จับปิ้ง : อาภรณ์ของเยาวสตรีในอดีต
จับปิ้ง : อาภรณ์ของเยาวสตรีในอดีต
24/8/2561 / 37 / สร้างโดย Web Admin

ศราวุฒิ วัชระปันตี*

มนุษย์รู้จักใช้วัสดุมีค่า มีความสวยงาม มาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ความนิยมสวมใส่เครื่องประดับร่างกายยังคงมีอย่างต่อเนื่อง มีการประดิษฐ์เครื่องประดับขึ้นมามากมายหลากหลายประเภท ให้เหมาะสมกับ เพศ วัย และฐานะ ซึ่งสะท้อนให้เห็น ภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์ ค่านิยม และยังบ่งบอกถึงสถานะภาพทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และความเชื่อของผู้คนแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างด

เครื่องประดับสำหรับเด็กในสมัยโบราณจะมีลักษณะคล้ายกับของผู้ใหญ่แต่จะมีขนาดที่เล็กกว่า และมักจะมีลูกกระพรวนหรือกระพรวนโลหะขนาดเล็กติดห้อยไว้ เพื่อให้เกิดเสียงดังทำให้ทราบว่าเด็กคลานหรือ วิ่งเล่นอยู่ที่ใด เครื่องประดับสำหรับเด็กบางชนิดนอกจากจะใช้ประดับตกแต่งร่างกายให้งดงามแล้วยังแฝงด้วยความเชื่อในสิ่งลี้ลับและการป้องภัยจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น ซึ่งเครื่องประดับเหล่านี้ค่อยเลือนหายไปจากสังคมไทยในปัจจุบัน ตามวัฒนธรรม ความเชื่อที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย


ปกปิดและปกป้อง

เครื่องประดับสำหรับเด็กประเภทหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ และในปัจจุบันมีน้อยคนที่จะรู้จัก คือ จับปิ้ง หรือ กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง ซึ่งสันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า "Caping” ในภาษามลายู ถือเป็นเครื่องประดับสำหรับเด็กอย่างหนึ่ง ใช้สวมใส่เพื่อปกปิดอวัยวะเพศของเด็กโดยใช้ผูกที่บั้นเอว พบทั่วไปในดินแดนอินเดียตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทุกภาคของไทย

จับปิ้งเป็นเครื่องประดับที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า ในอินเดียตอนใต้ มีเครื่องประดับของชาวทมิฬที่มีลักษณะและการใช้งานคล้ายกับจับปิ้ง ที่เรียกว่า Araimudi หรือ Araimuti [๑] ในภาษาทมิฬเป็นแผ่นโลหะเงินหรือทองคำขนาดเล็ก รูปหัวใจ ใช้ปกปิดอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายและถือเป็นเครื่องรางที่คุ้มครองผู้สวมใส่จากวิญญาณร้ายและอันตรายต่าง ๆ [๒]


Araimudi ในอินเดียตอนใต้

ภาพ Araimudi ในอินเดียตอนใต้ จาก https://commons.wikimedia.orh/File:Araimudi.jpg


จากอินเดียสู่มลายู

ธรรมเนียมการใช้จับปิ้งเป็นเครื่องประดับสำหรับเด็กได้แพร่หลายเข้ามาในคาบสมุทรมลายูในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ – ๑๓ โดยพบหลักฐานการใช้จับปิ้งในตอนเหนือและชายฝั่งทะเลตะวันออกของมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบในหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย โดยใช้สวมใส่ให้กับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเมื่อสามารถยืนหรือเดินได้ ซึ่งมีอายุประมาณ ๑ ขวบ เชื่อว่าจับปิ้งเป็นเครื่องรางที่คุ้มครองผู้สวมใส่จากวิญญาณร้ายและอันตรายต่าง ๆ ในการผูกจับปิ้งแก่เด็กๆ นั้นจะมีการประกอบพิธีกรรมโดยหมอชาวบ้านหรือแพทย์แผนโบราณ (Bomoh) จับปิ้งในแถบนี้จะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจหรือใบโพ ลวดลายที่สลักตกแต่งลงลงบนจับปิ้งมี ๒ รูปแบบ คือ ลายพันธุ์พฤกษาใช้สลักบนจับปิ้งสำหรับเด็กผู้หญิง ส่วนลายกากบาท (เครื่องหมาย +) ใช้สลักบนจับปิ้งสำหรับเด็กผู้ชาย นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการใช้จับปิ้งในราชสำนัก ซึ่งทำด้วยโลหะมีค่า เช่น ทองคำ และมีการสงวนการใช้เชือกสีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว และสีม่วง [๓] ที่ใช้ในการผูกจับปิ้งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายในราชตระกูล



จับปิ้งเงินสลักลายกากบาทสำหรับเด็กผู้ชาย


จับปิ้งเงินสลักลายกากบาทสำหรับเด็กผู้ชาย พบในเกาะสุลาเวสี ประเทศอินเดีย จากหนังสือ Ethnic Jewellery from Indonesia


จับปิ้งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์พบในเกาะสุลาเวสี

จับปิ้งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์พบในเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย จากหนังสือ Ethnic Jewellery from Indonesia


อาภรณ์ของเยาวสตรีสยาม

ธรรมเนียมการผูกจับปิ้งในสยามมีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จากการขุดค้นทางโบราณคดี มีการค้นพบจับปิ้งสำริด สลักเป็นภาพนางรำ เป็นศิลปะสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากคาบสมุทรมลายู ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐาน การจำหน่ายจับปิ้งโดยในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้กล่าวถึงแหล่งจำหน่ายเครื่องเงินไว้ว่า "ถนนย่านป่าขันเงินมีร้านขายขันขายผอบตลับซองเครื่องเงินแลถมยาดำ กำใลมือแลท้าว ปิ่นซ่นปิ่นเขม กระจับปิ้ง พริกเทศ ขุนเพ็ด สายสะอิ้ง สังวาลทองคำขี้รักแลสายลวด ชื่อตลาดขันเงิน”


ภาพเด็กผู้หญิงสวมจับปิ้ง จาก หังสือการแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์


ภาพเด็กผู้หญิงสวมจับปิ้ง จากหนังสือการแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์


ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ธรรมเนียมการผูกจับปิ้งก็ยังคงได้รับความนิยม ดังปรากฏพระราชบัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้น ในพ.ศ.๒๓๔๒ ความว่า "จะแต่งบุตรแลหลานก็ให้ใส่แต่จี้ เสมา ภัคจั่น จำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าให้ประดับเพชร ถมญาราชาวะดี ลูกปะวะหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยว อย่าให้มีกระจังประจำยาม ๔ ทิศ แลอย่าให้ใส่กระจับปิ้ง พริกเทศทองคำ กำไลทองคำใส่เท้า อย่าให้ข้าราชการผู้น้อยแลราษฎรกั้นร่มผ้าศรีผึ้งแลกระทำให้ผิดด้วยอย่างทำเนียมบันดาศักดิเป็นอันขาดเดียว”

นอกจากนี้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นเหมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนสภาพสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม ได้กล่าวถึงนางพิมได้ผูกจับปิ้งเมื่อครั้งเป็นเด็ก ไว้ดังนี้


สมภารได้ฟังตอบไป
มันมีผัวได้แล้วฤๅหวา
เมื่อปีกลายกูได้เห็นมันมา
ยังอาบน้ำแก้ผ้าตาแดงแดง
ผูกจับปิ้งเที่ยววิ่งอยู่ในวัด
มันหักตัดต้นไม้ไล่ยื้อแย่ง
กูเอาไม้เท้าง่ามไล่ตามแทง
เกลียดน้ำหน้าตาแช่งอยู่ทุกวัน


ชาวไทยหรือชาวสยามนิยมผูกจับปิ้งให้กับเด็กผู้หญิง ซึ่งจัดทำด้วยวัสดุที่หลากหลายตามฐานะของผู้สวมใส่ นิยมทำด้วยโลหะที่ไม่เป็นสนิม โดยจับปิ้งสำหรับเจ้านาย และบุตรหลานขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มักทำด้วยทองคำ ส่วนของเด็กผู้หญิงทั่วไปมักทำด้วยเงินและนาก ส่วนผู้ที่มีฐานะยากจนจะใช้จับปิ้งจากกะลามะพร้าว ญาติผู้ใหญ่จะผูกจับปิ้งให้ลูกหลานหลังจากโกนผมไฟ จนกระทั่งอายุประมาณ ๑๐ – ๑๒ ขวบหรือกระทั่งโกนจุกจึงเลิกใช้จับปิ้งเปลี่ยนไปนุ่งห่มเสื้อผ้าตามฐานะ



ภาพเด็กผู้หญิงสวมจับปิ้ง

ภาพเด็กผู้หญิงสวมจับปิ้ง จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจังหวัดสงขลา


รูปลักษณ์ของจับปิ้งในสยาม

จับปิ้งในสยาม มี ๒ รูปทรง คือ

๑. จับปิ้งทรงทะนาน หรือรูปใบโพ มีขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือ โตพอที่จะปิดบังอวัยวะเพศของผู้สวมใส่ได้มิดชิด ตอนบนกลมป้อม ตอนล่างเรียวแหลม ตรงกลางโค้งนูนเป็น กระเปาะ ด้านหน้าสลักลวดลายต่างๆ เช่น ลายพันธุ์พฤกษา ด้านหลังเรียบเกลี้ยง ขอบด้านบนมีแท่งทรงกระบอกกลวงตรงกลาง หรือเจาะรูเล็กๆ ๒ รู ใช้ร้อยสร้อยหรือเชือกสำหรับ ผูกบริเวณบั้นเอว ขอบจับปิ้งมักเลี่ยมให้มนเพื่อป้องกันไม่ให้บาดเนื้อผู้สวมใส่ [๔]


จับปิ้งทรงทะนานหรือรูปใบโพ


จับปิ้งทรงทะนานหรือรูปใบโพ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจังหวัดสงขลา


๒. จับปิ้งทรงร่างแห ถักด้วยเส้นโลหะขึ้นเป็นแผ่นค่อนข้างโปร่งรูปร่างคล้ายกระเบื้องเกล็ดเต่าหรือรูปสี่เหลี่ยมชายแหลม ตอนบนจะมีห่วงสำหรับร้อยสร้อยสำหรับผูกกับบั้นเอว


จับปิ้งเงินร่างแห

จับปิ้งเงินทรงร่างแหจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจังหวัดสงขลา


ภาพจิตกรรมฝาผนัง

ภาพจิตกรรมฝาผนังรูปเด็กผู้ชายอุ้มไก่สายรัดเอว จากหนังสือการแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์


สายรัดเอว

สายรัดเอว ประดับพริกเทศหรือขุนเพ็ด สำหรับสวมใส่ให้เด็กผู้ชาย จาก หนังสือถนิมพิมพาภรณ์


โดยสรุปจะเห็นได้ว่า จับปิ้งเป็นเครื่องประดับสำหรับเด็กที่มีความเป็นมายาวนานหลายศตวรรษ มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการใช้ตามความนิยม และกาลเวลา นอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับ เพื่อความสวยงาม และใช้ปกปิดร่างกายของเด็กแล้ว การผูกจับปิ้งยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตที่จะเบี่ยงเบนความสนใจผู้พบเห็นไม่ให้สนใจกับอวัยวะเพศมาก และ ที่สำคัญเป็นการปลูกฝังว่าอวัยวะเพศเป็นของสงวน ต่อมาความนิยมในการใช้จับปิ้งเป็นเครื่องประดับสำหรับเด็กผู้หญิงได้คลายลง และได้ถูกแทนที่ด้วยกางเกงชั้นในหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็ก เนื่องด้วยวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป


จับปิ้ง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ

ปัจจุบันจับปิ้งกลายเป็นเครื่องประดับที่หายาก และเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่า อีกทั้งพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้นำจับปิ้งมาใช้เป็นวัตถุจัดแสดงเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของสังคมไทยในอดีต โดยในส่วนของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ได้คัดเลือกจับปิ้งที่มีความวิจิตร งดงาม ประณีต ละเอียดอ่อนด้วยฝีมือช่างโบราณในราชสำนัก จัดสร้างด้วยวัตถุสูงค่า ออกจัดแสดงให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และชื่นชม ความงดงาม ในห้องนิทรรศการเครื่องประดับและอัญมณี ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จับปิ้งที่นำออกจัดแสดง มีด้วยกัน ๓ ชิ้น ดังนี้


๑. จับปิ้งทองคำประดับทับทิม เป็นจับปิ้งรูปใบโพตรงกลางนูน ทำด้วยทองคำ สลักลายใบเทศประดับด้วยทับทิม ด้านบนมีแท่งทรงกระบอกกลวงตรงกลาง สำหรับร้อยสายสร้อย

 

จับปิ้งทองคำประดับทับทิม


๒. จับปิ้งเงินถมตะทอง เป็นจับปิ้งรูปใบโพ ทำด้วยเงินถมตะทอง ตรงกลางนูน สลักดุนลายตรงกลางเป็นลายดอกใบเทศ ขอบด้านข้างเป็นลายใบเทศ มุมด้านบนประดับด้วยดอกไม้สี่กลีบ มุมด้านล่างประดับด้วยกระจังใบเทศ ด้านบนมีห่วงสำหรับร้อยสายสร้อย


จับปิ้งเงินถมตะทอง


๓. จับปิ้งเงินถมตะทอง เป็นจับปิ้งรูปใบโพ ทำด้วยเงินถมตะทอง ตรงกลางนูน สลักดุนลายรักร้อยใบเทศและลายก้านต่อดอกใบเทศโดยรอบ มุมด้านบนประดับด้วยดอกลำดวน มุมด้านล่างประดับด้วยกระจัง ใบเทศ ด้านบนทำเป็นหลอดสำหรับร้อยสายสร้อย

บทความเรื่องนี้สำเร็จลงได้ผู้เขียนขอขอบคุณ นางสาวสุวรา สาครสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ นางสาวนุศรา ปานนาค พนักงานนำชม นางสาวณัฐปาล ไชยยะ นักศึกษาฝึกงาน ที่สละเวลาในการแปลข้อมูลจากเอกสารต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนบทความ



* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
E- mail: peekhanun@hotmail.com


[๑] Arai หมายถึง บริเวณสะโพกรวมถึงอวัยวะเพศ ส่วน mudi หมายถึง ผ้าคลุม ที่บังตา Araimudi เรียกได้อีกอย่างว่า Genital shield
[๒] A.Sahayadoss and A. Saghayamary, Traditional Clothing of Dravidians with special reference ti Arimuti (Genital Shield). สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙
[๓] Mohd Kassim HJ Ali, Traditional Malaysian Jewellery, (Malaysia: Prin ad sdn bhd. 2007), หน้า ๑๑๒.
[๔] จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. จะปิ้ง. สารภาษาไทย ๑, ๒ (ต.ค - ธ.ค. ๒๕๔๔) : ๗๐.



บรรณานุกรม

ภาษาไทย
กาญจนา โอษฐ์ยิ้มพราย, อลงกรณ์ จันทร์สุข. กิน อยู่ อย่างไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้. ๒๕๕๒.
คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: โครงการเลือกสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ๒๕๔๗.
จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. จะปิ้ง. สารภาษาไทย ๑, ๒ (ต.ค - ธ.ค. ๒๕๔๔) : ๖๙ - ๗๒.
ภิญโญ จิตต์ธรรม. ตะปิ้ง. คุรุปริทัศน์ ๑๓ (ก.ค. ๒๕๓๑) : ๗๙
ราชบัณฑิตยสถาน. กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. ๒๕๕๐.
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงบันทึกประทานพระยาอนุมานราชธน. พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์. ๒๕๐๖.
ส่งศรี ประพัฒน์ทอง,บรรณาธิการ. ถนิมพิมพาภรณ์. พิมพ์ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕. กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ กรมศิลปากร. ๒๕๓๕.
อเนก นาวิกมูล. การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. ๒๕๔๗

ภาษาต่างประเทศ
Anne Richter. Gold jewellery of the Indonesian Archipelago. Singapore : Editions Didier Millet, 2012.
___________. The jewelry of Southeast Asia. London: Thames & Hudson. 2000.
A.Sahayadoss and A. Saghayamary. Traditional Clothing of Dravidians with special reference ti Arimuti (Genital Shield). สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙
Anthony Frede. TATAP. Kuching in and out 4 (oct –nov 2013) : 22 – 23.
Bruce W.Carpanter. Ethnic jewellery from Indonesia: continuity and evolution. Singapore: Editions Didier Millet. 2011.
Mohd Kassim HJ Ali. Traditional Malaysian Jewellery. Malaysia: Prin ad sdn bhd. 2007.

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 560
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 289
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 404
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..