เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
26/8/2561 / 50 / สร้างโดย Web Admin

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี*

การเฉลิมพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้แก่เจ้านายและขุนนางเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ในราชสำนักสยามที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยพระมหากษัตริย์จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่เจ้านายและขุนนางเพื่อแสดงถึงฐานานุศักดิ์และใช้ประกอบยศตำแหน่ง ตลอดจนเป็นบำเหน็จรางวัลความชอบ ในราชการแผ่นดิน สันนิษฐานว่าธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยา และได้ ปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แม้ว่าธรรมเนียมการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ในรัชกาลปัจจุบันยังมีการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ พร้อมทั้งมีการพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศให้แก่เจ้านายชั้นสูงบางตำแหน่ง ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเรียกเครื่องประกอบพระอิสริยยศว่า "เครื่องราชอิสริยยศ” "เครื่องอิสริยยศ” หรือ "เครื่องยศ” (ซึ่งในบทความนี้จะใช้คำว่า "เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภค”) ปัจจุบันยังมีเครื่องอิสริยยศจัดแสดงให้ประชาชนได้ชม ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ในพระบรมมหาราชวัง


ความหมายและความสำคัญของเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภค

เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภค สร้างด้วยวัสดุมีค่า มีพื้นฐานและพัฒนามาจากเครื่องใช้สำหรับใส่หมากพลูหรือเครื่องอุปโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยในสมัยโบราณ เมื่อถูกนำมา เป็นเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือเครื่องใช้สำหรับเจ้านาย จึงเรียกกันว่า "เครื่องราชูปโภค”หรือ "เครื่องอุปโภค” คำว่า "เครื่องราชูปโภค” เป็นคำสนธิ มาจากคำว่า "ราชา” กับ "บริโภค” มีความหมายว่า "เครื่องใช้สอยของพระราชา” หรือ "เครื่องแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์” นอกจากใช้เป็นเครื่องประกอบพระเกียรติของพระมหากษัตริย์แล้ว ยังใช้พระราชทานเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของเจ้านายและ ขุนนางตามตำแหน่งหน้าที่หรือมีความชอบต่อแผ่นดิน โดยเรียกเครื่องราชูปโภคหรือเครื่องอุปโภคเหล่านี้ว่า "เครื่องอิสริยยศ” หรือ "เครื่องยศ” ตามธรรมเนียมในราชสำนักไทยในสมัยโบราณ เจ้านายหรือขุนนางที่ได้รับพระราชทาน เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภค สามารถนำเครื่องยศเหล่านี้ไปตั้งเป็นเกียรติและ ใช้สอยเฉพาะพระพักตร์ภายในท้องพระโรงหรือในวาระโอกาสสำคัญ เครื่องยศเหล่านี้จะต้องนำส่งคืนเมื่อพ้นจากตำแหน่ง หรือทายาทนำส่งคืนภายหลังจากเสียชีวิตแล้ว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เริ่มมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามแบบชาติตะวันตก ธรรมเนียม การพระราชทานเครื่องอิสริยยศแก่เจ้านายและขุนนางจึงค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย แต่ปัจจุบันยังคง มีการพระราชทานเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคหรือเครื่องอุปโภคในกรณีพิเศษเท่านั้น (สำหรับบทความนี้จะใช้คำว่า "เครื่องราชูปโภค”) โดยจะขอกล่าวถึงเฉพาะเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคสำหรับเจ้านายฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ เนื่องจากเป็นเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคที่ยังมีการพระราชทานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคำว่า "ฝ่ายใน” นั้นเป็นการเรียกเจ้านายและข้าราชการที่เป็นสตรี ส่วนเจ้านายหรือข้าราชการที่เป็นบุรุษ เรียกว่า "ฝ่ายหน้า” ทั้งนี้ การพระราชทานเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคสำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า กับฝ่ายในมีธรรมเนียม การพระราชทานเครื่องราชูปโภคบางชนิดที่มีลักษณะแตกต่างกัน


เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคฝ่ายใน

เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคฝ่ายใน จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ


ลักษณะการพระราชทานเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์

การพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศให้แก่เจ้านายและขุนนางสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติและลักษณะรูปแบบการพระราชทานที่ได้รับอิทธิพลและสืบทอดกันตั้งแต่ สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยปรับเปลี่ยนลักษณะและรูปแบบของเครื่องราชูปโภคตามความนิยมที่เกิดขึ้นใน แต่ละยุคสมัย สำหรับการพระราชทานเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์ มีลักษณะ การพระราชทานที่สามารถสังเกตได้ ๒ ประการ ดังนี้

๑) ขันสรงพระพักตร์ (ขันล้างหน้า) และขันน้ำเสวย พร้อมจอกลอย เป็นเครื่องอิสริยยศสำหรับใช้พระราชทานเฉพาะฝ่ายในเท่านั้น



ขันสรงพระพักตร์ และ ขันน้ำเสวยทองคำลายสลัก

ขันสรงพระพักตร์ทองคำลายสลักพร้อมพานรองทองคำลายสลัก (ด้านซ้าย) และ ขันน้ำเสวยทองคำลายสลักพร้อมพานรองทองคำลายสลักและจอกลอยทองคำ (ด้านขวา)


๒) ในชุดพานพระศรีสำหรับฝ่ายในโดยทั่วไป มีเครื่องอุปโภคที่ใช้สำหรับพระราชทานฝ่ายใน ได้แก่ ผอบทรงกลม จอกหมากทรงกลม และซองพลู


ชุดพานพระศรี

ชุดพานพระศรี (พานหมาก) สำหรับฝ่ายใน


การพระราชทานเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายใน ในรัชกาลปัจจุบัน

ในรัชกาลปัจจุบันมีการพระราชทานเครื่องอิสริยยศ ๒ กรณี คือ พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์หรือเจ้านายชั้นสูงในโอกาสที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศศักดิ์ให้สูงขึ้นตามโบราณราชประเพณี รวมทั้ง ยังมีการพระราชทานเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคแก่เจ้านายฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพระราชทานเป็นเครื่องประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยผู้ได้รับพระราชทานสามารถถ่ายภาพไว้เป็นเกียรติยศเท่านั้น มิได้ นำไปเก็บรักษาหรือนำไปใช้ต่อหน้า พระพักตร์หรือในโอกาสสำคัญเหมือนในสมัยโบราณอีกต่อไป


เครื่องราชอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายในที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์


เครื่องราชอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคเจ้านายฝ่ายในที่จัดแสดงให้ประชาชนได้ชม ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ภายในพระบรมมหาราชวัง มีดังนี้


๑. เครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคชุดสำคัญที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ มีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารีทรงได้รับพระราชทานในวโรกาสสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้นตามจารึกใน พระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยาม บรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ ประกอบด้วย เครื่องราชูปโภค จำนวน ๒๗ ชิ้น ได้แก่

๑) ชุดพานพระศรี ประกอบด้วย

๑.๑) พานกลีบบัวทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๒) ซองพลูทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๓) ผอบทรงกลมทองคำลงยา จำนวน ๓ ชิ้น

๑.๔) จอกหมากทองคำลงยา จำนวน ๒ ชิ้น

๑.๕) ตลับภู่ทองคำลงยาพร้อมไม้แคะพระกรรณทองคำ และไม้แคะพระทนต์ทองคำ จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๖) มีดด้ามหุ้มทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๒) ชุดขันน้ำเสวย ประกอบด้วย

๒.๑) ขันน้ำเสวยทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๒.๒) พานกลีบบัวทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๒.๓) จอกลอยทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๓) ชุดหีบพระศรีทองคำลงยาประดับอัญมณี

๓.๑) หีบพระศรีทองคำลงยาฝาหีบประดับเพชรซีก จำนวน ๑ ชิ้น

๓.๒) ตลับทองคำลงยา จำนวน ๓ ชิ้น

๓.๓) พานกลีบบัวทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๔) ชุดขันสรงพระพักตร์ทองคำลงย

๔.๑) ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๔.๒) พานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๕) ชุดกาทรงกระบอกทองคำลายสลัก

๕.๑) กาทรงกระบอกทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๕.๒) ถาดรองกาทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๖) ชุดที่ชาทองคำลายสลักพร้อมถ้วยฝาหยก

๖.๑) ป้านชาทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๖.๒) จานรองทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๖.๓) จุ๋นทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๖.๔) ถาดที่ชาทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๖.๕) ถ้วยฝาหยก จำนวน ๑ ชิ้น

๗) กระโถนทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น


เครื่องประกอบอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เครื่องประกอบอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


จากรายการข้างต้นพบว่า เครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้สร้างด้วยทองคำและวัสดุมีค่า ส่วนใหญ่เป็นเครื่องราชูปโภคทองคำลงยา ตกแต่งด้วยการสลักดุนลายลงยา บางชิ้นมีการประดับอัญมณีที่พื้นผิวหรือขอบภาชนะ ด้วยฝีมือช่างทองหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการตกแต่งพื้นผิวด้วยเทคนิคการลงยา สีชมพู และลงยาสีเต็มพื้นลาย อันเป็นลักษณะเฉพาะของเทคนิคการลงยาสีในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกัน ส่วนชิ้นที่ไม่มีการลงยาหรือใช้วัสดุอื่น ได้แก่ กาทรงกระบอกพร้อมถาดรอง ปั้นชาพร้อมจานรอง ถ้วยฝาหยก จุ๋น (จานรองถ้วยฝาหยก) และถาดรองชุดที่ชา เนื่องจากเป็นเครื่องราชูปโภคที่ต้องสัมผัสความร้อนหรือของร้อน ซึ่งลักษณะเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศชุดนี้ใช้สำหรับพระราชทานเจ้านายในขัตติยราชสกุลตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้นสมเด็จกรมพระยาขึ้นไป จนถึงสมเด็จพระอัครมเหสีหรือเจ้านายฝ่ายใน ชั้นเจ้าฟ้า

ลักษณะเทคนิคและลวดลายที่ปรากฏบนเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย

๑) เทคนิคการสลักดุนลายลงยาสีชมพู เป็นเทคนิคหลักที่ปรากฏในเครื่องประกอบ พระอิสริยยศชุดนี้ ได้แก่ ชุดพานพระศรี ชุดขันน้ำเสวยพร้อมพานรองและจอกลอย และพระสุพรรณศรีหรือบ้วนพระโอษฐ์ ตกแต่งด้วยลายเครือเถาดอกรำเพยและผลทับทิม และลายดอกไม้และใบไม้


เทคนิคการสลักดุนลายลงยาสีชมพู

เทคนิคการสลักดุนลายลงยาสีชมพู ภาพซ้าย ลายเครือเถาดอกรำเพยและผลทับทิม ภาพขวา ลายดอกไม้และใบไม้


๒) เทคนิคการสลักร่องลายลงยา พบในหีบหมากทองคำพร้อมตลับ ๓ ใบเถา และขันสรงพระพักตร์ ตกแต่งด้วยลายก้านต่อดอกใบเทศ


เทคนิคการสลักดุนลายลงยาสีชมพู

เทคนิคการสลักดุนลายลงยาสีชมพู ภาพซ้าย ลายเครือเถาดอกรำเพยและผลทับทิม ภาพขวา ลายดอกไม้และใบไม้


๓) เทคนิคการสลักดุนลายลงยา ปรากฏบนพานรองหีบหมาก และพานรองขันสรงพระพักตร์ ตกแต่งด้วยลายก้านต่อดอกใบเทศ


เทคนิคการสลักดุนลายลงยา ลายก้านดอกใบเทศ

เทคนิคการสลักดุนลายลงยา ลายก้านต่อดอกใบเทศ


๔) เทคนิคการสลักดุนลาย ปรากฏในเครื่องอุปโภคที่สัมผัสของร้อน เช่น ชุดที่ชาทองคำ ลายสลัก กาทรงกระบอกทองคำลายสลักพร้อมถาดรองทองคำลายสลัก ตกแต่งด้วยลายดอกไม้และใบไม้ และลายดอกพุดตานใบเทศ


เทคนิคการสลักดุนลายลงยา ลายดอกไม้และใบไม้


นอกจากนี้ ลักษณะ รูปแบบ และลวดลายบางอย่างได้รับอิทธิพลจีนเข้ามาผสมผสานอย่างลงตัว ได้แก่ กาทรงกระบอก ถ้วยฝาหยก ปั้นชา รวมทั้งลวดลายที่ตกแต่งบนพื้นผิว น่าจะได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อของจีน ซึ่งลายดอกไม้และผลทับทิมมีความหมายมงคลเกี่ยวกับการอวยพรให้มีความสุข สมหวัง และมีบุตรเร็ววัน และพบลักษณะลวดลายนี้เฉพาะเครื่องราชูปโภคที่ใช้เป็นเครื่องอิสริยยศฝ่ายในเท่านั้น สันนิษฐานว่า เครื่องราชูปโภคแต่ละชิ้นในเครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้ ส่วนใหญ่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และนอกจากนี้ ลวดลายลักษณะนี้ถูกกำหนดใช้สำหรับตกแต่งบนเครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคสำหรับพระราชทานเจ้านายฝ่ายในเท่านั้น


ชุดที่ชาทองคำลายสลัก

ชุดที่ชาทองคำลายสลัก พร้อมถ้วยฝาหยก ในเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


๒. เครื่องประกอบพระอิสริยยศพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้รับพระราชทาน เครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้ เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ ให้สูงขึ้น ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ” ในฐานะพระมารดาของพระราชนัดดาพระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทาน เครื่องอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคในฐานะเจ้านายฝ่ายใน เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๔ ประกอบด้วยเครื่องราชูปโภค จำนวน ๑๘ ชิ้น ได้แก่


๑) ชุดพานพระศรีทองคำลายสลัก ประกอบด้วย

๑.๑) พานทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๒) ผอบทรงเหลี่ยมทองคำลายสลัก จำนวน ๒ ชิ้น

๑.๓) มังสีทองคำลายสลัก (จอกหมากปากกลีบบัวแฉก) จำนวน ๒ ชิ้น

๑.๔) ซองพลูทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๕) ซองบุหรี่ทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๖) มีดด้ามหุ้มทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๑.๗) ตลับภู่ทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๒) หีบหมากทองคำลงยาหุ้มไม้แดง จำนวน ๑ ชิ้น
๓) กระโถนทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น
๔) ชุดกาทรงกระบอกทองคำลายสลัก ประกอบด้วย

๔.๑) กากระบอกทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๔.๒) ถาดรองกาทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๕) ชุดขันน้ำเสวยทองคำลายสลัก ประกอบด้วย

๕.๑) ขันน้ำเสวยทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๕.๒) พานรองขันน้ำเสวยทองคำลายสลัก จำนวน ๑ ชิ้น

๕.๓) จอกลอยทองคำขอบสลักลาย จำนวน ๑ ชิ้น

๖) ชุดขันสรงพระพักตร์ทองคำลายสลัก ประกอบด้วย

๖.๑) ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น

๖.๒) พานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา จำนวน ๑ ชิ้น


เครื่องประกอบพระอิสริยยศพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ

เครื่องประกอบพระอิสริยยศพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ


เครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องราชูปโภคทองคำลายสลัก ตามลักษณะ ธรรมเนียมการพระราชทานเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายระดับชั้นพระองค์เจ้า หรือ สำหรับพระราชทานตั้งแต่พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมพระลงมาถึงราชสกุล ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และ มีเครื่องอุปโภคบางชิ้นที่แสดงถึงลักษณะของเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายในอย่างชัดเจน ได้แก่ ขันน้ำเสวย และขันสรงพระพักตร์ เป็นต้น


เทคนิคและลวดลาย

มีข้อสังเกตว่า เครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้มีลักษณะการตกแต่งด้วยเทคนิคและลวดลาย ดังนี้

๑) เทคนิคการสลักดุนลาย พบลักษณะการตกแต่งด้วยเทคนิคนี้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ชุดพานพระศรีทองคำลายสลัก กาน้ำทรงกระบอกทองคำลายสลักพร้อมถาดรองกาทองคำลายสลัก ขันน้ำเสวยทองคำ ขอบสลักลายพร้อมพานรองทองคำลายสลักและจอกลอยทองคำ พระสุพรรณศรีทองคำ ลายสลัก ตกแต่งด้วยลายดอกพุดตานใบเทศ และลายดอกไม้และใบไม้


เทคนิคการสลักดุนลาย ลายดอกพุดตานใบเทศ


๒) เทคนิคการสลักดุนลายลงยา พบเป็นส่วนน้อยมีเครื่องประกอบพระอิสริยยศเพียงบางชิ้นเท่านั้น ได้แก่ หีบพระศรีทองคำลงยา ลายกุดั่นประดับพรรณพฤกษา พานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา ลายก้านต่อดอกใบเทศ


เทคนิคการสลักดุนลายลงยา

เทคนิคการสลักดุนลายลงยา ด้านซ้าย ลายกุดั่นประดับพรรณพฤกษา ด้านขวา ลายก้านต่อใบเทศ

๓) เทคนิคการสลักร่องลายลงยา พบในเครื่องประกอบพระอิสริยยศเพียงชิ้นเดียว คือ ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา ลายก้านต่อดอกใบเทศ


เทคนิคการสลักร่องลายลงยา ลายก้านต่อดอกใบเทศ

เทคนิคการสลักร่องลายลงยา ลายก้านต่อดอกใบเทศ

นอกจากนี้ เครื่องประกอบพระอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคชุดนี้ยังมีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างจากเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายระดับชั้นพระองค์เจ้าฝ่ายในทั่วไป ๒ ประการ คือ

ประการแรก เครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้บางชิ้นเป็นเครื่องราชูปโภคทองคำลงยา พบทั้งหมดจำนวน ๓ ชิ้น ได้แก่ หีบหมากทองคำลงยาหุ้มไม้แดง ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาและพานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา



หีบหมากทอง และ ขันสรงพระพักตร์


หีบหมากทองคำลงยาหุ้มไม้แดง และ ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาพร้อมด้วยพานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา


ประการที่สอง เครื่องประกอบชุดพานพระศรีมีลักษณะเดียวกับเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายหน้า ได้แก่ ผอบทรงเหลี่ยมทองคำลายสลัก ซองบุหรี่ทองคำลายสลัก และมังสีทองคำลายสลัก


ผอบทรงเหลี่ยมทองคำลายสลัก

ผอบทรงเหลี่ยมทองคำลายสลัก ของบุหรี่ทองคำลายสลักและมีงสีทองคำลายสลัก ในชุดพานพระศรี


จากลักษณะพิเศษดังกล่าวข้างต้น จึงพอสันนิษฐานได้ว่า เครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้เป็นการพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศในการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้ต่างจากเจ้านายฝ่ายใน ชั้นพระองค์เจ้าโดยปกติทั่วไป และเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในราชสำนักไทย จึงมีการพระราชทานเครื่องประกอบอิสริยยศให้แตกต่างจากเครื่องราชูปโภคของเจ้านายในระดับชั้นเดียวกัน ตามธรรมเนียมปกติทั่วไป ได้แก่ หีบหมากทองคำลงยา ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา และพานรองขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา และมีการพระราชทาน เครื่องประกอบพระอิสริยยศในชุดพานพระศรีบางชนิด มีลักษณะเดียวกับเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายหน้า ได้แก่ ผอบทรงเหลี่ยมทองคำลายสลัก ซองบุหรี่ทองคำลายสลัก และมังสีทองคำลายสลัก ดังนั้นเครื่องราชูปโภคเหล่านี้แสดงให้เห็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านาย ฝ่ายในชั้นพระองค์เจ้าตามธรรมเนียมปกติทั่วไป นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากลักษณะเทคนิคและลวดลายของเครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้ พอสันนิษฐานว่าเครื่องราชูปโภคแต่ละชิ้นมีอายุสมัยแตกต่างกัน และไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว

เครื่องประกอบพระอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภคของเจ้านายฝ่ายในที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ ทั้งสองชุดดังกล่าวข้างต้น สร้างด้วยวัสดุมีค่าโดยฝีมือช่างทองหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องแสดงพระเกียรติและตอบแทนคุณความดีที่มีต่อแผ่นดิน ตลอดจนแสดงถึงความเป็นขัตติยนารี ในคราวสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ตามรูปแบบการพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านาย ฝ่ายในที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาแต่โบราณได้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังเป็นหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็น ขนบธรรมเนียม ประเพณีในราชสำนัก และงานช่างฝีมือชั้นสูงในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะต่อไป อันเป็นมรดกของบรรพชนไทย ที่ตกทอดมาและนำความภาคภูมิใจมาสู่อนุชนคนไทยจนถึงปัจจุบัน


* ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน 



เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. เครื่องยศ. พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพฯ : ประเสริฐการพิมพ์, ๒๕๑๘.
กรมศิลปากร. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ.กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีถวาย พระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี, ๒๕๓๙.
หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์. เครื่องยศ บำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน. ศรุตานุสรณ์ พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๖. หน้า ๒๐๙ – ๒๕๔.
เล็ก พงษ์สมัครไทย. เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในในรัชกาลปัจจุบัน. วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๕ เดือนมีนาคม ๒๕๕๑. หน้า ๔๐ – ๔๗.
ศาตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. เครื่องอิสริยยศ พระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง, ๒๕๓๙.


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 562
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 294
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 405
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..