ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) เป็นยุคที่สยามประเทศมีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อันเกิดจากกระแสวัฒนธรรมตะวันตก ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น ในราชสำนักไทยก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แทนการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศที่เคยมีมาแต่โบราณ ปัจจุบันมีการพระราชทานเครื่องประกอบอิสริยยศแก่เจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเฉพาะในโอกาสสำคัญที่มีการเลื่อนพระอิสริยยศให้สูงขึ้นและพระราชทานให้ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าถ่ายภาพไว้เป็นเกียรติยศเท่านั้น ดังเช่นการพระราชทานเครื่องราชูปโภคเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญและสูงสุดของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าฝ่ายใน ที่ไม่เคยปรากฏในรัชกาลก่อน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคราวสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ [๑] ปัจจุบันเครื่องราชูปโภคทองคำในเครื่องประกอบพระอิสริยยศดังกล่าว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมภายในศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศชุดนี้ (ภาพที่ ๑) ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และเคยโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกอบพระอิสริยยศสมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗[๒] มาก่อน และเป็นเครื่องราชูปโภคทองคำลงยาสีชมพูที่มีความสวยงามเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากการลงยาสีทั่วไปที่เน้นการลงยาสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก
การลงยาสีชมพูมีที่มาจากความต้องการเพิ่มสีสันให้กับเครื่องทองแทนการประดับอัญมณี ซึ่งก่อนสมัยอยุธยาใช้อัญมณีประดับตกแต่งโดยการขึ้นกระเปาะรูปก่อนฝังอัญมณีหรือหินสีที่เครื่องทอง [๓] (ภาพที่ ๒) แต่เนื่องจากอัญมณีเป็นของหายากมีราคาสูง ในสมัยอยุธยาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอาหรับและเปอร์เซียจึงนำเทคนิคการลงยาสีมาใช้ในการประดับเครื่องทองแทน โดยพบหลักฐานเก่าที่สุดในสมัยอยุธยาตอนต้น จากกรุเครื่องทองวัดมหาธาตุ ในระยะแรกเริ่มอาจใช้หินสีมีค่าหรือกึ่งมีค่า แต่ต่อมามีราคาแพงจึงเปลี่ยนมาใช้แก้วสีต่างๆ มาบดละเอียดแล้วความร้อนจากการเผาไฟช่วยหลอมละลายมาประดับบนลวดลายให้เกิดความสวยงาม กลายเป็นงานเครื่องทองลงยา โดยสีแดงและสีเขียวเป็นสีที่นิยมใช้ในระยะแรก ต่อมามีสีขาว สีน้ำเงินและสีฟ้าหรือที่เรียกว่าลงยาสีราชาวดี [๔] ซึ่งเป็นสีที่เกิดขึ้นและนิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สำหรับยาสีชมพูน่าจะมาจากยาสีแดงผสมกับยาสีขาว จึงทำให้ยาสีออกเป็นสีชมพู ซึ่งยาสีชมพูมักพบในเครื่องทองที่มีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือเครื่องทองที่มีอิทธิพลจากตะวันตก สันนิษฐานว่าเครื่องทองลงยาสีชมพูเป็นที่นิยมในรัชสมัยนั้นและถูกจำกัดใช้ในราชสำนักเท่านั้น ตลอดจนอาจเป็นสีที่ทรงโปรดปราน ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นสีประจำวันอังคารซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ถือว่าเครื่องทองลงยาสีชมพูเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องทองสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
จากหลักฐานที่ปรากฏโดยเปรียบเทียบกับงานศิลปกรรมร่วมสมัยเดียวกัน และภาพถ่ายเก่า แสดงให้เห็นว่าเครื่องราชูปโภคทองคำลงยาสีชมพูสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ และใช้พระราชทานเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศเจ้านายในระดับชั้นเจ้าฟ้าหรือเจ้านายชั้นสูงมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการลงยาสีชมพูนอกจากแสดงให้เห็นถึงสีพระราชนิยมหรือเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์แล้ว ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของงานช่างทองในราชสำนักสยาม และแสดงให้เห็นการรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในงานช่างศิลป์ของไทยได้อย่างลงตัวจนเอกลักษณ์ของเครื่องทองลงยาสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้อย่างชัดเจน
ในชุดเครื่องราชูปโภคที่เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้แสดงอยู่ภายในศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ มีเครื่องราชูปโภคทองคำจำนวน ๒๗ ชิ้น โดยมีเครื่องราชูปโภคทองคำลงยาสีชมพู จำนวน ๑๔ ชิ้น ประกอบด้วย
ลวดลายที่ใช้ในการลงยาสีชมพูที่ปรากฎในเครื่องประกอบพระอิสริยยศชุดนี้มี ๓ แบบ ได้แก่
เทคนิคที่ใช้ในการสร้างลวดลายลงยาสีชมพูในเครื่องประกอบพระอิสริยยศฯ ชุดนี้ มีเทคนิค ๒ แบบ ได้แก่
๑. การสลักลายดุนนูน (ภาพที่ ๕) เป็นเทคนิคการลงยาแบบดั้งเดิมการสลักลายบนเครื่องทองลงยา ลักษณะการสลักลวดลายแบบนี้เป็นการสลักดุนลายบนโลหะให้ขอบลายนูนสูงขึ้น ให้เป็นเส้นลายเพื่อให้ยาสีที่ลงไปอยู่ภายในขอบเส้นลายที่กำหนด โดยลงยาสีชมพูที่ตัวลายหลัก เช่น กลีบดอกไม้ หรือผลไม้
๒. การสลักร่องลายลงยา (ภาพที่ ๖) เป็นเทคนิคให้ที่พบได้เฉพาะในงานเครื่องทองลงยา สมัยรัตนโกสินทร์ การลงยาสีในเทคนิคนี้ใช้การสลักร่องลายลงบนพื้นผิววัสดุให้ลึกแล้วลงยาสีตามร่องลายที่ต้องการ ให้น้ำยาสีเรียบเสมอพื้นลายหรือพื้นผิววัสดุหรือเครื่องทอง โดยไม่มีการลงยาสีที่พื้นลาย
เครื่องราชูปโภคทองคำลงยาสีชมพูในเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่จัดแสดงอยู่ในศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ นั้น เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นการพัฒนาเทคนิคการผสมยาสีบนเครื่องทองให้มีหลากสีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นการรับอิทธิพลด้านงานช่างศิลป์จากต่างชาติเข้ามาปรับใช้ในงานช่างศิลป์ไทยได้อย่างลงตัว กลายเป็นเอกลักษณ์ของงานช่างในรัชสมัยนั้น ประกอบกับสีชมพูเป็น สีพระราชนิยมในงานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้เครื่องราชูปโภคทองคำลงยาสีชมพูเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของเครื่องราชูปโภคทองคำในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีคุณค่าคู่ควรแก่การใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายชั้นสูงของไทยสืบมาถึงปัจจุบัน