เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
16/8/2561 / 46 / สร้างโดย Web Admin

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี *

ประเทศไทยพบหลักฐานการใช้ทองคำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ และเครื่องบูชาทางศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการพัฒนาฝีมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน ราชสำนักมีการนำทองคำมาจัดทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคในชีวิตประจำวันของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศ ฐานะ ชาติกำเนิดและฐานันดรศักดิ์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นของบำเหน็จหรือเครื่องยศ ตอบแทนผู้กระทำความดีความชอบในงานราชการสำคัญ หรือใช้เป็นเครื่องแสดงยศตำแหน่ง ลักษณะการนำทองคำมาสร้างเป็นเครื่องราชูปโภค สำหรับพระมหากษัตริย์หรือพระราชทานเป็นเครื่องประกอบยศของเจ้านายหรือขุนนางนั้น ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) เป็นยุคที่สยามประเทศมีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อันเกิดจากกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น ในราชสำนักไทยก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าวด้วยเช่นกัน มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แบบตะวันตกแทน การพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศที่มีมาแต่โบราณ แต่ยังคงรักษาธรรมเนียมการพระราชทานเครื่องยศด้วยเครื่องราชูปโภคทองคำแก่เจ้านายหรือข้าราชการชั้นสูงเป็นเครื่องประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังปรากฏหลักฐานเอกสารที่กล่าวถึงการสร้างและพระราชทาน เครื่องราชูปโภคทองคำเป็นเครื่องประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ [๑] และมีการสร้างเครื่องราชูปโภคทองคำเพิ่มเติมสำหรับพระราชทานเจ้านายฝ่ายใน พ.ศ. ๒๔๒๑ [๒] แต่ในรัชกาลต่อมาไม่พบหลักฐานการสร้างเครื่องราชูปโภคทองคำเพื่อใช้เป็นเครื่องยศอีก ดังนั้น สมัยรัชกาลที่ ๕ น่าจะช่วงสุดท้ายที่มีการสร้างเครื่องราชูปโภคทองคำสืบมาเพื่อใช้พระราชทานเป็นเครื่องยศ เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยนี้ มีการรับอิทธิพลศิลปะต่างชาติผสมกับงานศิลปะไทย จนเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัตนโกสินทร์ที่แตกต่างจากรัชกาลก่อนๆ [๓] อันเป็นช่วงเวลาที่สังคมและวัฒนธรรมไทยมีการปรับเปลี่ยนตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตก


เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัตนโกสินทร์ที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ทรัพย์สินจัดแสดงส่วนหนึ่งเป็นเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวน ๒๒๗ ชิ้น [๗] (ภาพ ๑) เคยพระราชทานเป็นเครื่องยศหรือเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายและขุนนางชั้นสูง ส่วนใหญ่ไม่พบประวัติการสร้าง และไม่สามารถระบุอายุสมัยของทรัพย์สินบางชิ้นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเครื่องราชูปโภคทองคำเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๑ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ และมีการใช้พระราชทานเป็นเครื่องยศแก่เจ้านายและขุนนางชั้นสูงมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ได้รับพระราชทานพ้นจากตำแหน่งหรือเสียชีวิต ตามธรรมเนียมประเพณี ทายาทต้องส่งคืนเครื่องยศแก่พระคลังหลวงหรือพระคลังมหาสมบัติจึงนำเครื่องราชูปโภคทองคำที่มีอยู่ในรัชกาลก่อนนำกลับมาใช้อีก เครื่องราชูปโภคทองคำเหล่านี้ แม้ว่าจะสร้างขึ้นในแต่ละรัชกาล ต่างวาระ แต่มีลักษณะรูปแบบและลวดลายที่คล้ายกัน ตามแบบประเพณีนิยม ไม่สามารถแยกเครื่องราชูปโภคทองคำแต่ละรัชกาลได้อย่างชัดเจน ยกเว้นเครื่องราชูปโภคทองคำบางชิ้นที่มีการสลักตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลบนภาชนะปรากฏให้เห็นอยู่ด้วย หรือมีประวัติการสร้างที่ชัดเจน จะสามารถใช้เป็นต้นแบบของการศึกษาเปรียบเทียบกับเครื่องราชูปโภคทองคำชิ้นอื่น ๆ ที่ไม่สามารถกำหนดอายุสมัยได้ โดยเฉพาะเครื่องราชูปโภคทองคำ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีปัจจัยบางอย่างมีอิทธิพลต่อการสร้างเครื่องราชูปโภคทองคำ ทำให้มีเครื่องราชูปโภคทองคำที่สร้างขึ้นในสมัยนี้มีจุดสังเกตหรือลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากเครื่องราชูปโภคทองคำในรัชกาลก่อน


ภาพที่ ๑ เครื่องราชูปโภคทองคำจัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ

ภาพที่ ๑ เครื่องราชูปโภคทองคำจัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ


ลักษณะและรูปแบบเฉพาะตัวของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕

จากการติดต่อกับต่างชาติและการรับศิลปวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการสร้างเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากเครื่องราชูปโภคทองคำในรัชกาลก่อน ๆ เครื่องราชูปโภคทองคำในศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ บางชิ้นมีประวัติการสร้างชัดเจน และมีลักษณะเฉพาะตัว ทำให้สามารถคัดแยกเครื่องราชูปโภคทองคำทั้งหมดและกำหนดอายุสมัยได้

เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะรูปแบบที่สืบทอดจากเครื่องราชูปโภคทองคำจากรัชกาลก่อน และมีรูปแบบที่รับอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามาผสม เปรียบเทียบกับเครื่องราชูปโภคทองคำที่จัดแสดงในศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ พบจุดสังเกตที่แสดงให้เห็นลักษณะของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเฉพาะตัว ๔ ประการ [๘] คือ

๑. การสลักตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลหรือตราจุลมงกุฎ (ภาพ ๒) บริเวณด้านบนฝาของภาชนะ เช่น หีบหมาก กาทรงกระบอก และยังปรากฏบนงานประณีตศิลป์อื่น ๆ ที่สร้างขึ้นใน สมัยเดียวกัน เช่น เครื่องกระเบื้อง เครื่องถ้วย และเครื่องโลหะอื่น ๆ การประดับพระราชลัญจกรประจำรัชกาลรูปพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยฉัตรทั้งสองข้าง ในลักษณะสลักดุนลายที่พื้นผิว เป็นเครื่องหมายแสดงถึงผู้สร้างหรือผู้ครอบครอง รวมทั้งแสดงถึงรัชสมัยที่สร้างได้อย่างชัดเจน


ภาพ ๒ การสลักตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลหรือตราจุลมงกุฎ

ภาพ ๒ การสลักตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลหรือตราจุลมงกุฎ


ภาพ ๓ เทคนิคลงยาสีชมพูในการตกแต่งลวดลาย

ภาพ ๓ เทคนิคลงยาสีชมพูในการตกแต่งลวดลาย


ลักษณะลวดลายที่มีอิทธิพลต่างชาติเข้ามาผสม

ภาพ ๔ ลักษณะลวดลายที่มีอิทธิพลต่างชาติเข้ามาผสม


การลงยาสีเต็มพื้นลาย

ภาพ ๕ การลงยาสีเต็มพื้นลาย


๒. การใช้เทคนิคการลงยาสีชมพูในการตกแต่งลวดลาย (ภาพ ๓) ลักษณะการลงยาสีชมพูไม่ปรากฏในเครื่องราชูปโภคทองคำรัชสมัยใดมาก่อน บางครั้งมักพบร่วมกับการสลักพระราชลัญจกรประจำรัชกาลหรือตราจุลมงกุฎ หรือเครื่องราชูปโภคทองคำที่มีประวัติการสร้างสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไม่พบในเครื่องราชูปโภคที่มีตราพระราชลัญจกรในรัชกาลอื่น ลักษณะการลงยาสีชมพูที่น่าจะได้รับอิทธิพลการผสมยาสีใหม่จากชาติตะวันตกที่รู้จัก การผสมยาสีชมพูมาก่อนสยาม

นอกจากนี้การใช้สีชมพูตกแต่งบนเครื่องราชูปโภคทองคำที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังสัมพันธ์กับสีประจำวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือสีพระราชนิยมที่พบในงานศิลปกรรมรัชสมัยนี้ ดังนั้นการลงยาสีชมพูจึงเป็นลักษณะเด่นของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕

๓. ลักษณะลวดลายที่มีอิทธิพลศิลปะต่างชาติเข้ามาผสม (ภาพ ๔) เนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ศิลปะตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก เช่น ลายเครือเถาดอกไม้ หรือลายเลียนแบบธรรมชาติ ขณะเดียวกันคติความเชื่อเกี่ยวกับลวดลายมงคลแบบจีนได้เข้ามามีอิทธิพลในศิลปะไทยก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ทำให้ลักษณะลวดลายที่ปรากฎบนเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ มีรูปแบบลายที่รับอิทธิพลตะวันตก พร้อมกับนำลวดลายสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อแบบจีนเข้าไปผสมอยู่ด้วย แต่ยังคงรักษาลักษณะรูปแบบของเครื่องราชูปโภคในแบบไทยไว้ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีลักษณะที่ไม่ยึดติดกับกระแสอิทธิพลศิลปะจากต่างชาติแบบใด แบบหนึ่ง ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นลักษณะเฉพาะของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕

๔. การลงยาสีเต็มพื้นลาย (ภาพ ๕) เป็นการลงยาสีทั้งพื้นลายและตัวลายเต็มพื้นที่ทั้งชิ้นงาน เหลือแต่ส่วนที่เป็นพื้นผิวทองคำเฉพาะบริเวณเส้นลายเท่านั้น ในลักษณะเส้นลายดุนนูนเพื่อให้เกิดเป็นร่องลาย ป้องกันไม่ให้ยาสีในตัวลายกับพื้นลายปนกัน ส่วนใหญ่นิยมลงยาพื้นลายเป็นสีแดง ตัวลายสีเขียวหรือสีแดงหรือสีชมพู ตัดด้วยพื้นผิวสีทองที่ถูกดุนนูนเป็นเส้นลาย ลักษณะเช่นนี้มักปรากฏร่วมกับลักษณะเฉพาะอื่นที่กล่าวแล้วข้างต้นร่วมด้วย เช่น การลงยาสีชมพู การสลักตราจุลมงกุฎ และลายที่รับอิทธิพลจากต่างชาติ

ดังนั้นในเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ละชิ้นอาจไม่ปรากฏลักษณะเฉพาะทั้ง ๔ ประการ แต่อาจมีเพียงบางส่วน หรือมีเพียงลักษณะเฉพาะประการเดียวปรากฏอยู่ก็ได้


เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ

ในพิพิธภัณฑ์ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ มีทรัพย์สินจัดแสดงที่เป็นเครื่องราชูปโภคทองคำบางชิ้นปรากฏลักษณะและรูปแบบเฉพาะของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างชัดเจน ตัวอย่างเครื่องราชูปโภคทองคำที่น่าสนใจ ได้แก่

๑) กลุ่มเครื่องราชูปโภคทองคำในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๒๖ ชิ้น (ภาพ ๖) (จำนวนนี้ไม่รวมถ้วยฝาหยก ๑ ชิ้น) มีประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายใน ในพระราชพิธีโสกันต์สมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพ ๗) เกือบทุกชิ้นมีลักษณะเฉพาะของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏอยู่ด้วย ได้แก่ ชุดพานพระศรีทองคำลงยาพร้อมเครื่อง ๙ ชิ้น ขันน้ำเสวยพร้อมพานรองและจอกลอย ๓ ชิ้น ที่ชาทองคำ ๕ ชิ้น ขันสรงพระพักตร์พร้อมพานรอง ๒ ชิ้น พระสุพรรณศรี ๑ ชิ้น หีบหมากทองคำลงยาพร้อมพานรองและตลับ ๕ ชิ้น และกาทรงกระบอกพร้อมถาดรอง ๒ ชิ้น ในแต่ละชิ้นมีการใช้เทคนิคลงยาสีชมพู ตกแต่งด้วยลวดลายเครือเถาดอกรำเพยและผลทับทิม ในลักษณะลายเครือเถาที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก และบางชิ้นมีตราจุลมงกุฎปรากฏอยู่


เครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ภาพ ๖ เครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


เครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ ๕

ภาพ ๗ เครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ ๕


๒) ผอบทรงเหลี่ยมหรือมณฑปทองคำลงยาสีชมพู (ภาพ ๘) จำนวน ๑ ชิ้น เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายหน้าในชุดพานพระศรี สำหรับใส่หมากแห้ง ยาเส้น หรือหมากหอม มีลักษณะรูปทรงมณฑป เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ฝาผอบคล้ายยอดมณฑป ยอดทำเป็นรูปดอกบัวคล้ายบัวหัวเสา ตกแต่งด้วยกาสลักดุนลายดอกไม้และลงยาสี พื้นลายลงยาสีแดง ตัวลายลงยาสีชมพู สีแดง และสีเขียว


ตลับภู่ทองคำลงยาสีชมพู

ภาพ ๙ ตลับภู่ทองคำลงยาสีชมพู


ตลับภู่ทองคำลงยาสีชมพู

ภาพ ๑๐ ตลับภู่ทองคำลงยาสีชมพู


๓) ตลับภู่ทองคำลงยาสีชมพู (ภาพ ๙ และ ๑๐) จำนวน ๒ ชิ้น จัดเป็นภาชนะที่อยู่ ในเครื่องประกอบในชุดพานพระศรีหรือพานหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่สีผึ้งทาปาก ฝาเป็นแบบยอดปริก ตัวตลับสลักลายลงยา มีสายสร้อยทองคำร้อยตัวตลับและฝา บางชิ้นมีไม้แคะพระกรรณทองคำ และไม้แคะพระทนต์ทองคำ ตกแต่งด้วยการสลักดุนลายดอกไม้ลงยาสีชมพู

๔) มีดด้ามหุ้มทองคำลงยาสีชมพู จำนวน ๑ ชิ้น จัดเป็นภาชนะที่อยู่ในเครื่องประกอบในชุดพานพระศรีหรือพานหมาก สำหรับใช้เจียนหมาก ด้ามมีดทำด้วยทองคำสลักลายลงยาสีชมพูและสีเขียว พื้นลายลงยาสีแดง


มีดด้ามหุ้มทองคำลงยาสีชมพู


ภาพ ๑๑ มีดด้ามหุ้มทองคำลงยาสีชมพู


๕) คนโททองคำลงยาสีชมพู (ภาพ ๑๒) จำนวน ๑ ชิ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า "พระสุวรรณภิงคาร” หรือ "พระเต้า” ใช้พระราชทานเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าฝ่ายหน้า เป็นภาชนะทำด้วยทองคำสลักลายลงยา พื้นลายลงยาสีแดง ตัวลายลงยาสีชมพูและสีเขียว สำหรับใส่น้ำเสวยมีลักษณะทรงสูง ฐานมีเชิงรองรับตัวคนโททรงกลม คอสูงมีฝาเปิด – ปิดอยู่ด้านบนทำเป็นยอดปริกซ้อนชั้น โดยมีสายสร้อยทองคำ ยึดไว้กับคอของคนโท


คนดททองคำลงยาสีชมพู

ภาพ ๑๒ คนโททองคำลงยาสีชมพู


๖) กาทรงกระบอกทองคำลายสลัก ฝาสลักตราจุลมงกุฎ (ภาพ ๑๓ – ๑๕) จำนวน ๓ ชิ้น จัดแสดงอยู่ในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายทั้ง ๓ ชุด ลักษณะเป็นกาน้ำทรงกระบอกแบบจีน ลวดลายต่างกัน ตัวกาสลักลายเต็มพื้นที่ ส่วนปากพวยกามีฝาปิดพร้อมสายสร้อยทองคำโยงกับหูกา สลักดุนลายทั้งตัวภาชนะ ไม่ล งยา เนื่องจากเป็นภาชนะที่สัมผัสกับของร้อน


กาทรงกระบอกทองคำฝาสลักตราจุลมงกุฎในชุดเครื่องประกอบ

ภาพ ๑๓ กาทรงกระบอกทองคำฝาสลักตราจุลมงกุฎในชุดเครื่องประกอบ

กาทรงกระบอกทองคำฝาสลักตราจุลมงกกุฎในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าฝ่ายใน


ภาพ ๑๔ กาทรงกระบอกทองคำฝาสลักตราจุลมงกกุฎในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าฝ่ายใน

กาทรงกระบอกทองคำฝาสลักตราจุลมงกุฎในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ

ภาพ ๑๕ กาทรงกระบอกทองคำฝาสลักตราจุลมงกุฎในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ


๗) หีบพระศรีทองคำสลักลายลงยา ฝาสลักตราจุลมงกุฎ (ภาพ ๑๖ – ๑๗) จำนวน ๒ ชิ้น จัดแสดงอยู่ในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายในพระราชพิธีโสกันต์ ๑ ชิ้น และชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายหน้า ๑ ชิ้น ลักษณะเหมือนกันทั้งสองชิ้น เป็นภาชนะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีชิ้นส่วนสองชิ้น ประกอบด้วย ส่วนตัวหีบและส่วนฝาหีบ พื้นลายของภาชนะสลักลายลงยาสีแดง ตัวลายลงยาสีแดงและสีเขียว ส่วนบริเวณด้านบนฝาหีบมีตราจุลมงกุฎสลักอยู่ตรงกลาง


หีบพระศรีทองคำสลักลายลงยาฝาสลักตรามงกุฎ

ภาพ ๑๖ หีบพระศรีทองคำสลักลายลงยาฝาสลักตรามงกุฎ

หีบพระศรีทองคำสลักลายลงยา

ภาพ ๑๗ หีบพระศรีทองคำสลักลายลงยา



เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่จัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์เหล่านี้ เป็นตัวอย่างทรัพย์สินจัดแสดงที่มีลักษณะเฉพาะของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างชัดเจน ซึ่งสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ คัดเลือกและนำออกจัดแสดงให้ผู้เข้าชมได้รู้จักและเห็นความสวยงามของเครื่องราชูปโภคทองคำในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองเริ่มมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตก อีกทั้งเป็นตัวแทนของเครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัตนโกสินทร์ และยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นที่ไม่ปรากฏในเครื่องราชูปโภคทองคำในรัชกาลก่อน สะท้อนให้เห็นการรับอิทธิพลต่างชาติมาผสมผสานกับศิลปะไทยอย่างลงตัว โดยการนำเข้ามาปรับใช้อย่างเหมาะสม แต่ยังคงรักษาลักษณะความเป็นไทยไว้อย่างดี และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้รู้จักและภาคภูมิใจในทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินอันมีคุณค่าในฐานะมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยสืบไป



*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

[๑] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ๒๕๒๓, หน้า ๙๓.

[๒] สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๓, หน้า ๑๕ – ๑๖.

[๓] สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี. เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ในศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์. การค้นคว้าอิสระหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖ หน้า ๔๙.

[๔] จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๑ เรื่องพระราชประเพณี (ตอน๓). พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๔, หน้า ๑๓๗.

[๕] ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๖, หน้า ๙๕๑.

[๖] เทวาธิราช ป. มาลากุล. เรื่องราชูปโภคและพระราชฐาน. พระนคร : กองวัฒนธรรม, ๒๕๐๔, หน้า ๑.

[๗] ทะเบียนทรัพย์สินจัดแสดงศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์

[๘] สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี. เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ในศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์. หน้า ๕๕.

 

เอกสารอ้างอิง

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๑ เรื่องพระราชประเพณี (ตอน๓). พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๔.

ทะเบียนทรัพย์สินจัดแสดงศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

เทวาธิราช ป. มาลากุล. เรื่องราชูปโภคและพระราชฐาน. พระนคร : กองวัฒนธรรม, ๒๕๐๔.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๓.

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี. เครื่องราชูปโภคทองคำสมัยรัชกาลที่ ๕ ในศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์. การค้นคว้าอิสระหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต.
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ๒๕๒๓.



ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..