สัตว์สัญลักษณ์บนเหรียญเงินทวารวดี
สัตว์สัญลักษณ์บนเหรียญเงินทวารวดี
28/8/2561 / 53 / สร้างโดย Web Admin

ณัฐิกานต์ จันต๊ะยอด*

สมัยโบราณมนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และนำเอาสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อใช้สื่อความหมายระหว่างคนในสังคม และระหว่างชุมชนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสัญลักษณ์ของคน สัตว์ สิ่งของ หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ

สัญลักษณ์จึงเป็นระบบการสื่อความหมายประเภทหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของความเชื่อและทัศนคติ โดยมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์เอง กำหนดไว้เพื่อสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน มีการตีความหมายสัญลักษณ์ในการสื่อสารร่วมกัน ทำให้ชีวิตในสังคมสามารถดำเนินไปได้

ภาพเขียนสีโบราณ

ภาพที่ ๑ ภาพเขียนสีโบราณ "ประตูผา" จ.ลำปาง
แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนโบราณที่อยู่ร่วมกับสัตว์


การใช้สัตว์มาเป็นสัญลักษณ์

มนุษย์อยู่ร่วมกับสัตว์มาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการนำมาเป็นอาหาร เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่บางกลุ่มเชื่อว่า สัตว์เป็นเสมือนตัวแทนของเทพเจ้า ซึ่งปรากฏอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมต่างๆ ของโลก ทั้งในอียิปต์โบราณ อินเดีย จีน รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้นำเอาสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย ซึ่งแฝงไปด้วยคติความเชื่อ เรื่องราวสะท้อนชีวิตของผู้คนในสังคม ผ่านหลักฐานทางโบราณวัตถุ และงานศิลปกรรมต่างๆ


คติความเชื่อเรื่องสัตว์ในสมัยทวารวดี

ทวารวดี เป็นอาณาจักรหนึ่งในดินแดนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับอิทธิพลคติความเชื่อเรื่องสัตว์มาจากอินเดีย โดยรับเอาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ผ่านเส้นทางการค้าและการเผยแผ่ศาสนา ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปรากฏให้เห็นในงานศิลปกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หรือสัตว์มงคล โดยรูปสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดีเป็นสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติ เช่น ช้าง สิงโต วัว กวาง ปลา เป็นต้น และสัตว์ผสมหรือสัตว์ในเทพนิยาย เช่น ครุฑ นาค นรสิงห์ พนัสบดี เป็นต้น โดยสัตว์เหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเทพเจ้าและศาสนา

ด้านสังคมของชาวทวารวดี เป็นสังคมเกษตรกรรมและการค้า มีความเชื่อในเรื่องโชคลาภ ความมั่งคั่ง และความอุดมสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก รูปสัตว์ที่ปรากฏเป็นหลักฐานตามเมืองสำคัญในวัฒนธรรมทวารวดีส่วนใหญ่ใช้ในการประดับศาสนสถาน และใช้พกติดตามตัว เช่น ตราประทับ เครื่องราง เหรียญเงิน เป็นต้น โดยเชื่อว่าการนำสัญลักษณ์รูปสัตว์มาใช้ก็เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล


สัตว์สัญลักษณ์บนเหรียญเงินสมัยทวารวดี

ในสมัยทวารวดีจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ได้มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนภายนอก โดยได้นำรูปแบบเหรียญกษาปณ์ของอินเดียมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และนำรูปสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงกษัตริย์ อำนาจรัฐ ความเป็นมงคล และความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรไว้บนเหรียญเงิน โดยความหมายของสัตว์สัญลักษณ์ที่ปรากฏเป็นลวดลายของวัว กวาง หอยสังข์ ปลา กระต่าย และสิงห์ ร่วมกับสัญลักษณ์มงคลอื่น โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวล้วนมีความหมายและคติความเชื่อของศาสนาพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จากอินเดียทั้งสิ้น


รูปแบบและความหมายของสัตว์ที่ปรากฏบนเหรียญเงินในสมัยทวารวดี

สัตว์สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเหรียญสมัยทวารวดีมี ดังนี้

๑. เหรียญเงิน แม่วัวลูกวัว โดยด้านหนึ่งของเหรียญเป็นอักษรโบราณจารึกว่า "ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺย” แปลว่า "พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” ซึ่งแสดงถึงอาณาจักรทวารวดีมีการปกครองโดยกษัตริย์ อีกด้านของเหรียญทำเป็นรูปแม่วัวกับลูกวัว ตามความเชื่อโบราณ วัวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้คุณแก่มนุษย์ การบูชาวัวมีมาตั้งแต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เรื่องราวของวัวปรากฏในคัมภีร์อเวสตะ [๑] ว่า วัว เป็นสัญลักษณ์ของโลกแสงสว่างและความอุดมสมบูรณ์ ในศาสนาพราหมณ์ วัว (วัวนนทิ) ถือเป็นพาหนะของพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่งในตรีมูรติ และมีความสำคัญในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์อินเดียตั้งแต่ยุคพระเวท ส่วนในพุทธศาสนาเชื่อว่า วัวเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการ และเป็นสัญลักษณ์ของวันวิสาขะ [๒]


เหรียญแม่วัว-ลูกวัว


ภาพที่ ๒ เหรียญแม่วัว - ลูกวัว และอักษรปัลลวะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญ


ดังนั้นในสมัยทวารวดี ทั้งรูปวัวตัวเดียว และรูปแม่วัว ลูกวัว จึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ และการที่กษัตริย์ทวารวดีเลือกสัญลักษณ์นี้มาใช้บนเหรียญ ก็เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าพระองค์สามารถควบคุมธรรมชาติให้มีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์

๒. เหรียญเงินรูปหอยสังข์ ถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ หอยสังข์เป็นหนึ่งในอาวุธคู่กายของพระวิษณุ เรียกว่า สังข์แห่งวิษณุ มีความเกี่ยวข้องกับพระนางศรี-ลักษมี ซึ่งเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ หอยสังข์ถูกนำมาใช้ในงานพิธีสำคัญของกษัตริย์ รวมถึงใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของกษัตริย์อย่างพิธีราช สูยะ (พระราชพิธีราชาภิเษก) ในพุทธศาสนา หอยสังข์ปรากฏเป็นสัญลักษณ์หนึ่งบนรอยพุทธบาท


เหรียญรูปหอยสังข์

ภาพที่ ๓ เหรียญรูปหอยสังข์ - ศรีวัตสะ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญ


หอยสังข์ที่ปรากฏบนเหรียญเงินทวารวดีนั้น หมายถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย เป็นสัญลักษณ์แห่ง ความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเมือง สันนิษฐานว่า เหรียญเงินรูปสังข์ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทั่วไป หรืออาจใช้เฉพาะในพิธีกรรม เนื่องจากการค้นพบเงินรูปสังข์ขนาดเล็กจำนวนมากบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ในแหล่งโบราณคดีคอกคอช้างดิน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

๓. เหรียญเงินรูปกวาง ถือเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ ในทางพุทธศาสนา กวางถือเป็นสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ดังนั้น กวางจึงเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับการปฐมเทศนาและการเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า และยังเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์มาหลายราชวงศ์ เช่น พระเจ้าจันทรคุปต์ แห่งราชวงศ์โมริยะของอินเดีย ในสมัยทวารวดีมักพบสัญลักษณ์รูปกวางคู่กับธรรมจักรประดับตามศาสนสถาน คติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ กวางถือเป็นพาหนะของพระจันทร์ ตามคัมภีร์พระเวท โดยหนังของกวางใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มของพราหมณ์ ส่วนเขาใช้ในพระราชพิธีเกี่ยวกับการหลั่งน้ำสัตยาบันของกษัตริย์

เหรียญรูปกวาง
ภาพที่ ๔ เหรียญรูปกวาง


๔. ปลา สัตว์น้ำที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นสัญลักษณ์มงคลที่มาจากอินเดีย ในพุทธศาสนา ปลาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งบนรอยพุทธบาท คือสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ และความสุข มักปรากฏร่วมกับสัญลักษณ์อื่นที่มาจากศาสนาพราหมณ์ เช่น ศรีวัตสะ ธง แส้จามร เป็นต้น ในศาสนาพราหมณ์ ปลามีความสำคัญเกี่ยวกับการอวตารของพระวิษณุในมัตสยาวตาร หรือตามตำนานน้ำท่วมโลก และพรหมราตรีของศาสนาพราหมณ์ พระวิษณุทรงอวตารเป็นปลานามว่า ศพริ เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ และเกี่ยวข้องกับตำนานหอยสังข์ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระเวทอีกด้วย ลวดลายบนเหรียญเงินทวารวดีมักพบรูปปลาอยู่ร่วมกับรูปศรีวัตสะจึงมีความหมายเรื่องความอุดมสมบูรณ์เป็นหลัก


รูปปลาอยู่ร่วมกับศรีวัตสะ

ภาพที่ ๕ รูปปลาอยู่ร่วมกับศรีวัตสะ และสัญญักษณ์มงคลอื่นๆหมายถึงความมั่งคั่ง และความสมบูรณ์


๕. กระต่าย ในวัฒนธรรมอินเดียกระต่ายถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองและประชาชน [๓] ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ กระต่ายหนึ่งในเรื่องราวของพุทธชาดกเรื่องสสปัณฑิตชาดก ได้กล่าวถึงกระต่ายที่เป็นตัวแทนของคุณธรรมที่เกิดจากการให้ชีวิตเป็นทาน ถือเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรม ในเหรียญทวารวดีสัญลักษณ์รูปกระต่ายปรากฏอยู่บนดอกบัว ถือว่าเป็นสิริมงคลเพราะดอกบัวมีความหมายถึงเป็นการเกิด อีกด้านหนึ่งเป็นรูปศรีวัตสะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์


เหรียญรูปกระต่าย

ภาพที่ ๖ เหรียญรูปกระต่าย - ศรีวัตสะเป้นเหรียญที่หายากมาก


๖. สิงห์ หรือสิงโต เป็นสัตว์ที่ไม่ปรากฏอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปรากฏในอินเดีย สิงโตได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าป่าหรือราชาแห่งสัตว์ ตัวแทนแห่งความยิ่งใหญ่ ความสง่างาม ความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญ รูปลักษณ์ของสิงโตจึงได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงมีอำนาจการปกครอง ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาช้านานในแถบเอเชีย คติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์สิงโตถือเป็นพาหนะของเทพเจ้า (พระแม่ทุรคา) และเป็นสัญลักษณ์แทนเทพบางองค์ คติความเชื่อในพุทธศาสนา สิงโตถือเป็นสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์ศากยะ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา รูปสัญลักษณ์สิงโตที่ปรากฏบนเหรียญจึงแสดงให้เห็นถึงการนำความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพลัง ความกล้าหาญ และอำนาจของชนชั้นปกครอง


รูปสิงห์ - ศรีวัตสะ

ภาพที่ ๗ รูปสิงห์ - ศรีวัตสะ


การใช้เหรียญเงินรูปสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์นั้นมีแรงบันดาลใจมาจากอินเดียที่นำเอาธรรมชาติมาเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความหมายของความเป็นมงคล ความอุดมสมบูรณ์ และรวมถึงสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ได้กลายมาเป็นเครื่องหมายที่ยอมรับนับถือทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ อย่างไรก็ตามยังไม่เคยพบหลักฐานการใช้เหรียญเงินเหล่านี้ในอินเดีย [๔]

กล่าวได้ว่า สมัยทวารวดีสัตว์สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเหรียญเงินเป็นการผลิตขึ้นโดยกษัตริย์ ซึ่งได้นำเอาแบบอย่างตามคติความเชื่อจากอินเดียดั้งเดิมมาใช้ โดยสัตว์เหล่านี้ถือเป็นสัญลักษณ์มงคล และความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นเครื่องหมายของกษัตริย์ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ยอมรับนับถือของผู้คนในชุมชน เพื่อใช้สื่อความหมายในการอยู่ร่วมกันทั้งด้านการเมือง ศาสนา และการค้า


 
* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์เหรียญ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์


[๑] คัมภีร์อเวสตะ เป็นชื่อคัมภีร์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ แปลว่า "ความรู้” คล้ายกับความหมายของคำว่า "เวทะ” ของพราหมณ์ ภาษาของคัมภีร์คือ ภาษาอเวสตะ เป็นภาษาใกล้เคียงกับภาษาสันสกฤต
[๒] อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ, ตราประทับ ตราประจำตัว และเครื่องรางยุคโบราณ, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๐, หน้า ๗๕.
[๓] อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ, ตราประทับ ตราประจำตัว และเครื่องรางยุคโบราณ, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๐, หน้า ๖๘.
[๔] ศักดิ์ชัย สายสิงห์,เรียบเรียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ทวารวดี ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย, (กรุงเทพฯ : ศิลปากร), ๒๕๔๓, หน้า ๑๖๓.

 

บรรณานุกรม

เฉลิม ยงบุญเกิด. กระษาปณ์ไทย. พระนคร : โรงพิมพ์ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ. ๒๕๐๙.
ผาสุข อินทราวุธ. สุวรรณภูมิจากหลักฐานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ๒๕๔๘.
___________. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, ๒๕๔๒.
นายชะเอม แก้วคล้าย แปล, วารสารกรมศิลปากร. ปีที่ ๓๔ เล่มที่ ๒. ๒๕๓๔.
รณชัย กฤษฎาโอฬาร. วิวัฒนาการกษาปณ์ไทย จากยุคอาณาจักรโบราณ. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ๒๕๕๙.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์.เรียบเรียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ทวารวดี ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปากร, ๒๕๔๓.
อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. ตราประทับ ตราประจำตัวและเครื่องรางยุคโบราณ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๐.









ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 562
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 294
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 405
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..