เหรียญกษาปณ์รุ่นผลิตด้วยมือของสยาม
เหรียญกษาปณ์รุ่นผลิตด้วยมือของสยาม
30/8/2561 / 78 / สร้างโดย Web Admin

นางสาวสุภาวดี จันทร์ทิพย์๑

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยามผู้เปิดประตูสู่อารยประเทศ ชาวต่างประเทศรู้จักพระองค์ในนาม "King Mongkut” รัชสมัยของพระองค์ เป็นสมัยของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อความทันสมัย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เห็นว่าสยามเป็นประเทศที่มีอารยธรรมและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่า สยามต้องยกเลิกการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างที่เคยทำมา ต้องทำการค้ากับต่างประเทศและรับวิทยาการแบบตะวันตก ปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอกประเทศ รวมทั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีล้าสมัย ทรงใช้พระบรมราโชบายเป็นสายกลางผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก ดังพระราชดำริว่า "อย่าติดของเก่า อย่าตื่นของใหม่ จงค้นหาดีในของเก่าของใหม่”๒ทรงเปิดประเทศรับอารยธรรมของชาติตะวันตก ทรงริเริ่มปรับปรุงพัฒนาประเทศหลายด้าน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนยุบเลิกสร้างใหม่ในด้านขนบประเพณีของสังคมไทย โดยนำแบบอย่างจากตะวันตกมาปรับใช้หลายประการ อันเป็นผลให้ประเทศไทยเกิดการปรับตัวและพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัยในทุกๆ ด้าน เพื่อดำรง "อธิปไตย” ของชาติรวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนการปรับปรุงระบบการผลิตเงินตรา

ในช่วงต้นรัชกาล เงินตราหลักที่ใช้ในการค้าขายของประเทศยังคงเป็นเงินพดด้วง โดยใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตพดด้วงชนิดราคาบาท กึ่งบาท สลึง และเฟื้องทำด้วยเงินประทับตรา และเปลี่ยนตราประจำรัชกาลเป็นตรามงกุฎมีความสืบเนื่องถึงพระนามเดิมของพระองค์ คือ "เจ้าฟ้ามงกุฎ” ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๘ ทรงทำสัญญาทางการค้ากับประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นก็มีประเทศต่างๆ เข้ามาตีตราทำสัญญาค้าขาย ทำให้นายห้างฝรั่งพากันเข้ามาเปิดร้านค้าขายกันมากมายกว่าเดิมหลายเท่า การทำสนธิสัญญาทางการค้าส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องเงินตราในการซื้อขายกัน ชาวสยามใช้เงินพดด้วง ชาวต่างประเทศใช้เงินเหรียญแบน (เหรียญแป) บรรดาพ่อค้าชาวต่างประเทศร้องเรียนเรื่อง ไม่สะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินนอกกับเงินพดด้วงเป็นการเชื่องช้า เนื่องจากโรงทำเงินพดด้วงมีเตาทำเงินเพียง ๑๐ เตา เตาหนึ่งทำได้เพียงวันละ ๒๔๐ บาท ใน ๑ วัน สามารถผลิตพดด้วงได้ ๒,๔๐๐ บาท เพราะเป็นงานทำด้วยมือและนายช่างหลวงมีจำนวนน้อย แม้จะระดมกันทำตลอดเวลาก็ยังไม่ทันต่อความต้องการส่งผลให้ เกิดการขาดแคลนพดด้วงในระบบการค้า มิสเตอร์ชาร์ล เบลล์ ผู้ว่าการแทนกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนรับเงินเหรียญต่างชาติในการแลกเปลี่ยนค้าขาย

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอกขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ โดยมีหลักเกณฑ์การใช้เงินเหรียญขึ้น ปรากฏในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ มีเนื้อหาดังนี้ "...ซึ่งลูกค้าพาณิชแลราษฎร

ทั้งปวงจะซื้อขายใช้เงินเหรียญกันข้างนอกก็ตามใจ แต่ให้คิดสามเหรียญเป็นเงินตราตำลึงบาท ชั่งหนึ่งเป็นเงินเหรียญสี่สิบแปดเหรียญ เงินตราสิบชั่งเป็นเงินสี่ร้อยแปดสิบเหรียญ เห็นว่าไม่สู้เสียรัดเสียเปรียบกันทั้งเจ้าของเงินเหรียญเจ้าของเงินบาท ถ้าเงินเบาตาชั่งแลเงินย่อยจะนับเป็นเหรียญไม่ได้ ก็ชั่งตามพิกัดคลังเงินชั่งหนึ่งหักค่าสูญเพลิงค่าถ่านแล้ว คงใช้เงินตราสิบแปดตำลึงสามบาทสามสลึง...”๓ แต่ราษฎรยังคงไม่ยอมรับเงินเหรียญต่างประเทศอยู่เช่นเดิม ในที่สุดทรงออกประกาศให้ปรับไหมผู้ที่ไม่ยอมรับเงินสกุลต่างชาติ ราษฎรจึงยินยอมรับเงินเหรียญไว้ใช้ เป็นอันยุติกรณีพิพาทระหว่างกันทำให้การซื้อขายใช้จ่ายเงินคล่องตัวขึ้น ได้เงินตราเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องเงินพดด้วงขาดแคลนได้อีกทางแต่ปัญหาเงินพดด้วงปลอมซึ่งระบาดมาตั้งแต่ต้นรัชกาลยังคงมีอยู่ถึงแม้จะทรงกวดขันให้จับกุมปราบปรามแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยเด็ดขาด ทรงแก้ปัญหาการปลอมเงินพดด้วงด้วยการรับสั่งให้ผลิตเหรียญแบบง่ายๆ ขึ้นก่อน ระหว่างรอเครื่องจักรทำเหรียญกษาปณ์จากอังกฤษ ในปีพ.ศ.๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้โรงทำเงินหลวงทดลอง ทำเหรียญตามศักยภาพที่มีอยู่ขึ้น ๒ ชนิด คือ เหรียญทองคำและเหรียญเงินตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ – พระเต้า และเหรียญทองคำ เงิน ตราพระมหามงกุฎ – กรุงเทพ เพื่อจะได้ใช้แทนเงินพดด้วงของเดิม ทรงพยายามปรับปรุงให้ราชอาณาจักรไทยมีเงินเหรียญที่มีลักษณะเป็นสากลนิยมเหมือนนานาประเทศ


เหรียญทองคำ เงิน ตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ –พระเต้า


เหรียญทองคำและเหรียญเงินตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ – พระเต้า ผลิตด้วยมือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทดลองและออกใช้ในระยะ ก่อนได้รับเครื่องทำเงินจากประเทศอังกฤษ เป็นเหรียญแบนรุ่นแรกของไทยที่ออกใช้หมุนเวียนในระยะหนึ่ง ผลิตออกใช้ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๙ โดยให้ทดลองขึ้นรูปเหรียญเป็นทรงกลมแบนอย่างง่าย เริ่มด้วยการหลอมโลหะจากนั้นรีดออกมาเป็นแผ่นให้มีความหนาตามต้องการแล้วทำการเจาะออกมาให้ได้ชิ้นโลหะแต่ละขนาด ขั้นตอนสุดท้ายจึงนำแม่ตราเงินพดด้วงตีประทับลงบนหน้าเหรียญเพียงด้านเดียว ตอกตรามงกุฎ ๑ ตรา, พระเต้า ๒ ตรา, ตราจักร ๑ ตรา ลงบนเหรียญ การผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยวิธีดังกล่าวเป็นการทำเงินตราของชาวตะวันออก มีลักษณะร่วมแบบเดียวกับการผลิตเงินพดด้วงและเงินอินเดียโบราณที่ทำสืบติดกันมาหลายร้อยปี กล่าวคือการนำโลหะมาขึ้นรูปให้ได้ลักษณะตามต้องการ จากนั้นจึงทำการประทับตราลงไป๔

เหรียญทองคำ ตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ –พระเต้า เป็นเหรียญกลมแบน ด้านหน้าเหรียญด้านบนประทับตราพระแสงจักร ด้านซ้ายและขวาประทับตราพระเต้า และด้านล่างประทับตราพระมหามงกุฎ ด้านหลังเรียบ ขอบเรียบมีเกลียวเชือกรอบ พบเพียงขนาดเดียวคือ ชนิดราคากึ่งเฟื้อง น้ำหนัก ๑.๐ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒.๕ ม.ม.


เหรียญทองคำ

ภาพด้านหน้า - ด้านหลัง เหรียญทองคำ พระมหามงกุฏ - พระแสงจักร - พระเต้า ที่มา: ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง, ๒๕๕๙. หน้า ๑๗


เหรียญเงิน ตราพระแสงจักร - พระมหามงกุฎ – พระเต้า เป็นเหรียญกลมแบน ด้านหน้าเหรียญประทับ ตราพระแสงจักร ๑ ตรา ตราพระเต้า ๒ ตรา และตราพระมหามงกุฎ ๑ ตรา ด้านหลังเรียบ ขอบเรียบ มีสองชนิดราคาคือหนึ่งสลึง และหนึ่งเฟื้อง ชนิดราคาหนึ่งสลึง น้ำหนัก ๓.๗ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๖ มิลลิเมตร เลิกใช้เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ชนิดราคา หนึ่งเฟื้อง น้ำหนัก ๑.๘๕ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒.๕ มิลลิเมตร เลิกใช้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๒๕


เหรียญเงิน

ภาพด้านหน้า - ด้านหลัง เหรียญเงิน ตราพระแสงจักร - พระมหามงกุฎ- พระเต้า ที่มา: กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๗๒๕ - ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ: ศรีบุญพับลิเคชั่น, ๒๕๒๕. หน้า ๑๒๗


เหรียญทองคำ เงิน ตราพระแสงจักร -พระมหามงกุฎ – พระเต้า เป็นการผลิตขึ้นเพื่อทดลองใช้ ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในท้องพระคลังหลวง บางส่วนพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ด้วยเหตุนี้เหรียญทองคำ และเงินพระมหามงกุฎ – พระแสงจักร – พระเต้า จึงถือเป็นเงินเหรียญแบนรุ่นแรกที่ทดลองผลิตขึ้นโดยช่างชาวไทยก่อนที่จะมีเครื่องจักรผลิตเหรียญเข้ามานับเป็นเหรียญกษาปณ์ยุคแรกที่หาชมยากและมีความสำคัญมากที่สุดเหรียญหนึ่งของเมืองไทยนอกจากตราประทับแล้วสิ่งสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาเหรียญกษาปณ์รุ่นนี้ก็คือธรรมชาติของพื้นผิวที่เต็มไปด้วยรอยยุบตัวของโลหะและรอยตะไบ สันนิษฐานว่าการเตรียมเหรียญตัวเปล่าด้วยการรีดโลหะอย่างหยาบๆ ทำให้เหรียญที่ไม่เรียบเท่าที่ควร ช่างโรงทำเงินหลวงจึงใช้วิธีตะไปเพื่อปรับพื้นผิว ตลอดจนลบเนื้อส่วนเกินออก ซึ่งปรากฏในทุกๆ เหรียญ สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาความแท้ของเหรียญได้๖

ภาพตราประทับด้านหน้าเหรียญ


ตราประทับด้านหน้าเหรียญ

 


เหรียญทองคำ เงิน ตราพระมหามงกุฎ – กรุงเทพ


ในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้โรงทำเงินหลวงทดลองทำเหรียญขึ้นอีกประเภทหนึ่ง โดยจำลองวิธีการทำของชาวกรีกโบราณ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในหมู่ชาติตะวันตก เรียกว่า Hand – Hammering method อาศัยเทคนิคการแกะแม่ตราขึ้นมาใหม่ ๑ คู่ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ในอัตราส่วนเท่าเหรียญจริง แล้วนำแม่ตราที่ได้ไปชุบแข็ง จากนั้นนำแม่ตราตัวหนึ่งฝังในแท่นยึด (Anvil Die) วางซ้อนด้วยแม่ตราตีประกบ (Hammer Die) ด้านบน เมื่อจะตีเหรียญ เจ้าพนักงานก็จะวางเหรียญตัวเปล่าที่เตรียมไว้ระหว่างแม่ตราทั้งสองแล้วจึงออกแรงตีแม่ตราตัวบนด้วยค้อนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการถ่ายลายลงบนพื้นเหรียญแทนการทั้งสองด้านพร้อมกัน ได้เป็นเหรียญกษาปณ์ที่เสร็จสมบูรณ์ ถือเป็นเหรียญแรกของสยามที่ใช้การพิมพ์ลายลงบนพื้นเหรียญแทนการตีตราตอกประทับอย่างที่เคยทำมาในอดีต และเนื่องจากลวดลายบนเหรียญด้านหน้าเป็น "ตราพระมหามงกุฎ” ด้านหลังมีอักษรไทยระบุคำว่า "กรุงเทพ” ผลิตขึ้นทั้งชนิดทองคำและเงิน ลวดลายบนเหรียญทองคำและเงิน พระมหามงกุฎ – กรุงเทพ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าช่างทำเงินหลวงได้แกะแม่ตราด้านหน้าด้านหลังเป็นการเฉพาะแยกตามเนื้อโลหะทองคำและเงิน เหรียญพระมหามงกุฎ – กรุงเทพ ผลิตขึ้นด้วยการตีด้วยค้อน แรงและน้ำหนักในการตีแต่ละครั้งจึงไม่เท่ากัน บางครั้งก็วางเหรียญไม่ได้ศูนย์กลาง การออกแรงตีซ้ำ ตีเขยื้อนก็มีผลต่อรูปแบบเหรียญที่ได้ ด้วยเหตุนี้เหรียญที่ผลิตขึ้นจากเทคนิคดังกล่าวจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปเป็นเอกลักษณ์แต่ละเหรียญ ไม่เหมือนกัน๗


Hand-Hammering method

Hand - Hammering method ที่มา : เหรียญบรรณาการ จากลอนดอนสู่สยาม[online].วันที่สืบค้น ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐, http://www.topicstock.pantip.com


เหรียญทองคำ ตราพระมหามงกุฎ – กรุงเทพ เป็นเหรียญกลมแบน ด้านหน้าเหรียญประทับตราพระมหามงกุฎ ขนาบด้วยลายช่อดอกไม้ ด้านหลังมีข้อความว่า "กรุงเทพ” ขอบเรียบ มีสองขนาดราคา คือ หนึ่งสลึง และหนึ่งเฟื้อง ชนิดราคาหนึ่งสลึง น้ำหนัก ๓.๘ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ มิลลิเมตร ชนิดราคาหนึ่งเฟื้อง น้ำหนัก ๑.๘ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕ มิลลิเมตร๘


เหรียญทองคำ

ภาพด้านหน้า - ด้านหลัง เหรียญทองคำ ตราพระมหามงกุฎ - กรุงเทพ ที่มา : ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง, ๒๕๕๙. หน้า ๒๐


เหรียญเงิน ตราพระมหามงกุฎ – กรุงเทพ เป็นเหรียญกลมแบน ด้านหน้าเหรียญประทับตราพระมหามงกุฎ ขนาบด้วยลายช่อดอกไม้ ด้านหลังมีข้อความว่า "กรุงเทพ” ขอบเรียบ มีสองขนาดราคาคือหนึ่งสลึง และหนึ่งเฟื้อง ชนิดราคาหนึ่งสลึง น้ำหนัก ๓.๘ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ มิลลิเมตร ชนิดราคาหนึ่งเฟื้อง น้ำหนัก ๒ กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕ มิลลิเมตร๙


เหรียญตราพระมหามงกุฎ


เหรียญเงิน ตราพระมหามงกุฎ - กรุงเทพ ที่มา: ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง, ๒๕๕๙. หน้า ๒๐


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองผลิตเหรียญแบนสองชนิดนี้ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทำขึ้นใช้แทนเงินพดด้วงของเดิม แต่ทำได้จำนวนไม่มากและไม่ค่อยเรียบร้อยจึงยุติลง ประกอบกับได้รับเครื่องจักรทำเหรียญกษาปณ์จากสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียส่งเข้ามาถวายในปลายปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ซึ่งกว่าจะดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรและก่อสร้างอาคารโรงกษาปณ์ในบริเวณที่ผลิตเงินพดด้วงเดิมใช้เวลาอีก ๓ ปี เนื่องจากชาวต่างประเทศที่ร่วมเดินทางเข้ามาเพื่อทำการติดตั้งเครื่องจักรได้เสียชีวิตจากการเป็นไข้ตาย คือ นายแซมวล แซนเดอร์ อีกทั้งใน พ.ศ. ๒๔๐๒ วิศวกรที่เข้ามาติดตั้งเครื่องจักรก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุตกน้ำตายและเป็นโรคบิด คือ นายชาลส์ วิกลี่ และนายแบริงเจอร์ ทำให้การติดตั้งเครื่องจักรล่าช้าไป จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๐๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้นายโหมด อมาตยกุล ดำเนินการต่อจน เป็นผลสำเร็จ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตรโยธามาตย์ ทำหน้าที่กำกับการทำเงิน โดยโรงกษาปณ์หลังใหม่นี้ตั้งขึ้น ณ ที่โรงทำเงินพดด้วงเดิมทางด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติบริเวณมุมถนนนอกประตูสุวรรณบริบาลข้างตะวันออก เมื่อแล้วเสร็จพระราชทานนามว่า "โรงกระสาปณ์สิทธิการ” จึงเป็นการผลิตเหรียญด้วยเครื่องจักรนับแต่นั้นเป็นต้นมา


๑.ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์เหรียญ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์

๒.ภาสกร วงศ์ตาวัน.ประวัติศาสตร์ไทยจากคนไทยทั้งแผ่นดินถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง๒๔๗๕.กรุงเทพฯ.ยิปซีกรุีป, ๒๕๕๖. หน้า ๓๘๒

๓.พระยาอนุมาราชธน. จับโป๊ยล่อหั่น. มมท. ๒๕๑๓, หน้า ๒๖-๖๘ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, ๒๕๔๗. หน้า ๑๒๑

๔.สามารถ เวสุวรรณ์. เครื่องโต๊ะสยาม. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด.๒๕๕๖ หน้า ๒๑๖ - ๒๑๗ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๕๙.หน้า ๑๗ - ๑๙

๕.กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ: ศรีบุญพับลิเคชั่น, ๒๕๒๕. หน้า ๑๒๗

๖.ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,๒๕๕๙. หน้า ๑๗ – ๑๙

๗.ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์เมืองสยาม. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,๒๕๕๙. หน้า ๑๗ - ๑๙

๘.กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ:ศรีบุญพับลิเคชั่น, ๒๕๒๕. หน้า ๑๒๗

๙.กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ:ศรีบุญพับลิเคชั่น, ๒๕๒๕. หน้า ๑๒๗


 

เอกสารอ้างอิง


กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : ศรีบุญพับลิเคชั่น, ๒๕๒๕.

กรมธนารักษ์. วิวัฒนาการเงินตราไทย. กรุงเทพฯ : ดาวฤกษ์, ๒๕๔๕.

ไชยยศ พงศ์จารุสถิต. กษาปณ์ เมืองสยาม. ๒๕๕๙. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๙.

ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, ๒๕๔๗.

ภาสกร วงศ์ตาวัน. ประวัติศาสตร์ไทย จากคนไทยทิ้งแผ่นดิน ถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ยิปซีกรุ๊ป, ๒๕๕๖.

เหรียญบรรณาการ จากลอนดอนสู่สยาม.[online].วันที่สืบค้น ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐.http://www.topicstock.pantip.com.


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..