ความสำคัญของลวดลายศาสนสถานของไทยบนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชกาลที่ ๙
ความสำคัญของลวดลายศาสนสถานของไทยบนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชกาลที่ ๙
29/8/2561 / 89 / สร้างโดย Web Admin

จริญญา บุญอมรวิทย์*

กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เพื่อนำออกใช้ในระบบเศรษฐกิจ โดยกรมธนารักษ์ได้ออกแบบลวดลายของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในแต่ละชนิดราคา ซึ่งแสดงถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไว้บนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และที่สำคัญแสดงถึงความเป็นชาติไทย โดยจุดเด่นของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในแต่ละชนิดราคา ด้านหลังของเหรียญเป็นรูปศาสนสถานที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งในแต่ละศาสนสถานที่อยู่บนเหรียญมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคของไทย


 
ความเป็นมาของการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนออกใช้ในรัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้ประเทศไทยในขณะนั้นยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลก่อนสำหรับการใช้จ่ายหมุนเวียน ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๓ ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชกาลปัจจุบันออกใช้ในระบบเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก โดยเปลี่ยนหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๙ ปรับรูปลักษณะ ลวดลาย อัตราส่วนผสม และกรรมวิธีการผลิตของเหรียญ เพื่อให้มีขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสม สะดวกต่อการพกพา การใช้สอย ยากต่อการปลอมแปลง ตลอดจนสามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งมีการผลิตเหรียญชนิดราคา ๕ บาท ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ๒๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ และ ๕ สตางค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ บาทขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย ชนิดราคา ๑๐ บาท ๕ บาท ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ๒๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ ๕ สตางค์ และ ๑ สตางค์ รวมทั้งสิ้น ๘ ชนิดราคา [๑] ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์ออกใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ได้มีการปรับปรุงลักษณะของเหรียญกษาปณ์เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์มีความเหมาะสมขึ้นออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ดังนี้ เหรียญกษาปณ์โลหะสองสี (สีขาวและสีทอง) ชนิดราคา ๑๐ บาท , เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) เคลือบไส้ทองแดง ชนิดราคา ๕ บาท , เหรียญกษาปณ์โลหะสีทอง (ทองแดงผสมนิกเกิลและอะลูมิเนียม) ชนิดราคา ๒ บาท , เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ไส้เหล็กชุบนิกเกิล) ชนิดราคา ๑ บาท , เหรียญกษาปณ์โลหะสีแดง (ไส้เหล็กชุบทองแดง) ชนิดราคา ๕๐ สตางค์ , เหรียญกษาปณ์โลหะสีแดง (ไส้เหล็กชุบทองแดง) ชนิดราคา ๒๕ สตางค์ สำหรับใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่วนเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (อลูมิเนียม) ชนิดราคา ๑๐ สตางค์ ๕ สตางค์ และ ๑ สตางค์ ใช้สำหรับระบบทศนิยมทางบัญชี


ความสำคัญของลวดลายต่างๆ บนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชกาลที่ ๙

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชกาลปัจจุบัน มีลวดลายที่แสดงถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยด้านหน้าเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน บริเวณกลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ภายในวงขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า "ภูมิพลอดุลยเดช” ด้านขอบซ้ายของเหรียญมีข้อความว่า "รัชกาลที่ ๙” ในทุกชนิดราคา เป็นการแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ส่วนด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนเป็นรูปศาสนสถานต่างๆ ที่มีความสำคัญของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันศาสนา นอกจากนี้ภายในวงเหรียญด้านบน มีคำว่า "ประเทศไทย” เพื่อแสดงถึงสถาบันของชาติ


ลวดลายศาสนสถานของไทยของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชกาลที่ ๙

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคาได้นำภาพของศาสนสถานที่สำคัญในประเทศไทย มาเป็นลวดลายด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ซึ่งศาสนสถานแต่ละแห่งมีประวัติความเป็นมา สถานที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และเป็นที่รู้จักของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยลวดลายศาสนสถานด้านหลังเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนต่างๆ มีดังนี้


๑. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ บาท

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ บาท เป็นภาพพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ วัดอรุณราชวราราม ได้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดมะกอก” ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จพร้อมด้วยไพร่พลโดยทางชลมารค และถึงหน้าวัดแห่งนี้เมื่อยามใกล้รุ่ง จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับแรมที่ศาลาการเปรียญของวัด เมื่อพระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดแจ้ง” ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังใหม่ข้างวัดแจ้ง ทำให้วัดแจ้งกลายเป็นวัดในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครใหม่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา วัดแจ้งจึงกลายเป็นวัดนอกพระราชวังและให้มีพระสงฆ์จำพรรษาได้ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถ พระวิหารต่อจนสำเร็จ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณราชธาราม” และที่สำคัญทรงให้ก่อเสริมพระปรางค์เพื่อให้เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ประจำกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ทำได้เพียงขุดฐานรากไว้ พระองค์เสด็จสวรรคตก่อน ต่อมาช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระราชดำริขึ้นจนสำเร็จ เรียกกันว่า "พระปรางค์วัดอรุณ” มีความสูง ๖๖.๗๗๕๔ เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศและมณฑปทิศ องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐถือปูนประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม เช่น บุษบก ยอดพระปรางค์ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม” [๒] จะเห็นได้ว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมีความสวยงามและโดดเด่นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งการนำภาพพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามไว้ด้านหลังเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ บาท

 
๒. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ บาท

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ บาท เป็นภาพพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเป็นวัดประจำของรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสันนิษฐานว่าเป็นวัดสร้างมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อวัดแหลมหรือวัดไทรทอง (มีต้นไทรทองอยู่ภายในวัด) ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทน์ คิดจะตั้งตัวเป็นอิสระ ซึ่งแม่ทัพของไทยที่เป็นผู้รักษาพระนครในขณะนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งกองบัญชาการรบอยู่ที่วัดแห่งนี้ โดยกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ได้พ่ายแพ้ก่อนที่จะยกกองทัพมาถึงพระนคร ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ มีความศรัทธาและได้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร” และในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายพระนคร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานที่ประทับแห่งใหม่ คือ พระราชวังดุสิต (บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นต้น) โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของวัดร้าง ๒ แห่ง คือ วัดดุสิตและวัดปากคลอง ซึ่งตามประเพณีเดิมจะต้องสร้างวัดขึ้นทดแทน แต่พระองค์ทรงเลือกสถาปนาวัดเบญจมบพิตรแทนและมีพระราชดำริที่จะสถาปนาขึ้นเป็นวัดใหญ่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวัดเบญจมบพิตร โดยออกแบบให้พระอุโบสถของวัดประดับด้วยหินอ่อนจากอิตาลีทั้งหลัง เป็นอาคารทรงจตุรมุข มีมุขเด็จยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน ๕ ชั้น ภายในพระอุโบสถได้ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งพระองค์ทรงเติมสร้อยของพระนามวัดเป็น "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” [๓] ซึ่งการนำภาพพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามไว้ด้านหลังเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ บาท

๓. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒ บาท

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์ออกใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคา ๒ บาท เพิ่มขึ้นอีก ๑ ชนิดราคา ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒ บาท เป็นภาพของพระบรมบรรบต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า "วัดสะแก” ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรอบเมือง คลองหลอด และคลองมหานาค ซึ่งอยู่เหนือวัดสะแก และพระราชทานเปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า "วัดสระเกศ” และเริ่มก่อสร้างพระเจดีย์ของวัดสระเกศในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยพระราชทานนามว่า "พระเจดีย์ภูเขาทอง” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้างพระเจดีย์ภูเขาทอง แต่การก่อสร้างครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่มดินอ่อน ทำให้ทานน้ำหนักพระเจดีย์ไม่ไหวและทรุดพังลงมา จึงได้หยุดการก่อสร้างพระเจดีย์ภูเขาทอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองที่ค้างอยู่ และทรงวางศิลาฤกษ์พระเจดีย์ภูเขาทองเมื่อเดือน ๖ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ โดยพระราชทานนามใหม่ว่า "บรมบรรบต” ซึ่งได้ดำเนินก่อสร้างต่อเนื่องมาจนสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน ถมคลองหน้าวัด และทำสะพานข้ามคลอง เพื่อให้มีความสะดวกต่อการเข้าชมบรมบรรพต หรือ "ภูเขาทอง” เนื่องด้วยสร้างเป็นรูปภูเขา มีลักษณะเป็นเจดีย์อยู่บนยอด ฐานของบรมบรรพตวัดได้ ๓๓๐ เมตร ส่วนสูง ๗๙ เมตร มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้น ๒ ทาง [๔]

๔. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ บาท

๔. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ บาท

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ บาท

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ บาท เป็นภาพพระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งเป็สัญลักษณ์ ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและกรุงรัตนโกสินทร์ สืบตามราชประเพณีการสร้างพระอารามในพระราชฐานสมัยกรุงศรีอยุธยา และทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร โดยรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามพร้อมๆ กับการสร้างพระราชมณเฑียรและป้อมปราการในพระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ การสร้างสิ่งก่อสร้างในพระบรมมหาราชวังระยะแรกสร้างด้วยไม้ ยกเว้นการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เป็นแบบการก่ออิฐถือปูน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ วัดพระศรีรัตนศาสดารามประกอบด้วย พระอุโบสถ พระระเบียงรอบวัดหอมณเฑียรธรรม หอระฆัง ศาลาราย จำนวน ๑๒ หลัง นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ทอง เรียกว่า พระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา มีรอบฐานเจดีย์ ยาว ๕๕.๕๕ เมตร เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมาจากลังกา โดยจำลองจากเจดีย์ตามแบบพระมหาสถูปเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา [๕] วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

๕. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕๐ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕๐ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕๐ สตางค์

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕๐ สตางค์ เป็นภาพพระเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอยสุเทพ หรือ วัดดอย ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า ก่อนปี พ.ศ. ๑๙๒๙ พระเจ้ากือนามหาราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้สร้างพระเจดีย์ มีความสูง ๑๐ เมตร อยู่บนดอยสุเทพ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในสมัยพระเมืองเกษเกล้าเจ้านครเมืองเชียงใหม่ โดยในปี พ.ศ. ๒๐๖๘ ได้ก่อสร้างพระเจดีย์เพิ่มเติมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คือ มีฐานกว้าง ๑๒ เมตร สูง ๒๒ เมตร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๘๘ สมัยท้าวชายคำพระราชโอรสพระเมืองเกษเกล้า ได้สร้างวิหารด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมระเบียงรอบ พระเจดีย์ ๔ ด้าน และเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ยังไม่มีฐานะเป็นวัด เป็นเพียงปูชนียสถาน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีการสร้างพระอุโบสถขึ้น จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดในเวลาต่อมา และในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลได้สร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์บนยอดเขาตำบลสุเทพ ทำให้วัดพระธาตุดอยสุเทพได้รับการปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเพิ่มเติม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เป็นต้นมา [๖] ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองและเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่

๖. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒๕ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒๕ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒๕ สตางค์

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๒๕ สตางค์ เป็นรูปพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระบรมธาตุเจดีย์สร้างโดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในปี พ.ศ. ๑๐๙๘ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับการสร้างอาณาจักรศรีวิชัย โดยลักษณะของพระบรมธาตุเจดีย์เป็นรูปทรงระฆังค่ำ ปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว มีความสูงจากพื้นถึงยอดสูง ๑๕๔ เมตร ฐานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕ เมตร ยอดหุ้มด้วยทองคำหนัก ๘๐๐ ชั่ง มีปล้องไฉน ๕๒ ปล้อง [๗] เดิมวัดแห่งนี้ไม่มีภิกษุจำพรรษา เนื่องจากเป็นเขตพุทธาวาส ต่อมาในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำทองแดงหล่อปิดทองยอดพระบรมธาตุ และสร้างพระระเบียงโดยรอบทั้งหมด ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ องค์ และสร้างกำแพง ๔ ด้าน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๔๑ โดยพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปฎมาภิบาล (ปาน) และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้งในเวลาถัดมา ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงมีพระราชดำริเห็นสมควรให้พระสงฆ์มาดูแลวัดมหาธาตุ จึงรับสั่งให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมธร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ให้นิมนต์พระครูวินัยธร (นุ่น) มาปกครองวัด เพื่อให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา วัดมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครศรีธรรมราช และเป็นศาสนสถานที่สำคัญสำหรับสักการะและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวภาคใต้

๗. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ สตางค์

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑๐ สตางค์ เป็นรูปพระเจดีย์พระธาตุเชิงชุม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร สร้างขึ้นในสมัยใดไม่เป็นที่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด พระเจดีย์พระธาตุเชิงชุม มีลักษณะก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม มีรูปทรงเพรียว ไม่มีลวดลายประดับที่องค์เจดีย์ เพียงแต่ฉาบปูนเรียบที่ฐานพระเจดีย์ มีประตูทั้งสี่ด้านโดยซุ้มประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ประตูทางด้านทิศตะวันออกที่ต่อกับพระวิหารเปิดให้เห็นภายในขององค์พระธาตุที่สร้างครอบปราสาทแบบขอมขนาดเล็กที่ก่อด้วยศิลาแลง โดยมีกรอบประตูทางเข้าเป็นหินทราย ส่วนหลืบประตูทางทิศเหนือมีจารึกอักษรขอม อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ กล่าวถึงการถวายที่ดิน ข้าทาส และสิ่งของต่างๆ ให้แก่ ศาสนสถานแห่งนี้ [๘] โดยภายในพระวิหารของวัดพระธาตุเชิงชุมเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปและเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครมาแต่โบราณ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ซึ่งทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปสักการะพระธาตุและหลวงพ่อพระองค์แสนมาก โดยงานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๙ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ) พระธาตุเชิงชุมซึ่งถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญสำหรับสักการะและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

๘. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ สตางค์

๘. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ สตางค์

ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๕ สตางค์ เป็นภาพพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในโลก มีอายุมากกว่า ๒,๐๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งประเทศอินเดียยุคโบราณ ได้จัดส่งพระสมณฑูตมาประกาศพระศาสนาในแถบสุวรรณภูมิ และได้สร้างพระสถูปเจดีย์ไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นหลักฐาน ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๑๘๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งมีรูปทรงระฆัง หรือบาตรคว่ำ มีความสูง ๓๙ เมตร มีลักษณะคล้ายกับสาญจีเจดีย์ในประเทศอินเดียที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งนี้การก่อสร้างพระเจดีย์ครอบองค์ใหม่ได้แล้วเสร็จในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ รวมเวลาก่อสร้าง ๑๗ ปี ซึ่งพระเจดีย์องค์ใหม่มีลักษณะทรงกลมรูปทรงระฆัง (แบบลังกา) มีความสูงโดยวัดจากพื้นดินถึงยอดประมาณ ๑๒๐.๔๕ เมตร และฐานวัดโดยรอบรวมประมาณ ๒๓๓.๕๐ เมตร ภายในพระเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นวัดประจำรัชกาล ภายในพระปฐมเจดีย์ได้ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ อยู่ในซุ้มวิหารตั้งอยู่ทางด้านเหนือและด้านหน้าพระปฐมเจดีย์ โดยภายในฐานของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๖ [๙] ดังนั้น พระปฐมเจดีย์จึงถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของประเทศไทย

๙. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ สตางค์

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา ๑ สตางค์

ด้านหนึ่งของเหรียญหมุนเวียนชนิดราคา ๑ สตางค์ เป็นภาพพระธาตุหริภุญไชย วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ซึ่งตามพงศาวดารโยนกได้กล่าวว่าวัดพระธาตุหริภุญไชย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์นครหริภุญชัยองค์ที่ ๓๓ นับจากพระนางจามเทวี ผู้ครองนครลำพูน ภายในวัดได้สร้างเจดีย์ที่สำคัญเรียกว่า พระบรมธาตุหริภุญไชย (คำว่า หริ แปลว่า ผลสมอ และภุญชัย แปลว่า เสวย) ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับตรงที่สร้างพระเจดีย์และเสวยผลสมอเพื่อรักษาพระอุทร หลังจากเสวยแล้วได้ทรงทิ้งผลสมอไว้ตรงนั้น กาลต่อมาเมล็ดสมอได้เจริญเติบโต พระราชาธิบดีจึงสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระเกศบรมธาตุของพระพุทธเจ้า โดยเจดีย์มีลักษณะทรงลังกา ใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง มีขนาดความสูง ๕๑ เมตร ฐานกว้าง ๒๕.๒๕ เมตร มีสัตติบัญชร (ระเบียงหอก) มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพ [๑๐] ดังนั้น พระธาตุหริภุญไชยเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางภาคเหนืออีกแห่งที่ชาวไทยและต่างประเทศไปสักการะและเยี่ยมชมความงดงามของศิลปะแบบล้านนา

สรุป ในปัจจุบันเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนของไทยแต่ละชนิดราคา ได้นำภาพของศาสนสถานที่สำคัญต่างๆ ของไทยมาใช้เป็นลวดลายด้านหลังของเหรียญ แสดงถึงสถาบันศาสนาประจำชาติของไทย ได้แก่ ชนิดราคา ๑๐ บาท ภาพพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามชนิดราคา ๕ บาท ภาพพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ชนิดราคา ๒ บาท ภาพพระบรมบรรบต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ชนิดราคา ๑ บาท ภาพพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ชนิดราคา ๕๐ สตางค์ ภาพพระเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ชนิดราคา ๒๕ สตางค์ ภาพพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชนิดราคา ๑๐ สตางค์ ภาพพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร ชนิดราคา ๕ สตางค์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และชนิดราคา ๑ สตางค์ ภาพพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน ทั้งนี้เหตุผลที่สำคัญในการเลือกศาสนสถานใดไว้บนหลังเหรียญหมุนเวียนชนิดต่างๆ คือ ความสำคัญของศาสนสถาน และการจัดองค์ประกอบของภาพบนเหรียญ


* ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์เหรียญ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์


[๑] เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน.[online].วันที่สืบค้น ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙.http://www.treasury.go.th/ ewt_news.

[๒] ศูนย์ข้อมูลสารคดี สำนักพิมพ์สารคดี.๒๕๕๑.คู่มือท่องเที่ยววัดสำคัญประจำรัชกาล.กรุงเทพมหานคร : ด่านสุทธาการพิมพ์,หน้า ๒๒ - ๒๙.

[๓] เรื่องเดิม,หน้า ๕๖ - ๖๑.

[๔] ลำจุล ฮวบเจริญ.๒๕๕๕.พระอารามหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม.กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลพับลิชชิ่ง,หน้า ๕๕ – ๕๗.

[๕] วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.[online].วันที่สืบค้น ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙.http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.

[๖] ลำจุล ฮวบเจริญ.๒๕๕๕.พระอารามหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม.กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลพับลิชชิ่ง,หน้า ๓๕๙ - ๓๖๐.

[๗] กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.๒๕๕๑.พระอารามหลวง เล่ม ๒.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,หน้า ๓๒๗ – ๓๒๙.

[๘] กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.๒๕๕๑.พระอารามหลวง เล่ม ๒.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,หน้า ๑๒๓ – ๑๒๔.

[๙] สุวัจนี พาแรงคลิโอ.๒๕๔๙.ท่องเที่ยววัดดังทั่วไทย.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เจ.บี.พับลิชชิ่ง,หน้า ๕๒ - ๕๓.

[๑๐] กองพุทธสารนิเทศ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ.๒๕๔๙.ท่องเที่ยวพระอารามหลวง.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,หน้า ๔๘



บรรณานุกรม

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.๒๕๕๑.พระอารามหลวง เล่ม ๒.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
กองพุทธสารนิเทศ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ.๒๕๔๙.ท่องเที่ยวพระอารามหลวง.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
ลำจุล ฮวบเจริญ.๒๕๕๕.พระอารามหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม.กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลพับลิชชิ่ง.

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.[online].วันที่สืบค้น ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙.http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.
ศูนย์ข้อมูลสารคดี สำนักพิมพ์สารคดี.๒๕๕๑.คู่มือท่องเที่ยววัดสำคัญประจำรัชกาล.กรุงเทพมหานคร : ด่านสุทธา การพิมพ์,หน้า ๒๒ - ๒๙.
สุวัจนี พาแรงคลิโอ.๒๕๔๙.ท่องเที่ยววัดดังทั่วไทย.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เจ.บี.พับลิชชิ่ง.
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน.[online].วันที่สืบค้น ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙.http://www.treasury.go.th/ ewt_news.php?nid=๙๒
บรรณานุกรม

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.๒๕๕๑.พระอารามหลวง เล่ม ๒.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
กองพุทธสารนิเทศ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ.๒๕๔๙.ท่องเที่ยวพระอารามหลวง.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
ลำจุล ฮวบเจริญ.๒๕๕๕.พระอารามหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม.กรุงเทพมหานคร : ดวงกมลพับลิชชิ่ง.

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.[online].วันที่สืบค้น ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙.http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.
ศูนย์ข้อมูลสารคดี สำนักพิมพ์สารคดี.๒๕๕๑.คู่มือท่องเที่ยววัดสำคัญประจำรัชกาล.กรุงเทพมหานคร : ด่านสุทธา การพิมพ์,หน้า ๒๒ - ๒๙.
สุวัจนี พาแรงคลิโอ.๒๕๔๙.ท่องเที่ยววัดดังทั่วไทย.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เจ.บี.พับลิชชิ่ง.
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน.[online].วันที่สืบค้น ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙.http://www.treasury.go.th/ ewt_news.php?nid=๙๒

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..