ไปมูลค่าตั้งแต่ ๑ ปาทะ หรือ ๕ มาสกขึ้นไป จะต้องโทษขาดจากความเป็นพระ คาดว่าตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ได้บัญญัติขึ้นตามสภาพสังคมและกฎหมายในสมัยพระเจ้าพิมพิสาร เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ๑๗ ราวก่อน พ.ศ. ๕๐ ถึง ๒ ปี๑๘ ปัจจุบันได้มีการพยายามเทียบเคียงหาค่าเงิน ๕ มาสก เพื่ออธิบายข้อพระวินัยดังกล่าว ดังเช่น หนังสือวินัยมุข หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี เล่มที่ ๑ ซึ่งเป็นตำราเรียนของพระสงฆ์สามเณรไทยในปัจจุบัน ได้แสดงข้อวินิจฉัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เกี่ยวกับเรื่องพระวินัย ในหัวข้อวิภังค์ ได้อธิบายไว้ว่า "...๕ มาสก, ตามรูปิยะที่ใช้อยู่ในแคว้นมคธ ณ ครั้นนั้น ๕ มาสกเป็นบาทหนึ่ง ๔ บาทเป็นกหาปณะหนึ่ง กหาปณะเป็นหลังมาตรา ... กหาปณะเป็นหน่วยเงินเช่นบาทของไทย ณ ปัจจุบัน รูปิยะแต่ละแคว้นมีอัตราไม่เหมือนกัน ต้องมีมาตราแลกเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง จะสันนิษฐานเทียบกับปัจจุบันได้ยาก และกำหนดให้ ๑ กหาปณะ มีค่ากับ ๒๐ มาสก เมื่อนำมาตราทองคำมาเทียบกับมาตราเงิน จึงมีอัตราขึ้นลงไม่คงที่…”

ในปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับค่าเงินนี้หลายวิธี เช่น หากเทียบอัตรากับเงินไทยแล้วนั้น ๑ มาสก เท่ากับ ๒๐ สตางค์ ดังนั้น ๕ มาสก จึงเท่ากับ ๑ บาท๑๙ ของไทย และกหาปณะมีอัตราเทียบเท่ากับ ๒๐ มาสก จึงเทียบเท่าได้ ๑ ตำลึง หรือ ๔ บาทของไทย๒๐ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ระบบมาสกและกหาปณะนั้นได้ส่งอิทธิพล มายังสังคมไทยมาพร้อมด้วยกับการรับคติทางพุทธศาสนาอีกด้วย


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

ทรงนิพนธ์หนังสือวินัยมุข


ทั้งนี้ยังปรากฏเรื่องราวของ "มาสกและกหาปณะ” ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนารูปแบบอื่น คือ อรรถกถาที่อธิบายพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องเล่าต่างๆ เช่น คังคมาลชาดก๒๑ (พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าอุทัยราช ทรงแบ่งพระราชบัลลังก์ครึ่งหนึ่งให้พระเจ้าอัฑฒมาสกราช และพบนายคังคมาล ช่างตัดผมซึ่งออกบวชปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า) มัจฉทานชาดก๒๒ (พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเป็นพ่อค้าขายปลา) รวมถึงพุทธประวัติตอนสำคัญ คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี คหบดีแห่งเมืองสาวัตถี ใช้เงินกหาปณะมูลค่า ๑๘ โกฏิ ปูพื้นดิน เพื่อซื้อสวนของเจ้าเชต ถวายเป็นวัดแก่พระพุทธเจ้า เป็นต้น


ภาพสลักหิน


ภาพสลักหิน ณ สถูปภารหุต ราวพุทธศตวรรษที่ 1 - 10 แสดงเรื่องราวตอนอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดเชตวันมหาวิหารถวายแด่พระพุทธเจ้า โดยใช้เงินหาปณะแผ่นสี่เหลี่ยมปูเพื่อซื้อที่ดิน ด้านล่างจารึกเป็นอักษรพราหมว่า "เชตวนอานาธปิฑโก เทติ โกฎีสํถเตน เกตา" แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเงินกหาปณะที่มีต่อวิถีชีวิตประจำวันคนทุกชนชั้นในสมัยพุทธกาล

ที่มาภาพและคำจารึก : Dr.Christian Luczanits. Buddhist Text and Image New Evidence Kanaganahalli. วารสารอยู่ในบุญ ฉบับเดือนตุลาคม 2558


วัดเชตวันมหาวิหาร


วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีปัจจุบันอยู่รัฐอุตตรประเทศอินเดีย



เหรียญสมันเมารยะ

เหรียญสมัยเมารยะเชื่อว่าพัฒนาแนวคิดและรูปแบบมาจากเงินมาสกและกหาปณะในสมัยพุทธกาล


จึงกล่าวได้ว่า มาสกและกหาปณะเป็นทั้งเงินตราและหน่วยเงินตราของอินเดียโบราณที่พบใช้ในสมัยพุทธกาล กหาปณะเป็นเงินตราที่มีมูลค่าสูง และมีคุณสมบัติพิเศษมากกว่ามาสก ภายหลังได้พัฒนาเป็นรูปแบบเงินตราของอินเดียในยุคต่อมา รวมถึงพื้นที่ดินแดนอื่นๆ กหาปณะยังเป็นที่มาของคำว่า "กษาปณ์” หรือ "กระษาปณ์” ซึ่งหมายถึง เงินโลหะ ที่ใช้ในไทยปัจจุบัน การบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเงินตราในหลักฐานประเภทอรรถกถาและฎีกาของพุทธศาสนาฉบับนี้ จึงเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาประกอบ ความรู้เชิงประจักษ์ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพื่อเติมเต็มข้อมูลเหล่านั้นให้สมบูรณ์ต่อไป

* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

๑.D.G.E. Hall, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑, (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๗), หน้า ๒๐.

๒.สรัสวดี อ๋องสกุล (ศ.เกียรติคุณ), ประวัติศาสตร์ล้านนา, (กรุงเทพ: อมรินทร์, ๒๕๕๑), หน้า ๑๖๘.

๓.บุญหนา สอนใจ, สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา: การตรวจชำระและการศึกษาเชิงวิเคราะห์. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๓), หน้า ๑๖.

๔.หลักฐานเอกสารฉบับอื่นๆ ระบุปีที่แต่งวรรณกรรมฉบับนี้ คือ พ.ศ. ๒๐๕๘ และ พ.ศ. ๒๐๕๙

๕.เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙.

๖.อุดม รุ่งเรืองศรี (ศ.ดร.). วรรณกรรมล้านนา, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๖), หน้า ๑๙๐.

๗.พระมหานิยม อุตฺตโม (ป.ธ. ๗), คู่มือเรียนบาลีเบื้องต้น, (กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียงเพียรเพื่อพุทธศาสน์, ๒๕๕๗), หน้า ๘๙.

๘.พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). คำวัด, (พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา และสถาบันบันลือธรรม, 2551), หน้า ๗๘๓.

๙.เนื้อหาในคัมภีร์ยังระบุว่าทำมาจากโลหะสีแดง

๑๐.บุญหนา สอนใจ. สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา: การตรวจชำระและการศึกษาเชิงวิเคราะห์. หน้า ๒๑๗.

๑๑.เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๑๘.

๑๒.จะพบว่าเหรียญสมัยอินเดียโบราณเป็นรูปแบบเหรียญตอกตรา (Punch-Mark Coin) คือ มีการตอกสัญลักษณ์ลงบนหน้าเหรียญ โดยเป็นสัญลักษณ์มงคล สัญลักษณ์ประจำแคว้น หรือมีจารึกชื่อรัฐกำกับ

๑๓.เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๐.

๑๔.หมายถึง ข้าวเปลือก

๑๕.หมายถึง บาท

๑๖.เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๕.

๑๗.๔ แคว้นใหญ่ในสมัยพุทธกาล คือ แคว้นมคธ แคว้นวังสะ แคว้นอวันตี และแคว้นโกศล

๑๘.มูลเหตุเกิดจากพระธนิยะนำไม้ของหลวงจากเจ้าพนักงาน มาสร้างเป็นกุฏิของตนเอง โดยอ้างว่าพระเจ้าพิมพิสารได้กล่าวถวายหญ้า ไม้และน้ำเหล่านี้แก่เหล่าสมณะและพราหมณ์ เมื่อครั้งขึ้นครองราชสมบัติแล้ว (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ (ฉบับหลวง) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑, หน้า ๒๓๗ - ๒๔๒.)

๑๙.พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). คำวัด, หน้า ๗๘๓.

๒๐.พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). คำวัด, หน้า ๓๑.

๒๑.พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ (ฉบับหลวง) พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑, หน้า ๒๒๘ - ๒๒๙.

๒๒.เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑๙.

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

นวรัตน์ เลขะกุล. หอยเบี้ยที่เป็นเงินตรา. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. ๒๕๕๘.

บุญหนา สอนใจ. สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา: การตรวจชำระและการศึกษาเชิงวิเคราะห์. วิทยานิพนธ์

อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๒๓.

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). คำวัด. กรุงเทพฯ: ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม. 2551.

พระมหานิยม อุตฺตโม (ป.ธ. ๗). คู่มือเรียนบาลีเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียงเพียรเพื่อพุทธศาสน์. ๒๕๕๗.

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. วินัยมุข เล่ม ๑: หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๕๙.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). กาลานุกรม. กรุงเทพฯ: ผลิธัมม์, ๒๕๕๙.

____________. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: ผลิธัมม์, ๒๕๕๙.

สรัสวดี อ๋องสกุล (ศ.เกียรติคุณ). ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. ๒๕๕๑.

อุดม รุ่งเรืองศรี (ศ.ดร.). วรรณกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. ๒๕๔๖.

D.G.E. Hall. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ๒๕๕๗.

 

เอกสารออนไลน์

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ (ฉบับหลวง) พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑. ทุติยปาราชิกสิกขาบท เรื่อง

พระธนิยะ กุมภการบุตร (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=01&A=6087&Z=6234. (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ (ฉบับหลวง) พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑. อรรถกถา คังคมาลชาดก กามทั้งหลายเกิดจากความดำริ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?=271155. (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

____________. อรรถกถา มัจฉทานชาดก ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270463. (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

Tipitaka (DTP). ศึกษาหลักฐานพุทธศิลป์...ย้อนแดนดินถิ่นอารยธรรม ในวารสารอยู่ในบุญ ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://dhammamedia.blogspot.com/2017/06/blog- post_11.html. (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 246
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 354
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..
บทบาทเงินรูปีในอาณาจักรล้านนา
31/8/2561 / 106
การติดต่อค้าขายระหว่างชาวอังกฤษที่เข้ามาปกครองในพม่าและล้านนา ถือเป..