
ห้องนานาอาณาจักรเหรียญ
ช่วงระยะเวลา สมัยฟูนัน – สมัยศรีวิชัย
จัดแสดงเกี่ยวกับเหรียญเริ่มแรกที่ปรากฏในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในดินแดนที่ถูกเรียกว่า "สุวรรณภูมิ”
ภายในจัดแสดงเหรียญตั้งแต่สมัยฟูนัน – ทวารวดี, ลพบุรีหรือละโว้ และศรีวิชัย ซึ่งแพร่หลายไปตามเส้นทางการค้าในสุวรรณภูมิ จัดแสดงเหรียญจริงผ่านบรรยากาศวิถีชีวิต เศรษฐกิจและการค้าของแต่ละอาณาจักร พร้อมผสมผสานผ่านเทคโนโลยีในการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น แผนที่สุวรรณภูมิบอกที่ตั้งของแต่ละอาณาจักร, การจำลองเรือค้าขายของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น
ห้องเริ่มต้นอาณาจักรไทย
ช่วงระยะเวลา สมัยสุโขทัย – สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
จัดแสดงเรื่องราวที่เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยเงินตราไทยที่เรียกว่า "พดด้วง” โดยเล่าเรื่องราวของพดด้วงในแต่ละสมัย ผ่านการจำลองบรรยากาศตลาดการค้าโบราณ ขั้นตอนการผลิตเงินพดด้วงในสมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังได้ทราบถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏบนเงินพดด้วง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พร้อมเงินตราร่วมสมัยในอาณาจักรต่าง ๆ เช่น อาณาจักรล้านนา อาณาจักล้านช้าง และเงินตราทางภาคใต้ ในห้องจัดแสดง "วิวัฒนาการพดด้วง”
ห้องกษาปณ์รัตนโกสินทร์
จัดแสดงเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปแบบเงินตรา จากการใช้เงินพดด้วงเป็นเหรียญกลมแบน การใช้เงินตราในระบบทศนิยม และได้เรียนรู้ เกี่ยวกับเหรียญที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมไปถึงวิวัฒนาการของระบบเงินตราไทย
ทั้งยังนำเสนอความหมายของลวดลายบนหน้าเหรียญที่สะท้อนให้เห็นบริบทสังคมในยุคๆ นั้น เช่น แบบจำลองเหรียญดอกบัว – เมืองไท และเหรียญช้าง – เมืองไท
ในปี พ.ศ. 2400 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้แทนเงินพดด้วง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะราชทูตไทยที่ไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ ซื้อเครื่องจักรผลิตเหรียญแบบแรงดันไอน้ำมาใช้ ระหว่างรอเครื่องจักรผลิตเหรียญ สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ทรงจัดส่งเครื่องผลิตเหรียญขนาดเล็กทำงานด้วยแรงคนถวายเป็นเครื่องบรรณาการ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2401 ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า "โรงกระสาปณ์สิทธิการ” จากนั้นได้มีการผลิตเหรียญเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่วิวัฒนาการในการผลิตเหรียญในรัชสมัยต่อมา
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการประทับพระบรมรูปพระมหากษัตริย์บนหน้าเหรียญกษาปณ์เป็นครั้งแรก และมีการพัฒนารูปแบบการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ห้องเหรียญกับสังคมไทย
นำเสนอเรื่องราวของเหรียญในมุมมองใหม่ที่ไม่ใช่แค่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแต่เหรียญกลับมีบทบาททั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณีของคนไทย เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ งานบวช งานแต่งงาน การโยนเหรียญเสี่ยงทาย การนำเหรียญใส่กระทง เป็นต้น โดยนำเสนอผ่านการจำลองโมเดลและระบบ Interactive เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ลองสัมผัสด้วยตนเอง
ห้องเหรียญนานาชาติ
จัดแสดงเหรียญกษาปณ์จากต่างประเทศ จำนวน ๑๗๔ ประเทศ พร้อมกับโมเดลจำลองสถานที่หรือสิ่งของที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ รวมไปถึงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกที่มีรูปทรง สีสัน และเทคนิคในการผลิตที่หลากหลายและน่าสนใจ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์ และเลือกศึกษาเหรียญของแต่ละประเทศได้ด้วยตนเอง จาก Interactive และโมเดลจำลอง

ห้องกว่าจะมาเป็นเหรียญ
จัดแสดงกระบวนการในการผลิตเหรียญ เริ่มตั้งแต่แนวคิด ในการจัดทำ การออกแบบ ตลอดจนกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดและประณีตเป็นอย่างมาก
กระบวนการสำคัญในการผลิตเหรียญประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การออกแบบและการทำแม่แบบ การผลิตดวงตรา การผลิต เหรียญตัวเปล่า และการตีตราเหรียญ โดยผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวทั้งหมดผ่านการฉายวีดีทัศน์ และการจำลองขั้นตอนการทำงานของเครื่องจักรในการผลิตเหรียญ
ห้องรู้รอบเหรียญ
จัดแสดงเกี่ยวกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเหรียญ วิธีการในการเก็บรักษาและทำความสะอาดเหรียญ และร่วมเล่นเกมแฟนพันธุ์แท้เหรียญ เพื่อทดสอบความรู้เกี่ยวกับเหรียญในด้านต่าง ๆ
ห้องร้อยเรียงเรื่องเงินตราไทย
ส่วนสุดท้ายนี้ จำลอง "สื่อกลาง" ในการแลกเปลี่ยนตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่ผู้คนรู้จักการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ เรื่อยมาจนถึงการนำวัสดุธรรมชาติและโลหะมาใช้เป็นสื่อกลาง ก่อนพัฒนามาเป็นการใช้เหรียญและสื่อกลางในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บัตรเครดิต บัตรเดบิต ระบบ E - Banking