แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
20/8/2561 / 23 / สร้างโดย Web Admin

ณัฐิกานต์ จันต๊ะยอด *

น้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มักจะถูกนำมาใช้ในการชำระล้างและดื่มกิน แต่บางวัฒนธรรมน้ำถือว่ามีความสำคัญในแง่ของการใช้ประกอบพิธีกรรมซึ่งแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในประเทศอินเดียที่มีการนับถือในลัทธิพราหมณ์-ฮินดู จะมีการใช้น้ำในการประกอบพิธีต่างๆ เช่น ปฐมาภิเษก เป็นการรดน้ำครั้งแรกในพิธีโกนผมไฟหรือพิธีลงท่า ราชาภิเษกคือ การรดน้ำเพื่อแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ สังคราภิเษก คือการรดน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนออกทำศึกสงคราม อาจารยภิเษก คือการรดน้ำเพื่อแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ ส่วนปราบดาภิเษก คือการรดน้ำเพื่อแสดงถึงการขึ้นเป็นกษัตริย์

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อคติความเชื่อในการสถาปนาผู้นำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระราชาจากอินเดียมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ กษัตริย์จะต้องผ่านพิธีสำคัญ คือ การอภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ เพื่อจะได้ดำรงตำแหน่งอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ โดยเฉพาะ "การอภิเษก” หรือมักเรียกว่า "อินทราภิเษก” [๑] ซึ่งเป็นพิธีที่มีความเกี่ยวข้องกับ "น้ำ” และถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุด ที่มีการใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ในการชำระล้างผู้ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่หรือย่างเข้าก้าวใหม่ของชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่ใหม่ ถือเป็นการรดน้ำเพื่อให้เป็นใหญ่ในโลก ซึ่งหมายถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือ "พระราชาธิราช” นั่นเอง


การสถาปนาผู้ที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งการเรียกชื่อพิธีการที่แตกต่างออกไป สำหรับในประเทศไทยนักวิชาการมีการสันนิษฐานว่าคงไม่ได้รับรูปแบบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียโดยตรง แต่น่าจะมีการรับผ่านจากพวก มอญ ชวา และเขมร โดยเรียกพระราชพิธีนี้ว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มาจากคำว่า พระราชพิธี + บรม + ราช + อภิเษก เป็นประเพณีสำคัญที่สุด จัดขึ้นในวโรกาสที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระราชพิธีในการสถาปนาให้พระองค์เป็นพระราชาธิบดีของราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์


สำหรับในประเทศไทยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือศิลาจารึกวัดศรีชุมสมัยสุโขทัย โดยนักวิชาการสันนิษฐานว่า จารึกนี้เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งกล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว ไว้ว่า "...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์...” [๒]


ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพบหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ในคำให้การของชาวกรุงเก่า โดยมีข้อความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ไว้ว่า "...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอามะเดื่อนั้นมาทำตั่งสำหรับประทับสงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น พระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว (จึงเสด็จไปประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ) มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์...” [๓] นอกจากนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยายังถูกรวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๖


ในสมัยกรุงธนบุรี ถึงไม่มีเอกสารที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางชิ้นที่แสดงถึงช่วงเวลาที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษก ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ เช่น จดหมายโหรในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘ ความว่า "ปีชวด จ.ศ. ๑๑๓๐ เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร แตกมาสู่โพธิสมภาร ได้เมืองนครเสมา ณ วัน ๓ฯ๔ ๑ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ แผ่นดินไหว ปีนี้เจ้าตากได้ราชสมบัติ อายุ ๓๔ ปี


ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ถือแบบอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานในพงศาวดารความว่า "เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จขึ้นผ่านพิภพ โดยคำอัญเชิญของบรรดาเสนามาตย์และราษฎรทั้งปวง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว ก็ได้ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขปก่อน แล้วจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า ซึ่งมีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและราชาคณะผู้ใหญ่ทำการสอบสวนค้นคว้าคัมภีร์และแบบแผนพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น เมื่อได้แบบแผนโดยสมบูรณ์และบ้านเมืองก็ว่างศึกสงครามลงแล้ว จึงได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘” [๔] และยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างในรัชกาลต่อมา ซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ดังนี้


๑. การเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก [๕] จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี

๒. พิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเจริญพระพุทธมนต์ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

๓. พิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วยพิธีสรงพระมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้ง ๘ ที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ

๔. พิธีเบื้องปลาย ประกอบด้วยการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและอัครมเหสีในรัชกาลองค์ก่อนๆ เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร และเสด็จเลียบพระนคร


แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กษัตริย์หรือผู้นำที่จะขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ในขั้นตอนการเตรียมพิธีจะต้องมีการตักน้ำจากแหล่งสำคัญๆ สำหรับนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งน้ำที่นำมาจะต้องมีความพิเศษกว่าน้ำธรรมดาทั่วไป โดยตามตำราโบราณของพราหมณ์ จะต้องเป็นน้ำที่มาจาก "ปัญจมหานที” หรือ แม่น้ำสายสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมทิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู โดยน้ำในแม่น้ำทั้ง ๕ จะไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่สถิตของพระอิศวร


สระเกษ สระยมนา สระคา

สระเกษ สระยมนา สระคา เป็นสามในสี่สระที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่นำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี


สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยอยุธยาแม้จะมีการกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ก็ไม่พบหลักฐานการนำน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีปมาใช้ในราชพิธี ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยในอดีตและประเทศอินเดียเป็นไปได้ยากที่จะนำน้ำจากปัญจมหานทีมาใช้ได้ เพราะตามธรรมเนียมประเพณีมาแต่เดิม เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จผ่านพิภพ จะต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายใน ๗ วัน หรืออย่างช้าภายในเดือนเศษ เป็นประเพณีสืบมาและกระทำกันก่อนที่จะถวายพระราชเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน จึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าจะนำน้ำมาจากชมพูทวีปจึงเป็นไปไม่ได้ แต่จากหลักฐานการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ปรากฏในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งสุโขทัยที่ได้กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองสุโขทัย และข้อความในศิลาจารึก (พ.ศ. ๑๑๓๒) ว่า "น้ำพุที่ออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภูใต้นครจำปาศักดิ์นั้นใช้เป็นน้ำอภิเษก” [๖] ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการใช้น้ำสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจากน้ำในสระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี [๗] เท่านั้น


ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนอกจากจะใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญอีก ๕ สาย เรียกกันว่า "เบญจสุทธิคงคา” ซึ่งตักมาจากเมืองต่างๆ ดังนี้

๑. น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี

๒. น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม

๓. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง

๔. น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี

๕. น้ำในแม่น้ำบางประกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก

โดยน้ำแต่ละแห่งจะตั้งพิธีเสก ณ ปูชนียสถานสำคัญแห่งเมืองนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีการต่อที่พระนคร


แม่น้ำเพชรบุรี

แม่น้ำเพชรบุรี หน้าวัดท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี


นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์เป็นพระครูพระปริตไทย ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงมุรธาภิเษก จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นอีกอย่าง


ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ก็ใช้น้ำเบญจสุทธิคงคา และน้ำในสระ ๔ สระ เมืองสุพรรณบุรี เป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับเคยใช้ในรัชกาลก่อนๆ ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงได้นำน้ำปัญจมหานทีที่มีการบันทึกในตำราของพราหมณ์ กลับมายังประเทศสยามด้วย และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อพระองค์ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ น้ำสรงมุรธาภิเษก จึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระทั้ง ๔ ของเมืองสุพรรณบุรีด้วย [๘]


เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงใช้น้ำมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ นอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานทีและน้ำทั้ง ๔ สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นๆ และแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล มาตั้งทำพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักพระมหานครโบราณ ๗ แห่ง ได้แก่


๑. แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ ทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาท โดยใช้น้ำสรงรอยพระพุทธ ทำพิธีเสกน้ำด้วย โดยถือว่าพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี เป็นปูชนียสานที่สำคัญในมณฑลที่เป็นที่ตั้งของเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา
๒. น้ำที่ทะเลแก้วและสระแก้ว เมืองพิษณุโลก และน้ำจากสระสองห้อง [๙] ทำพิธีที่พระวิหาร พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นปูชยสถานที่สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
๓. น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังไพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีในวิหารวัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญมาแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้าในสมัยสุโขทัย (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย)
๔. ตักน้ำในแม่น้ำนครชัยศรี ที่ตำบลบางแก้ว น้ำกลางหาว บนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ ทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญตั้งแต่สมัยทวารวดี
๕. น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ไปตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในจังหวัดนครศรีธรรมราช
๖. น้ำที่บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ตั้งทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพระเยา และนครเชียงใหม่
๗. น้ำที่บ่อวัดพระธาตุพนม ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองโคตรบูรณ์ในสมัยโบราณ (ภาคอีสาน)

และยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธีเสกน้ำ ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก ๑๐ มณฑล คือ

๑. วัดบรมธาตุ และวัดธรรมามูล จังหวัดชัยนาท มณฑลนครสวรรค์
๒. น้ำสระมหาชัย น้ำสระหินดาษ ทำพิธีเสกน้ำที่วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี
๓. น้ำสระแก้ว น้ำสระขวัญ น้ำธารปราสาท น้ำสระปักธงชัย ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระนารายณ์มหาราช (เดิมชื่อวัดกลาง) จังหวัดนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา
๔. น้ำท่าหอชัย น้ำกุดศรีมังคละ น้ำกุดพระฤาชัย ทำพิธีเสกน้ำที่วัดศรีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
๕. น้ำสระแก้ว น้ำธารนารายณ์ ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทรบุรี
๖. ตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญที่อำเภอต่างๆ มาทำพิธีที่วัดพระธาตุ เมืองไชยา มลฑลชุมพร
๗. น้ำสระวังพลายบัว น้ำบ่อทอง น้ำบ่อไชย น้ำบ่อฤาษี น้ำสะแก้ว ทำมาพิธีเสกน้ำที่วัดตานีนร-สโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี
๘. น้ำเขาโต๊ะแซะ น้ำเขาต้นไทร ทำพิธีเสกน้ำที่วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต
๙. วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์
๑๐. วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี

รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษก ๑๗ แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจนกระทั่งทุกวันนี้


บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง

บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช


ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม ๑๘ แห่ง ซึ่งสถานที่ตั้งทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ใช้สถานที่เดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ ๖ เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่ พระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด [๑๐]

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้นำน้ำตามมณฑลต่างๆ ๑๘ แห่ง เช่นเดียวกันกับในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาตักน้ำบ่อแก้ว และทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดน่านแทน [๑๒]

เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ได้ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยอัญเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันงานจึงอัญเชิญเข้าพิธีสวดพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า น้ำถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่นับถือพระอิศวร ซึ่งพระองค์ประทับ ณ เขาไกรลาศ จึงเชื่อกันว่า น้ำที่มาจากเขานี้เป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมาประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ เพื่อแสดงถึงการมีอำนาจเป็นผู้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าการนำน้ำจากปัญจมหานที เป็นไปได้ยากมากในอดีต จึงมีการหาแหล่งน้ำที่สำคัญๆ เพื่อใช้แทนน้ำปัญจมหานทีจากอินเดีย โดยในประเทศไทยพบว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยอยุธยามีการนำน้ำมาจากสระทั้ง ๔ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการนำน้ำจากแหล่งต่างๆ เพิ่มอีก ๕ สาย เรียกว่า เบญจสุทธิคงคา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในคราวที่เสด็จเยือนประเทศอินเดียจึงได้มีการนำน้ำปัญจมหานทีมาเป็นน้ำอภิเษกเพิ่ม และในสมัยรัชกาลที่ ๖ พบว่ามีการนำน้ำจากแหล่งต่างๆ ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานสำคัญๆ จำนวน ๗ แห่ง และจากวัดต่างๆ ใน ๑๐ มณฑล ซึ่งจะเห็นได้ว่า แหล่งน้ำเหล่านี้มาจากทั่วทุกภาคของไทย อาจมีความหมายเป็นนัยของการถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยใช้น้ำอภิเษกเป็นสัญลักษณ์



*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

[๑] ถือกันว่าเป็นต้นแบบของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือการสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นผู้ปกครองโลกมนุษย์ ที่มาของอำนาจพระอินทร์ เนื่องมาจากความเชื่อเรื่องการกวนเกษียรสมุทร เพื่อได้น้ำอมฤต โดยมีพระอินทร์เป็นผู้นำ ซึ่งในการสถาปนานี้จะต้องประกอบพิธีสำคัญที่เรียกว่า "อินทราภิเษก”
[๒] "จารึกวัดศรีชุม”, ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), หน้า ๖๓-๖๔.
[๓] คำให้การชาวกรุงเก่า (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕), หน้า ๒๖๑-๒๖๔.
[๔] ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์, พระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งกรุงรัตน์โกสินทร์, (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ๒๔๒๗), หน้า ๑.
[๕] น้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ (มุรธา แปลว่า พระเจ้า, เศียรพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)
[๖] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, เรื่องบรมราชาภิเษกและเรื่องพระราชวังบางปะอิน, (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ, ๒๕๐๙), หน้า ๑๑.
[๗] สระทั้ง ๔ เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในสมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ ของรัชกาลที่ ๖ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ท่าเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
[๘] ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์, เรื่องเดิม, หน้า ๔.
[๙] เป็นแหล่งน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วทุกรัชกาล แต่ในรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้ใช้ เพราะบริเวณสระสองห้องตื้นเขินไม่มีน้ำ เป็นป่าพงรกร้าง และสกปรก
[๑๐] ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์, เรื่องเดิม, หน้า ๔-๕.
[๑๑] พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในการเชิญพระบรมอัฐิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พุทธศักราช ๒๔๙๒, (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๙๒), หน้า ๕.
[๑๒] "กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทรา ธิราช และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พ.ศ. ๒๔๙๓,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๗ (๙ พฤษภาคม ๒๔๙๓), หน้า ๑๙๔๒-๑๙๔๓.

 
เอกสารอ้างอิง

กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พ.ศ. ๒๔๙๓. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๗ (๙ พฤษภาคม ๒๔๙๓).
คำให้การชาวกรุงเก่า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา. ๒๕๑๕.
จารึกวัดศรีชุม . ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๒๗.
พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์). จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในการเชิญพระบรมอัฐิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พุทธศักราช ๒๔๙๒. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม. ๒๔๙๒.
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. เรื่องบรมราชาภิเษกและเรื่องพระราชวังบางปะอิน. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ. ๒๕๐๙.
นภาพร เล้าสินวัฒนา. การเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธี คติ ความหมาย และสัญลักษณ์แห่ง "สมมติเทวราช”. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). พิมพ์ครั้งที่ ๒. ๒๕๔๙.
ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์. พระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งกรุงรัตน์โกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. ๒๔๒๗.
สุจรรยา เหลืองธาดา. พระราชพิธีบรมราชภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๑๓.
ศราวุฒิ วัชระปันตี. พระราชพิธีบรมราชภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. สารนิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยศึกษา). ๒๕๔๙.

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 563
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..