บทบาทเงินรูปีในอาณาจักรล้านนา
บทบาทเงินรูปีในอาณาจักรล้านนา
31/8/2561 / 120 / สร้างโดย Web Admin

นางจริญญา บุญอมรวิทย์*
 

การติดต่อค้าขายระหว่างชาวอังกฤษที่เข้ามาปกครองในพม่าและล้านนา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเงินรูปีอินเดียเข้ามาใช้ซื้อขายสินค้า โดยเฉพาะการค้าไม้สัก จนทำให้เงินรูปีอินเดียได้กลายเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้หมุนเวียนและผูกพันกับระบบเศรษฐกิจของล้านนาเป็นเวลานาน เนื่องจากเงินตราของอาณาจักรล้านนาไม่มีความคล่องตัวในการซื้อขายสินค้าที่มีราคาสูง


ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนา คือ ดินแดนใน ๘ จังหวัด ภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน สถาปนาเป็นอาณาจักรล้านนาโดยราชวงศ์มังราย ซึ่งมีพญามังรายเป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา ได้รวบรวมแคว้นหริภุญชัยกับแคว้นโยนก และรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรล้านนา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ และได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทั้งทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งพญามังรายได้มีนโยบายทางด้านการเมืองโดยทรงส่งพระญาติไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้นหรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ ทำให้มีการขยายอาณาเขตของอาณาจักรล้านนากว้างขวาง โดยเฉพาะช่วงสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ ๙ ของราชวงศ์มังรายได้แพร่อิทธิพลของอาณาจักรล้านนา มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกตั้งแต่เมืองนันทบุรี (น่าน) แพร่ จรดถึงหลวงพระบาง ส่วนด้านทิศตะวันตกได้ขยายไปจนถึงรัฐฉาน (ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า) เช่น เมืองไลคา สีป้อ ยองห้วย และด้านทิศเหนือ ได้แก่ เมืองเชียงรุ้ง และเมืองยอง๑ ส่วนทางเศรษฐกิจ อาณาจักรล้านนาเปิดการค้ากับดินแดนรอบทิศ ทำให้มีพ่อค้าจากต่างแดนเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาค้าขาย เช่น พ่อค้าจีนฮ่อจากยูนนาน พ่อค้าไทยใหญ่หรือเงี้ยวจากรัฐฉาน พ่อค้าพม่า และพ่อค้าลาวจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์ โดยมีพ่อค้าจีนฮ่อและไทยใหญ่มีบทบาทในการค้าข้ามพรมแดนมากที่สุด ในยุคสมัยหนึ่งล้านนาเคยตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗ ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ราชวงศ์ตองอู ของพม่า จนกระทั้งในสมัยพระยากาวิละ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี ทำให้อาณาจักรล้านนาเป็นอิสระจากพม่า ซึ่งต่อมาได้เริ่มฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา๒


ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับพม่าภายใต้การปกครองอังกฤษ

หลังจากอังกฤษทำสงครามครั้งแรกกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๖๙ อังกฤษได้ดินแดนหัวเมืองมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนของล้านนา เมื่อสงครามระหว่างอังกฤษและพม่าสงบลง ในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ เจ้าบุญมา เจ้าเมืองลำพูน ได้ส่งหนังสือเชิญข้าหลวงอังกฤษที่อยู่เมืองมะละแหม่งให้เดินทางมาเมืองลำพูน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๒ ดร.ริชาร์ดสัน (Dr.Richardson) พร้อมพ่อค้าพม่าเดินทางมาซื้อช้าง โค กระบือ จากราษฎรในเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง และเดินทางเข้ามาในล้านนาเพื่อค้าขายหลายครั้ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชาวอังกฤษที่ปกครองพม่าเดินทางเข้ามาค้าขายกับล้านนา


การค้าขายไม้สักระหว่างล้านนากับพม่าภายใต้การปกครองอังกฤษ

ในการทำสงครามครั้งแรกของอังกฤษได้ยึดหัวเมืองมอญของพม่า เนื่องจากมีการปลูกไม้สักเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวอังกฤษตั้งโรงเลื่อยที่เมืองมะละแหม่ง เพื่อเลื่อยเป็นไม้กระดานส่งขายต่างประเทศ ต่อมาเมื่อการทำกิจการป่าไม้ขยายตัวมากขึ้น มีชาวอังกฤษและคนพม่าในบังคับอังกฤษเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายภายในล้านนาอีกเรื่อยๆ รวมทั้งการขอสัมปทานตัดไม้ตามชายแดนของพม่ากับล้านนา ในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ ชาวมอญในพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษได้รับอนุญาตทำสัมปทานไม้ในเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ดังเอกสารในรัชกาลที่ ๓ ว่า "เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ สมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ได้รับหนังสือจากเจ้าพระยาจักรี แจ้งว่า พวกมอญ พม่า อังกฤษเคยซื้อไม้ตามเขตชายแดนภาคเหนือ โดยขอเข้าไปตัดไม้ในป่าเขาใหญ่แม่น้ำสองยาง แม่น้ำยวม แขวงเมืองตาก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน ส่งหนังสือไปฟ้องว่าได้เสียเงินให้แก่พวกหัวเมืองดังกล่าวแล้ว แต่พวกหัวเมืองให้ตัดไม้บ้างและไม่ให้ตัดบ้าง จึงมีตราให้เมืองทั้งหมดจัดซื้อขายไม้ขอนสักอย่าให้เกิดขัดแย้งได้”๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๙ มีการทำสัญญาตกลงกันระหว่างเมืองเชียงใหม่กับข้าหลวงอังกฤษในตะนาวศรี เรื่องการกำหนดค่าตอไม้เพื่อเป็นค่าตอบแทนอย่างเป็นหลักฐาน


การชักลากไม้สัก

การชักลากไม้สัก

ภายหลังสมัยของพระเจ้ามโหตรประเทศแล้ว การค้าไม้ในล้านนาได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับปัญหาและข้อพิพาทต่างๆ เกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๐๑ อังกฤษได้เข้ายึดครองอินเดียได้ทั้งประเทศ ทำให้ผู้ปกครองชาวอังกฤษในอินเดียได้ให้โรงกษาปณ์ที่เมืองกัลกัตตาทำเงินเหรียญรูปีอินเดียและนำมาใช้ในพม่าด้วย ดังนั้นปริมาณของเหรียญเงินรูปีอินเดียที่นำเข้ามาใช้ในล้านนาจึงมีจำนวนมาก เนื่องจากมีขนาด น้ำหนัก และรูปร่างเป็นมาตรฐาน ซึ่งชาวอังกฤษได้นำเงินรูปีอินเดียมาใช้ค้าขายในล้านนา เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีเงินตราพอเพียงและความสะดวกในการค้าขาย และพ่อค้าพม่านำมาใช้ซื้อขายสินค้าในหัวเมืองล้านนาติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ชาวล้านนาเรียกเงินรูปีอินเดีย ว่า "เงินแถบ”๔ โดยมีหลักฐานการใช้เงินรูปีในการซื้อขายไม้สักระหว่างล้านนากับพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษ ดังนี้

"ประกาศของข้าหลวงอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ ว่า เมืองมะละแหม่งเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้าไม้สัก ซึ่ง ๙๕ % ของไม้สักทั้งหมดเป็นไม้สักจากเขตแดนเมืองเชียงใหม่ ได้แบ่งการเก็บค่าตอไม้ในสมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ โดยแบ่งการเก็บค่าตอไม้ออกเป็น ๓ ประเภท โดยดูจากขนาดไม้ คือ ถ้าไม้ขนาด ๘ - ๑๐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเงินรูปีอินเดียใช้ซื้อขายไม้สักเสียส่วนใหญ่ในล้านนา กำ เสีย ๑ รูปี ไม้ขนาด ๑๑ - ๑๓ กำ เสีย ๒ รูปี และไม้ขนาด ๑๔ - ๑๖ กำ เสีย ๓ รูปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว จึงกำหนดค่าตอไม้เป็นต้นละ ๑๒ รูปี”๕

 


หลังจากนั้น มีการปรับปรุงเปลี่ยนสัญญาอนุญาตให้ทำป่าไม้ กำหนดค่าต่อไม้ชั้นที่ ๑ เรียกเก็บต้นละ ๔ ๑/๒ รูปีอินเดีย ในปลาย พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เพิ่มอัตราค่าตอสูงขึ้นอีก เนื่องจากป่าในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เก็บอัตราค่าตอไม้ขนาดใหญ่ (พิกัด ๓ บาท) และไม้ขนาดใหญ่ขึ้นไปเก็บท่อนละ ๑๐ รูปีอินเดีย ไม้เล็กท่อนละ ๖ รูปีอินเดีย ส่วนป่าในลุ่มแม่น้ำสาละวิน ไม้ขนาดใหญ่เก็บท่อนละ ๑๒ - ๑๖ รูปีอินเดีย ไม้เล็กเก็บท่อนละ ๖ - ๘ รูปีอินเดีย สำหรับการเก็บเงินค่าตอไม้ที่ตัดในลุ่มแม่น้ำสาละวิน แต่ละปีจะเก็บได้ ๒๐๐,๐๐๐ รูปีอินเดีย๖ โดยรัฐบาลอังกฤษที่พม่ากับเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับเงินค่าตอไม้ฝ่ายละครึ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลสยามเข้าไปควบคุมการค้าไม้ในเวลาต่อมา การเก็บค่าตอไม้ของล้านนาเกิดขึ้นเมื่อมีการให้สัมปทานป่าไม้แก่คนในบังคับอังกฤษ และเมื่อมีการเริ่มต้นเก็บค่าตอไม้ในล้านนา จึงเรียกเก็บเป็นสกุลเงินรูปีอินเดีย ในครั้งนั้นชาวมอญพม่าซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษนำเงินรูปีอินเดียมาชำระให้กับเจ้าเมือง เนื่องจากเงินรูปีอินเดียมีใช้กันอย่างแพร่หลายในพม่าแล้วและเมื่อเริ่มต้นเก็บค่าตอไม้เป็นรูปีอินเดียมาตั้งแต่แรกก็ได้เก็บเช่นนี้มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการตั้งกรมป่าไม้ของรัฐบาลสยามโดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่เพื่อเข้าไปดูแลกิจการค้าไม้แล้วก็ตาม การใช้เงินรูปีอินเดียในล้านนาจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการดำเนินการค้าไม้ หรือกล่าวได้ว่าเมื่อการค้าไม้รุ่งเรืองเฟื่องฟู เงินรูปีอินเดียก็ยิ่งแพร่สะพัดในล้านนาเช่นกัน


รูปแบบเงินรูปีที่นำมาใช้ในล้านนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายไว้ว่า "รูปี” เป็นชื่อเงินตราของสาธารณรัฐอินเดีย และ "รูปิยะ” เป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธ ดังนั้น ภาษาไทยปัจจุบันเรียก "รูปี” ขณะที่ในเอกสารภาษาไทยหลายฉบับจะปรากฏทั้งคำว่า "รูปี” และ "รูเปีย” ซึ่งออกเสียงให้คล้ายกับภาษาฮินดี (คำว่า "รูปฺยา”) โดยมักปรากฏตามเอกสารเก่าที่ใช้เรียกกันในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ส่วนภาษาทางล้านนา อดีตเรียกว่า "เงินแถบ” แต่ก็เรียกว่า "รูเปีย” เช่นกัน ส่วนปัจจุบันพบว่าเรียกทั้งสองคำ๗


 
เงินรูปีที่เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายในอาณาจักรล้านนามีจำนวน ๒ รูปแบบ ดังนี้

เรียนเงืน ราคา ๑ รูปี


เหรียญเงิน ราคา ๑ รูปี กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียสวมมงกุฎ


๑. เหรียญเงิน ราคา ๑ รูปี ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีพระบรมรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียสวมมงกุฎ มีข้อความด้านซ้าย "VICTORIA” และข้อความด้านขวา "QUEEN” ส่วนด้านหลัง มีรูปดอกลิลลี่ก้านขด รอบข้อความตรงกลางตรงกลางเหรียญ "ONE RUPEE INDIA 1862” ซึ่งชาวล้านนาเรียกเหรียญดังกล่าวว่า "เงินกระจุ๋ม”


เหรียญเงิน ราคา ๑ รูปี


เหรียญเงิน ราคา ๑ รูปี กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗


๒. เหรียญเงิน ราคา ๑ รูปี ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญมีรูปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ขอบเหรียญด้านซ้ายมีข้อความว่า "EDWARD VII” และขอบเหรียญด้านขวา มีข้อความว่า "KING & EMPEROR”ด้านหลังของเหรียญ กลางเหรียญ ด้านบนเป็นรูปมงกุฎ และมีข้อความว่า "ONE RUPEE INDIA” ด้านล่าง มีข้อความภาษาอินเดีย และปี ค.ศ. ๑๙๐๗ และมีรูปกอบัวด้านซ้ายและขวาของเหรียญ

เหรียญรูปีที่มีรูปหน้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ มีเนื้อเงินบริสุทธิ์กว่าเหรียญรูปีที่มีรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียสวมมงกุฎ ซึ่งชาวล้านนาเรียกเงินรูปีดังกล่าวว่า "เงินหัวหมด” เนื่องจากรูปของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เป็นพระรูปที่มีพระชนม์มาก และมีเกศาบาง

การเปลี่ยนแปลงการใช้เงินรูปีอินเดียเป็นเงินบาทของสยาม
การที่เงินรูปีอินเดียมีการใช้อย่างแพร่หลายภายในล้านนา โดยเฉพาะการทำการค้าไม้สักทำให้รัฐบาลสยามเกิดความหนักใจและพยายามจะลดความสำคัญของเงินรูปีอินเดียลง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ รัฐบาลสยามเริ่มนำเงินบาทเข้ามาใช้ในระบบเศรษฐกิจภายในล้านนา ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก ๒ ปัญหา คือ ปริมาณเงินตราของสยามมีไม่เพียงพอ และตัวเงินตราของสยามมีน้ำหนักมากไม่สะดวกต่อการขนส่ง จนกระทั่งการค้าขายในเส้นทางระหว่างเมืองเชียงใหม่กับสยามเริ่มคึกคักขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ มีการขยายเส้นทางรถไฟจากสยามมาถึงเมืองลำปาง และขยายมาจนถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทำให้การคมนาคมขนส่งเริ่มเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบกแทน ขณะเดียวกันเส้นทางส่งไม้สักออกจากเส้นทางแม่น้ำสาละวินสู่พม่าก็เปลี่ยนเป็นเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสู่สยาม ทำให้การค้าขายในเส้นทางล้านนากับเมืองมะละแหม่งถูกลดบทบาทลง และเส้นทางการค้าจากเชียงใหม่สู่สยามได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สินค้าจากสยามซึ่งนำเข้ามาจากเยอรมนีและญี่ปุ่นเข้าไปแทนที่สินค้าจากอังกฤษเนื่องจากมี ราคาต่ำกว่า และส่งผลทำให้ค่าเงินของเงินรูปีอินเดียลดต่ำลง เหลือเพียง ๑ รูปีอินเดีย แลกได้ ๐.๖๒๕ บาท เงินบาทสามารถแทรกเข้าไปใช้หมุนเวียนในล้านนาได้มากขึ้นและกลายเป็นที่นิยมใช้ และผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในสยาม ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ส่งผลให้รัฐบาลสยามยกเลิกมณฑลพายัพ และเมืองต่างๆ และในล้านนาได้รับการจัดระบบใหม่เป็นหน่วยการปกครองระดับจังหวัดและอำเภอในช่วงระยะเวลาต่อเนื่องกันนั้น สงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๔- ๒๔๘๘ ทำให้สถานการณ์ส่งผลกระทบต่อชาวต่างประเทศที่อาศัยและค้าขายในล้านนาโดยเฉพาะชาวตะวันตก เป็นเหตุให้ทั้งบริษัทบริติชบอร์เนียวและบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าจำต้องทิ้งกิจการค้าไม้ ซึ่งกล่าวได้ว่าในภาวะสงครามโลกส่งผลชัดเจนให้เงินรูปีอินเดีย ในล้านนาหมดบทบาทลง เงินรูปีอินเดียออกไปจากการระบบเศรษฐกิจในล้านนาพร้อมกับการทิ้งกิจการของบริษัทค้าไม้ชาวตะวันตก ซึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอินเดียเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเพียงสองปี โดยพรรคคองเกรสอินเดีย (Indian NationalCongress) และชาวอินเดียประสบความสำเร็จ ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ทำให้การปกครองอินเดียภายใต้ระบบบริติช ราช (British Raj) โดยสมเด็จพระจักรพรรดิของอังกฤษถูกยกเลิกไป และการผลิตเหรียญเงินรูปีอินเดียโดยอังกฤษก็ยุติลงเช่นกัน๙



*ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์เหรียญ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์


๑.เว็บไซต์ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้.ประวัติศาสตร์ล้านนา - ล้านนาสมัยรัฐอาณาจักร

(ราชวงศ์มังราย พ.ศ. ๑๘๐๔ – ๒๑๐๑). [online]. วันที่สืบค้น ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘. http://www.openbase.in.th/node/๖๔๐๕.

๒.อภิรัฐ คำวัง. ๒๕๕๖.เงินรูปีอินเดียในประวัติศาสตร์ล้านนา.วารสารสังคมศาสตร์.ปีที่ ๙.(ม.ค. - มิ.ย.),หน้า ๒๐.

๓.คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่.๒๕๓๙.เจ้าหลวงเชียงใหม่.กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์

พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , หน้า ๑๑๗.

๔.นวรัตน์ เลขะกุล.๒๕๕๕.เงินตราล้านนา.เชียงใหม่ : บริษัท นพบุรีการพิมพ์ จำกัด,หน้า ๑๙๕.

๕.สุรัสวดี อ๋องสกุล.๒๕๕๗.ประวัติศาสตร์ล้านนา.พิมพ์ครั้งที่ ๑๐.กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง

แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , หน้า ๓๙๑.

๖.อภิรัฐ คำวัง.๒๕๕๖.เงินรูปีอินเดียในประวัติศาสตร์ล้านนา.วารสารสังคมศาสตร์.ปีที่ ๙.(ม.ค. - มิ.ย.), หน้า ๑๔.

๗.เรื่องเดียวกัน,หน้า ๑๔.

๘.สุรัสวดี อ๋องสกุล.๒๕๕๗.ประวัติศาสตร์ล้านนา.พิมพ์ครั้งที่ ๑๐.กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง

แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , หน้า ๕๓๐ - ๕๓๙.

๙.อภิรัฐ คำวัง.๒๕๕๖.เงินรูปีอินเดียในประวัติศาสตร์ล้านนา.วารสารสังคมศาสตร์.ปีที่ ๙.(ม.ค. - มิ.ย.)
,หน้า ๓๘ – ๓๙.

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 560
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 289
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 404
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..