เครื่องราชอิสริยยศ : เกียรติยศในราชการแผ่นดิน
เครื่องราชอิสริยยศ : เกียรติยศในราชการแผ่นดิน
18/8/2561 / 39 / สร้างโดย Web Admin

ศราวุฒิ วัชระปันตี *

สังคมไทยตั้งแต่อดีตนับแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุด ในราชอาณาจักร ทรงปกครองบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ภายใต้ทศพิธราชธรรม ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นผู้ทำราชการต่างพระเนตรพระกรรณ เพื่อแบ่งเบาพระราชกิจ ผู้ที่รับราชการแผ่นดินจะได้รับศักดินา ยศ ราชทินนาม และตำแหน่ง เป็นเครื่องชี้บอกถึงอำนาจและเกียรติยศ โดยพระมหากษัตริย์จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศเพื่อบ่งบอกฐานานุศักดิ์ในสังคม และเป็นบำเหน็จรางวัลในการประกอบความชอบในราชการแผ่นดิน ซึ่งเครื่องราชอิสริยยศเหล่านี้จะต้องถวายคืนเมื่อได้รับในชั้นสูงขึ้น ถึงแก่กรรมหรือพ้นจากหน้าที่ราชการ


เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเจ้านายฝ่ายใน ชั้นเจ้าฟ้า

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเจ้านายฝ่ายใน ชั้นเจ้าฟ้า


บ้วนพระโอษฐ์

บ้วนพระโอษฐ์


เครื่องราชอิสริยยศ หมายถึง เครื่องหมายหรือเครื่องประกอบที่แสดงถึงเกียรติยศ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่ และบำเหน็จความชอบ ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อสถาปนาอิสริยศักดิ์หรือเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น หรือพระราชทานให้แก่ เสนาบดี ขุนนางผู้ใหญ่ หรือข้าราชบริพาร ที่ทำความดีความชอบในราชการแผ่นดิน เครื่องราชอิสริยยศจัดสร้างด้วยวัสดุหลากหลายประเภท ตามแต่ฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งของผู้ได้รับพระราชทาน และมีการตกแต่งลวดลายจะต่างกันตามยุคสมัยโดยยึดถือเป็นระเบียบประเพณีเพื่อพระราชทานแก่ราชตระกูลและข้าราชการทั้งหลายที่มีตำแหน่งหน้าที่หรือความดี ความชอบในแผ่นดิน

เครื่องราชอิสริยยศในราชสำนักไทยได้ปรากฏหลักฐานจารึกหลักที่ ๕ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) แห่งสมัยกรุงสุโขทัย โดยมีการกล่าวถึงเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ คือ มงกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร [๑] แต่ไม่ปรากฏการ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ


ธำมรงค์นพรัตน์

ธำมรงค์นพรัตน์


ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการกล่าวถึงการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ผู้ที่ทำความชอบในหน้าที่ราชการและการสงคราม ปรากฏหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่


๑. เครื่องอุปโภค เช่น เจียด [๒] พาน คนโทหรือพระเต้า หย้อนหมาก [๓] หย้อนน้ำ [๔] หมากถ่วมทอง ขันทอง ตลับทอง เสื่อขลิบ [๕] เบาะเจียม [๖]

๒. เครื่องสูง เช่น อภิรม [๗] กรรชิง ร่มทงยู [๘] ร่มปลิก [๙] ทานตะวันเบื้อ [๑๐] พระกลด กระแอทอง [๑๑]

๓. พระราชยาน เช่น ทิพยยานทอง ทิพยยานนาก เทวียานมีมกรชู เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว คานหามเก้าอี้ เรือคฤห ๓ ตอน

๔. เครื่องศาสตราวุธ เช่น กระบี่บั้งทอง กระบี่กั้นหยั่น กระบี่ฝักทอง กระบี่นาคเศียรเดียว

๕. เครื่องภูษณาภรณ์ เช่น ฉลองพระองค์ครุย เสื้อครุย ผ้าเยียรบับ ผ้าอัตลัต ผ้าท้องขาวเชิงชายเขียน ผ้าลายสรรพางค์ไหมลายปูม เกือกทอง เกือกกำมหยี่สักหลาด

๖. เครื่องศิราภรณ์ เช่น ศิรเพศมวยทอง [๑๒] มาลามวยหางหงส์ หมวกล่วมทอง [๑๓]

ในสมัยกรุงธนบุรี ปรากฏหลักฐานการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง ผู้ที่ทำความชอบในหน้าที่ราชการและการสงคราม จากเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี [๑๔] พบว่ามีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศเพิ่มเติมจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่


กาพระสุธารส

กาพระสุธารส


๑. เครื่องอุปโภค เช่น พานพระศรีทองคำเครื่องพร้อม [๑๕] บ้วนพระโอษฐ์

๒. เครื่องศิราภรณ์ เช่น พระมาลายอดพระมาลาทองคำประดับพระยี่ก่าทองคำมีขนนกการเวก มาลาเส้าสะเทิน

๓. เครื่องภูษณาภรณ์ ได้แก่ เสื้อทรงประพาส เสื้อเข้มขาบ พระภูษาคลุมบรรทม สนับเพลาเชิงงอน ฉลองพระบาทปักหักทองขวาง เสื้อญี่ปุ่น

๔. เครื่องศาสตราวุธ เช่น พระแสงดาบญี่ปุ่น พระแสงหอกซัด พระแสงปืนสันคร่ำทอง พระแสง ปืนยาว พระแสงปืนคาบศิลา ทวนภู่แดง ของ้าวช้างกัลเม็ด กั้นหยั่นปักกรีฝักเงินกาไหล่ทอง ปืนท้ายช้าง หอก ง้าว

๕. เครื่องสิริมงคล เช่น ประคำทองคำ ธำมรงค์นพรัตน์


หีบพระศรี

หีบพระศรี


ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรพิชัยซึ่งเป็นขุนนางครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้บอกแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เมื่อครั้งกรุงเก่า ดังนั้นแบบแผนของเครื่องราชอิสริยยศและการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงสืบเนื่องมาจากครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี และมีการพระราชทานเพิ่มเติมต่อมาจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ๗ ประเภท ดังนี้


๑. เครื่องอุปโภค ได้แก่ พานพระศรีทองคำ เครื่องพร้อม [๑๖] กาพระสุธารส [๑๗] ที่พระสุธารส ขันน้ำเสวยพร้อมฝาครอบ ขันสรงพระพักตร์ หีบพระศรี [๑๘]

๒. เครื่องศิราภรณ์ ได้แก่ พระอนุราชมงกุฎ พระมาลาเส้าสูง พระมาลาหุ้มตาด

๓. เครื่องภูษณาภรณ์ ได้แก่ เจียระบาเสื้อครุยประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์

๔. เครื่องศาสตราวุธ ได้แก่ พระแสงกระบี่สันปรุคร่ำทอง พระแสงกระบี่ศีรษะนาค ๓ เศียร [๑๙]

๕. เครื่องสิริมงคล ได้แก่ สายดิ่งทองคำ สังวาลพระนพน้อย พระตะกรุด

๖. เครื่องสูง ได้แก่ พระสัปตปฎลเศวตฉัตร พระเบญจปฎลเศวตฉัตร เศวตฉัตร ๓ ชั้น [๒๐] ฉัตรขาวลายทอง ฉัตรตาด ฉัตรโหมด เครื่องสูงหักทองขวาง เครื่องสูงทองแผ่ลวด

๗. พระราชยาน ได้แก่ พระวอสีวิกา วอประเวศวัง พระวอประเทียบ แคร่กันยา


 พระอนุราชมงกุฎ

พระอนุราชมงกุฎ

กระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเดล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยยศประดับอกเสื้อคล้ายเครื่องหมายแบบชาวตะวันตก เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ เป็นดาราไอราพต โดยทรงนำแบบอย่างมาจากลวดลายของตราพระราชลัญจกรไอราพต ทรงสร้าง สำหรับเป็นเครื่องต้น ๒ องค์และพระราชทานพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ องค์


ดาราไอราพต

ดาราไอราพต


ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดารานพรัตน เป็นดารารูปดาวมีรัศมี ๘ แฉก ประดับพลอย ๙ ชนิด รัศมีประดับด้วยเพชร ทรงสร้างขึ้นเป็นเครื่องต้น ๑ องค์และพระราชทาน พระบรมวงศานุวงศ์ ๓ องค์อีกทั้งมีแนวพระราชดำริว่าต่อไปจะพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานแหวนนพรัตน์เป็นเครื่องราชอิสริยยศด้วย


ดารานพรัตน์

ดารานพรัตน์


และใน พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง"ดาราช้างเผือก” เป็นแผ่นทองคำสลักดุนเป็นรูปช้างเผือกอันเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดินสยาม และมีพระมหามงกุฎ อันหมายถึงพระบรมนามาภิไธยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลเกล้าฯ ถวายดาราช้างเผือกแด่สมเด็จพระราชาธิบดีประเทศต่าง ๆ พระราชอาคันตุกะ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้มีความชอบยิ่งใหญ่หน้าที่ราชการรวมไปถึงข้าราชการที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ชาวต่างประเทศที่เข้ารับราชการ และราชทูตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในครั้งนั้นทรงบัญญัติศัพท์คำว่า "ดารา” ซึ่งมาจากคำว่า "Star” ในภาษาอังกฤษ เพื่อใช้เรียกเครื่องราชอิสริยยศที่ใช้ติด อกเสื้อ


ดาราเผือก

ดาราช้างเผือก


ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงและเพิ่มเติมดวงตรา ดารา และสายสะพาย กำหนดชื่อชั้นและตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่างๆ ขึ้น แต่ประเพณีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศก็ยังคงปฏิบัติสืบทอดต่อมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในการพระราชพิธีโสกันต์ และพระราชทานเพิ่มเติมในการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น เจ้าต่างกรม และใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าขึ้น และ ทรงกำหนดให้มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จึงมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่ผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าด้วย


สมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีโสกันต์

สมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีโสกันต์


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์

ต่อมาเมื่อมีข้าราชการเพิ่มมากขึ้น การพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศจึงไม่สะดวกรวดเร็วดังเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงงดพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่ข้าราชการ [๒๑] แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แทน ส่วนการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ในนั้นยังคงไว้ซึ่งโบราณราชประเพณี ดังจะเห็นได้จากการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศในครั้งสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ ขึ้นเป็น กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ การสถาปนาหม่อมเจ้าอาภาพรรณีสวัสดิวัตน์ ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒


การพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศ


ในปัจจุบันการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศนั้นยังคงมีการพระราชทานในการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรม การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเฉลิมพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุและผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ปฐมจุลจอมเกล้า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทุติยจุลจอมเกล้า และตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ อันเป็นการรักษาประเพณีอันมีแต่โบราณ แต่ในระยะหลังเนื่องจากผู้ได้รับ การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้ามีจำนวนมากขึ้น จึงงดการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศ แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ที่อยู่ในเกณฑ์เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศมาแต่โบราณ สามารถขอยืมเครื่องราชอิสริยยศจากกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง สำหรับนำมา



เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ


เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


ปัจจุบันเครื่องราชอิสริยยศ อันเป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินได้รับการดูแลรักษาโดยสำนักทรัพย์สินมีค่า ของแผ่นดิน และมีการคัดเลือกนำมาจัดแสดงภายในศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีการจัดแสดง เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เครื่องราชอิสริยยศประเภทต่างๆ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ -๑๖.๐๐ น. (ยกเว้นวันที่มีพระราชพิธี)



*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

[๑] "จารึกวัดป่ามะม่วง,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. (กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), หน้า ๒๓๐. 
[๒] ภาชนะชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายตะลุ่มมีฝาปิดมีผ้าหุ้ม สำหรับใส่ของ เช่น ผ้า หมาก พระราชทานเป็นคู่ วัสดุในการสร้างเจียดมีด้วยกันหลายชนิด เช่น เจียดทอง เจียดเงิน เจียดเงินถมยาดำเจียดประดับกระจก (เจียดแว่นฟ้า หรือ เจียดเบื้อ) นิยมทำเป็นรูปคล้ายหีบย่อมุมไม้สิบสอง มุมตัดก็มี ฝาครอบเป็นทรงตามรูปของเจียด มีเชิงรับข้างล่าง
[๓] เชี่ยนหมาก หรือเครื่องรองภาชนะลักษณะคล้ายกี๋หรือหย่อง จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๘), หน้า ๗๘.
[๔] เครื่องรองภาชนะสำหรับน้ำกิน ลักษณะคล้ายกี๋หรือหย่อง จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม.
[๕] อาจหมายถึงเสื่อเงิน เสื่อทอง หรืออาจเป็นเสื่อโลหะที่ทำด้วยเงินหรือทอง จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม.
[๖] ที่รองนั่งทำด้วยขนสัตว์ เครื่องปูลาดทำด้วยขนสัตว์ จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม. 
[๗] ฉัตร
[๘] ร่มบุด้วยกระดาษอาบน้ำมันกันฝน จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม, หน้า ๗๗. 
[๙] ร่มที่ทำยอดต่อให้สูงขึ้นไป มักทำด้วยทองคำ อย่างยอดโถเครื่องแป้งหรือที่เรียกว่าปริก จาก วินัยพงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม, หน้า ๗๗. และ สันนิษฐานว่าลักษณะคล้ายสัปทน จาก หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์, "เครื่องยศ บำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน” ใน ศรุตานุสรณ์, พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๖, (กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๖), หน้า ๒๒๗. 
[๑๐] เครื่องสูงอย่างหนึ่ง สำหรับบังแดด เบื้อ หมายถึง กระจก จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม. และ สันนิษฐานว่าเป็นบังสูรย์ จากหม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๒๗.
[๑๑] เครื่องบังแดด มีคันปักดิน เป็นรูปสี่เหลี่ยม จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ, เรื่องเดิม, หน้า ๗๙.
[๑๒] เครื่องประดับศีรษะ
[๑๓] มาลาทรงประพาส
[๑๔] กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารภาค ๒. (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๔), หน้า ๑๘ - ๒๐.
[๑๕] พานพระศรีทองคำเครื่องพร้อม ในสมัยกรุงธนบุรีประกอบด้วย จอกเฟืองมีเชิงใหญ่ (มังสี) ๑ ชิ้น จอกเฟืองมีเชิงน้อย ๑ ชิ้น ผอบใหญ่ ๑ ชิ้น ผอบน้อย ๑ ชิ้น เต้าปูน ๑ ชิ้น ตลับภู่ ๑ ชิ้น มีด ๑ ชิ้น รวม ๗ ชิ้น จาก หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๓๒.
[๑๖] พานพระศรีทองคำเครื่องพร้อมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่างจากสมัยกรุงธนบุรีที่ไม่มีเต้าปูน และ มีเครื่องประกอบ ๘ ชิ้น คือ จอกหมาก (มังสี) ๒ ชิ้น ผอบ ๒ ชิ้น ซองพลูและซองบุหรี่ ๒ ชิ้น ตลับภู่พร้อมไม้ยอน พระกรรณและไม้แคะพระทนต์ ๑ ชิ้น มีดเจียนหมาก ๑ ชิ้น จาก หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๓๕.
[๑๗] หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, เครื่องอิสริยยศ : พระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์, จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๓๙ (กรุงเทพฯ : บริษัท รีเจนซีบรั่นดีไทย, ๒๕๓๙), หน้า ๒๐
[๑๘] เริ่มมีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จาก หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, เรื่องเดิม.
[๑๙] การพระราชทานดาบหรือกระบี่ศีรษะนาคมีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยทำเป็นนาคเศียรเดียวต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นิยมทำเป็นนาค 3 เศียร จาก หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๐.
[๒๐] ณัฏฐภัทร จันทวิชและคนอื่น ๆ, เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกฯ, ๒๕๕๑), หน้า ๑๔๖.
[๒๑] กรมศิลปากร, เครื่องยศ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเอก นิยมาคม ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๘. (กรุงเทพฯ: ประเสริฐการพิมพ์,๒๕๑๘), หน้า ๓๓.


เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. เครื่องยศ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเอก นิยมาคม ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๘. กรุงเทพมหานคร: ประเสริฐการพิมพ์. ๒๕๑๘.

___________. ประชุมพงศาวดารภาค ๒. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๔.

กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, บรรณาธิการ. ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕-๖๖) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)  กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๒๘.

คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ. เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า. จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสที่เจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. ๒๕๔๘.

จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร. ๒๕๒๗.

ณัฏฐภัทร จันทวิชและคนอื่น ๆ. เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือ ที่ระลึกฯ. ๒๕๕๑.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี : ศรีปัญญา. ๒๕๕๓.

วินัย พงศ์ศรีเพียร,บรรณาธิการ. กฎมณเฑียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย. ๒๕๔๘.

ศรุตานุสรณ์. พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๖. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์การพิมพ์. ๒๕๒๖.

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี. เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ในศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์. การค้นคว้าอิสระหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๖.

หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. เครื่องอิสริยยศ : พระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์. จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิม พระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๓๙. กรุงเทพมหานคร: บริษัท รีเจนซีบรั่นดีไทย. ๒๕๓๙.




ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 560
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 289
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 404
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..