ปูรณกลศ : สัญลักษณ์มงคลในสมัยทวารวดี
ปูรณกลศ : สัญลักษณ์มงคลในสมัยทวารวดี
25/8/2561 / 31 / สร้างโดย Web Admin

ณัฐิกานต์ จันต๊ะยอด*
 

มนุษย์สมัยโบราณมีการสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายจากสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อสื่อความหมายและเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ได้พบเห็น และเมื่ออยู่รวมกันเป็นชุมชน สัญลักษณ์เหล่านี้ก็เป็นตัวแทนของความเชื่อและทัศนคติของคนในชุมชน เพื่อสื่อให้เข้าใจความหมายในทางเดียวกัน อาจจะอยู่ในรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวมีหลากหลายชนิด มักแสดงออกมาในรูปแบบของงานศิลปกรรม ซึ่งแฝงด้วยคติความเชื่ออย่างลึกซึ้ง ส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์


ปูรณกลศกับคติความเชื่อจากอินเดีย

ปูรณกลศ หรือ ปูรณฆฏะ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาวอินเดียโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง คำว่า "ปูรณะ” ตามรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตหมายถึง ความสมบูรณ์ มั่งคั่ง และ "กลศ” (กะ-ละ-สะ) แปลว่า หม้อน้ำ เมื่อรวมกันจึงหมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีลักษณะ เป็นหม้อน้ำที่เต็มบริบูรณ์ มีไม้เลื้อยออกมาทั้งสองข้างอันแสดงถึงการกำเนิดของชีวิต หรือการสร้างสรรค์ ในทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ปูรณกลศถือเป็นภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีราชสูยะ (พระราชพิธีราชาภิเษก) โดยมีชื่อเรียกต่างๆ ว่า "หม้อกลศ” (Kalasa) "หม้อปูรณฆฏะ” (Puran akhata) และ "หม้อกมัณฑลุ” (Kamandlu) เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวอินเดียเชื่อว่า ปูรณกลศเป็นหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นในคราวที่เกิดการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและยักษ์ ซึ่งมักจะพบสัญลักษณ์รูปปูรณกลศในงานศิลปกรรมเนื่องในศาสนา เช่น ภาพสลักหินที่ประดับในสถูปสาญจีและสถูปภารหุต (ภาพที่ ๑) ที่ถือศาสนสถานสำคัญของอินเดียโบราณ โดยสัญลักษณ์มงคลดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดมาสู่ยังดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยทวารวดี


ภาพสลักคชลักษมีที่ปรากฏรูปปูรณกลศสถูปภารหุต ประเทศอินเดีย

ภาพที่ ๑ ภาพสลักคชลักษมีที่ปรากฏรูปปูรณกลศสถูปภารหุต ประเทศอินเดีย



ปูรณกลศในสมัยทวารวดี

อาณาจักรทวารวดี เป็นดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อตัวขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ คำว่า "ทวารวดี” มีการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง (Hiun Tsang) และหลวงจีนอี้จิง (I-Tsing) [๑] ได้กล่าวถึงอาณาจักร โถโลโปตี้ (Tolopoti) ตรงกับคำไทยว่า ทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร (พม่า) และเมืองอีศานปุระ (เขมร) [๒] จากการค้นพบแหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุ จึงมีการสันนิษฐานว่า อาณาจักรทวารวดีน่าจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย และแผ่ขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคต่างๆ

อาณาจักรทวารวดี ปกครองด้วยกษัตริย์จากหลักฐานการขุดค้นที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และการค้นพบแผ่นทองแดงศิลปะสมัยทวารวดี กล่าวถึงพระนาม พระเจ้าหรรษวรมัน [๓] ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพระนามของกษัตริย์แห่งทวารวดี นอกจากนี้ ยังมีการพบเหรียญเงินที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม ปรากฏอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต ถอดความได้ว่า "ศรีทวารวตี ศวรปุณยะ” ซึ่งแปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี” [๔] อาณาจักรแห่งนี้ได้รับคติความเชื่อด้านวัฒนธรรม ด้านศาสนามาจากอินเดียผ่านทางพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาค้าขาย และการเผยแพร่ศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์

ในสมัยทวารวดีพบสัญลักษณ์ปูรณกลศในงานศิลปกรรมตามคติความเชื่อทางศาสนา ปรากฏเป็นภาพสัญลักษณ์บนหน้าเหรียญเงิน ตราประทับ และใบเสมา นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้สัญลักษณ์ปูรณกลศประกอบร่วมกับลวดลายมงคลประเภทอื่นๆ ที่รับอิทธิพลมาจากอินเดียด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย ลายตรีศูล สังข์ จักร ศรีวัตสะ ปลาคู่ สวัสดิกะ และดอกบัว เรียกว่า อัษฏมงคล หรือสัญลักษณ์มงคล ๘ ประการ ซึ่งพบลวดลายดังกล่าวประดับอยู่ในงานช่างเนื่องในศาสนาและที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ โดยในสมัยทวารวดีได้พบหลักฐานการใช้ปูรณกลศเป็นสัญลักษณ์มงคลในงานศิลปกรรม ดังนี้


๑. ปูรณกลศในงานประติมากรรม

- แผ่นดินเผาภาพคชลักษมี พบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (ภาพที่ ๒-๓) ปรากฏรูป ปูรณกลศที่สื่อความหมายถึงพิธีกรรมของกษัตริย์เพื่อยกฐานะให้เทียบเท่าเทพเจ้านั่นคือ พิธีราชสูยะ (พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์อินเดียสมัยโบราณ) อยู่บนแผ่นดินเผาลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางล้อมด้วยกลีบบัว ๒ ชั้น ตอนบนสลักเป็นคชลักษมี ถัดลงมาเป็นรูปแส้ (จามร) วัชระ ขอสับช้าง (อังศุกะ) พักโบก (วาลวิชนี) ฉัตร ปลา และสังข์อย่างละคู่ และมีหม้อน้ำปูรณกลศอยู่ด้านล่าง ตรงมุมทั้ง ๔ ทำเป็นรูปดอกบัวเสี้ยวเดียว ซึ่งสันนิษฐานว่า ใช้สำหรับรองรับหม้อน้ำปูรณกลศ เพื่อใช้สรงน้ำเทพและเทพีในพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ทวารวดี [๕]



แผ่นดินเผาภาพคชลักษมี

ภาพที่ ๒ - ๓ แผ่นดินเผาภาพคชลักษมี พร้อมด้วยสัญลักษณ์มงคลและเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์พบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


- แผ่นเสมาหินสลักภาพปูรณกลศ (ภาพที่ ๔) ซึ่งพบในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะเป็นรูปหม้อทรงกรวยแหลมสูง สำหรับการสร้างเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีนั้น ก็เพื่อแสดงเครื่องหมายของสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง และรูปของปูรณกลศที่พบบนใบเสมานั้น มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องสังเวยในพิธีกรรม จำพวกบายศรี [๖] ที่สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน


ใบเสมารูปหม้อน้ำ

ภาพที่ ๔ ใบเสมารูปหม้อน้ำ


- ปูรณกลศบนตราประทับสมัยทวารวดี (ภาพที่ ๕) ที่พบตามเมืองท่าและเมืองสำคัญๆ [๗] สันนิษฐานว่าเป็นของพวกพ่อค้าที่นำติดตัวเข้ามา ถือว่าเป็นสัญลักษณ์มงคล เพื่อให้เกิดโชคลาภและความร่ำรวยจากการค้า


ตราประทับรูปปูรณกลศ

ภาพที่ ๕ ตราประทับรูปปูรณกลศ


สถูปทรงปูรณกลศ

ภาพที่ ๖ สถูปทรงปูรณกลศ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


๒. ปูรณกลศในงานสถาปัตยกรรม

ในสมัยทวารวดีนิยมสร้างสถูป เพื่ออุทิศแก่พระพุทธศาสนา รูปแบบที่สร้างจะเป็นทรงปูรณกลศ (ภาพที่ ๖) เพื่อแสดงถึงความสมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองในพุทธศาสนา


๓. ปูรณกลศบนเหรียญสมัยทวารวดี

ในประเทศไทยได้มีการค้นพบเหรียญเงินสมัยทวารวดี เป็นเหรียญที่มีการผลิตเหรียญขึ้นเอง เพราะมีการกล่าวถึงกษัตริย์และชื่อเมือง โดยทั่วไปลักษณะของเหรียญเงินสมัยทวารวดี จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๗ – ๓ เซนติเมตร สำหรับสัญลักษณ์ปูรณกลศที่ปรากฏเป็นลวดลายบนเหรียญสมัยทวารวดี มี ๒ แบบดังนี้

๓.๑ เหรียญปูรณกลศ – จารึกอักษรปัลลวะ

ด้านหน้าเป็นรูปปูรณกลศที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ด้านหลังมีจารึกอักษร ปัลลวะ (ภาพที่ ๖) ความว่า "ศรีทวารวตี ศวรปุณยะ” แปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี เป็นหลักฐานยืนยันถึงอาณาจักรทวารวดี โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง เชื่อกันว่า เป็นเหรียญที่ทำขึ้นตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา


เหรียญเงินสมัยทวารวดีรูปปูรณกลศ

ภาพที่ ๖ เหรียญเงินสมัยทวารวดีรูปปูรณกลศ - อักษรโยราณ ที่มา : หนังสือชุดพิพิธภัณฑ์ "วิวัฒนาการเงินตราไทย พ.ศ.๖๐๐ - ๒๕๔๐"



๓.๒ เหรียญปูรณกลศ – ศรีวัตสะ

ด้านหน้าเป็นรูปปูรณกลศ ด้านหลังเป็นรูปศรีวัตสะ (ภาพที่ ๗) แสดงถึงความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร ภายในศรีวัตสะเป็นรูปวัชระคู่ (อาวุธของพระอินทร์) เป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจของกษัตริย์ ด้านบนศรีวัตสะมีสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ และพระจันทร์เสี้ยว อันหมายถึงท้องฟ้าหรือจักรวาล ด้านข้างซ้ายขวาขนาบด้วยรูปอาวุธเทพเจ้า คฑาหรืออังกุศ ส่วนด้านล่างศรีวัตสะเป็นรูปปลา ซึ่งมีความหมายแทนสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน



เหรียญเงินสมัยทวารวดี


ภาพที่ ๗ เหรียญเงินสมัยทวารวดี รูปปูรณกลศ - ศรีวัตสะ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญ


 

เหรียญเงินถือเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของอาณาจักรทวารวดี แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับอาณาจักรภายนอก รวมถึงการค้นพบเหรียญเงินในที่ต่างๆ ทำให้ทราบถึงขอบเขตของอาณาจักรทวารวดีได้เป็นอย่างดี

จากหลักฐานข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ปูรณกลศเป็นสัญลักษณ์มงคลที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง การก่อกำเนิด และการสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียผ่านคติความเชื่อทางศาสนาทั้งในศาสนาพุทธและพราหมณ์ ที่เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมกับการติดต่อค้าขายของพ่อค้าชาวอินเดีย โดยปรากฏหลักฐานในงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ เนื่องในศาสนา นอกจากนี้ ยังใช้ร่วมกับสัญลักษณ์มงคลอื่นๆ เพื่อสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อพิธีกรรมที่แสดงถึงอำนาจและฐานะของกษัตริย์สมัยทวารวดี


* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน  สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

[๑] หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐, (กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระราชูปถัมถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ๒๕๓๕), หน้า ๒๑.
[๒] ฌอง บวสเซอลิเยร์, เมืองอู่ทองและความสำคัญของเมืองอู่ทองในประวัติศาสตร์ไทย, แปลโดย มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๙), หน้า ๓.
[๓] ฌอง บวสเซอลิเยร์, เรื่องเดิม, หน้า ๑๐-๒๐
[๔] หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, เรื่องเดิม, หน้า ๒๖.
[๕] ผาสุข อินทราวุธ, สุวรรณภูมิจากหลักฐานโบราณคดี, กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ ๑, พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑๒๐.
[๖] รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ทวารวดีในอีสาน, (กรุงเทพฯ : มติชน. ๒๕๕๘), หน้า ๒๒๐.
[๗] ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี, (กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, ๒๕๔๒), หน้า ๑๓.


บรรณานุกรม

เฉลิม ยงบุญเกิด. กระษาปณ์ไทย. พระนคร : โรงพิมพ์ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ, ๒๕๐๙. 
ชะเอม แก้วคล้าย .แปล จารึกเหรียญเงินทวารวดี : หลักฐานใหม่. ศิลปากร. ปีที่ ๓๔ เล่มที่ ๒, ๒๕๓๔.
ฌอง บวสเซอลิเยร์. เมืองอู่ทองและความสำคัญของเมืองอู่ทองในประวัติศาสตร์ไทย. แปลโดย มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล. โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๙. 



ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 562
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 294
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 405
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..