เครื่องถ้วยจักรี : เครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจากตะวันตก
เครื่องถ้วยจักรี : เครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจากตะวันตก
23/8/2561 / 22 / สร้างโดย Web Admin

ดาวนภา เนาวรังษี*

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการนำความรู้ วิทยาการสมัยใหม่ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมต่างๆ จากประเทศทางตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ พระองค์ทรงศึกษาวิชาการต่างประเทศ จากการเสด็จประพาสสิงคโปร์ อินเดีย ยุโรป อันส่งผลให้เกิดการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เทียบเท่ากับประเทศทางตะวันตก มีการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยไปสู่ความเจริญและความทันสมัยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้แต่เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในราชสำนักก็เช่นกัน ในสมัยนี้เองพบว่า มีการนำเครื่องปั้นดินเผาจากประเทศทางตะวันตกมาใช้งาน ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและเครื่องถ้วยปั้น ความว่า


"เครื่องถ้วยที่มีเข้ามาในเมืองไทย เมื่อในรัชกาลที่ ๕ มีมากทั้งเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยฝรั่ง ใช้เป็นเครื่องใช้และเป็นเครื่องตกแต่งบ้านเรือนทั้ง ๓ อย่าง จานชามเครื่องใส่กับข้าวของกิน ผู้ดีมักใช้เครื่องถ้วยฝรั่ง ใช้ของตามรูปและลวดลายฝรั่งโดยมาก...”

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการสั่งทำชุดเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองจากประเทศฝรั่งเศส หรือที่เรียกว่า "เครื่องถ้วยจักรี” สำหรับเป็นของพระราชทานอีกด้วย


เครื่องถ้วยจักรี

"เครื่องถ้วยจักรี” เป็นเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมอบหมายให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจสั่งทำจากโรงงานแซฟวร์ (Servres) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องกระเบื้องประจำราชสำนักฝรั่งเศส ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อพระราชทานเป็นของที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระอรรคชายา พระราชโอรส และพระราชธิดา รวม ๔ พระองค์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ที่สิ้นพระชนม์ภายในปีเดียวกัน ได้แก่

๑. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๐

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย สิ้นพระชนม์เมื่อ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๐

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง สิ้นพระชนม์เมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๐

๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐


ลักษณะของเครื่องถ้วยจักรี


เครื่องถ้วยจักรีสีเหลือง

เคื่องถ้วยจักรีสีเหลือง ที่มาภาพ : ทรงวิทย์ แก้วสรี, พระมหากรุณาธิคุณ ๑๐๐ ปี ศิริราช, กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑, หน้า ๘๕.


ลายดอกเดซี่บนเครื่องถ้วยจักรี

ลายดอกเดซี่บนเครื่องถ้วยจักรีตัดเส้นด้วยสีทองกลีบดอกสีขาว


เครื่องถ้วยจักรี จัดอยู่ในหมวดหมู่เครื่องกระเบื้องเนื้อพอร์ซเลน (Porcelain) อันเป็นเครื่องถ้วยเคลือบที่เผาในอุณหภูมิสูง และเคลือบได้สีต่างๆ มากขึ้น ถือเป็นเครื่องกระเบื้องแบบฝรั่งเขียนสีและลายน้ำทอง มีลักษณะเป็นถ้วยตวง หรือถ้วยชาทรงบัว มีฝาจุกทรงวงแหวนเขียนขอบสีทอง ภายในวงแหวนเขียนรูปจักรและรูปตรี สัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี อันเป็นที่มาของชื่อเรียกเครื่องถ้วยชนิดนี้ว่า "เครื่องถ้วยจักรี" ตัวถ้วยและฝาเขียนลายดอกเดซี่ (Daisy) แบบฝรั่ง ที่ลวดลายดอกและใบตัดเส้นด้วยสีทอง เกสรตามสีพื้น กลีบดอกสีขาว สำหรับชุดสีทองและสีเงินนี้กลีบดอกไม้จะมีสี


รูปจักรและรูปตรี สัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี

รูปจักรและรูปตรี สัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี


เครื่องถ้วยจักรี มีพื้นสีต่างๆ กัน ๙ สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีชมพู สีเขียว สีขาว สีฟ้า สีดำ สีทอง และสีเงิน โดยทรงสั่งทำเป็น ๒ ขนาด ได้แก่

๑. ชุดขนาดมาตรฐาน สำหรับพระราชทานเจ้านายหรือขุนนางชั้นสูง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่

๒. ชุดขนาดเล็กกว่าชุดขนาดมาตรฐาน หรือที่เรียกว่า "ชุดเจ้าฟ้า” สำหรับพระราชทานเจ้านายฝ่ายในและเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์


ศ ร ก

เครื่องถ้วยจักรีเฉพาะที่เป้นของที่ระลึกของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราช กกุธภัณฑ์ ที่ก้นถ้วยจะมีตัวอักษรไขว้ "ศ ร ก ๑๒๔๙" โดย ศ ร ก คือตัวอักษร พระนามย่อของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ ส่วนเลข ๑๒๔๙ คือ เลขบอกปีจุลศักราชที่จัดงาน ได้แก่ จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐)


นอกจากนี้ยังมีการผลิตถาดสำหรับรองเครื่องถ้วยจักรี แบ่งออกเป็น ๒ แบบ ได้แก่

๑. แบบตะกร้าหวายสาน มีหู ๒ หู ทำจากเงินหรือกะไหล่ทอง ตรงกลางถาดมีลิ้นหรือแผ่นรองฉลุข้อความว่า "งานพระเมรุ ท้องสนามหลวง ปีกุน ๑๒๔๙” และมีอักษรไขว้ ศ ร ก


ถาดรองแบบที่ ๑ แบบตระกร้าหวายสาน

ถาดรองแบบที่ ๑ แบบตระกร้าหวายสาน ที่มาภาพ : ทรงวิทย์ แก้วสรี, พระมหากรุณาธิคุณ ๑๐๐ ปี ศิริราช, กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑, หน้า ๙๕.

๒. แบบถาดทรงกลม ตัวขอบถาดสูงตกแต่งด้วยลายลงยาดอกเดซี่แบบเดียวกับลายถ้วยชา ขาถาดเป็นขาปุ่มกลม ๔ ขา ตรงกลางถาดมีลิ้นหรือแผ่นรองรูปกลม ตรงกลางฉลุโปร่ง ลายอักษรพระปรมาภิไธย จปร.


ถาดรองแบบที่ ๒ แบบถากทรงกลม

ถาดรองแบบที่ ๒ แบบถากทรงกลม ที่มาภาพ : ทรงวิทย์ แก้วสรี, พระมหากรุณาธิคุณ ๑๐๐ ปี ศิริราช, กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑, หน้า ๙๘.

รูปแบบการจัดชุดน้ำชาเครื่องถ้วยจักรี

เครื่องถ้วยจักรี สามารถแบ่งรูปแบบการจัดวางแบบชุดน้ำชา ได้ ๔ แบบ ดังนี้

๑. ชุดเครื่องไทยปั้นคู่ ประกอบด้วย ถาดรอง ปั้นชาแบบปั้นเท้าปุ่ม พร้อมจานรองปั้น ๑ คู่ และ ถ้วยตวงหรือถ้วยน้ำชาทรงบัวพร้อมฝา ๔ ใบ


ชุดเครื่องไทยปั้นคู่

ชุดเครื่องไทยปั้นคู่ ที่มาภาพ : ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย,กรุงเทพฯ : แอคมี พริ้นติ้ง. ๒๕๓๓, หน้า ๑๖๕.


๒. ชุดเครื่องจีโบ[๑] ประกอบด้วย ถาดรอง ปั้นชาแบบปั้นเท้าปุ่มพร้อมจานรองปั้น ๑ คู่ ถ้วยทรงจีโบพร้อมฝาสำหรับชงชา ๒ ใบ และถ้วยทรงจีโบพร้อมฝาขนาดเล็ก สำหรับตวง ๔ ใบ


ชุดเครื่องจีโบ

ชุดเครื่องจีโบ ที่มาภาพ : ทรงวิทย์ แก้วสรี, พระมหากรุณาธิคุณ ๑๐๐ ปี ศิริราช, กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑, หน้า ๘๘.


๓. ชุดแบบจีน ประกอบด้วย ถาดรอง ถ้วยชงชาพร้อมฝาทรงจีโบ ๑ ใบ อ่างรองถ้วยชงชาทรงบัว ๑ ใบ และถ้วยตวงหรือถ้วยน้ำชาไม่มีฝา ๔ ใบ


ชุดแบบจีน

ชุดแบบจีน ที่มาภาพ : เว็บไซต์ http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/20653-031023/


๔. ชุดดาวล้อมเดือน ประกอบด้วย ถาดรอง ปั้นชาแบบปั้นเท้าปุ่ม พร้อมจานรองปั้น ๑ คู่ไว้ตรงกลางถ้วยตวงหรือถ้วยน้ำชาทรงบัวมีฝา ๘ ใบ ล้อมรอบ ส่วนใหญ่เป็นชุดเจ้าฟ้า


ชุดดาวล้อมเดือน (สีชมพู)

ชุดดาวล้อมเดือน (สีชมพู) ที่มาภาพ : ทรงวิทย์ แก้วสรี, พระมหากรุณาธิคุณ ๑๐๐ ปี ศิริราช, กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑, หน้า ๙๗.


"เครื่องถ้วยจักรี” ถือเป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ที่แสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมในศิลปะตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังเป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญที่สามารถอธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ได้เป็นอย่างดี



* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.
[๑] จีโบ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง หมวกโบราณชนิดหนึ่ง ทําด้วยขนสัตว์ ข้าง ๆ ยาวลงมาปกหูกันความหนาว นอกจากนี้ยังหมายถึง ชื่อเครื่องถ้วยชาชุดชนิดหนึ่ง.



บรรณานุกรม

นิดดา หงส์วิวัฒน์ และคณะ. เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง. กรุงเทพฯ : คติ, ๒๕๕๔.
ทรงวิทย์ แก้วศรี. พระมหากรุณาธิคุณ ๑๐๐ ปี ศิริราช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑.
นฤมล ธีรวัฒน์. พระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. นครสวรรค์ : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, ๒๕๕๑.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : แอคมี พรินติ้ง, ๒๕๓๓.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสง่า วรรณดิษฐ์, พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๑๑.
_______________. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๕๖.
สาโรจน์ มีวงษ์สม. เครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : เอส.ที.พี.เวิลด์ มีเดีย, ๒๕๔๒.


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..