สตพรรษมาลา : ที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
สตพรรษมาลา : ที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
30/5/2561 / 75 / สร้างโดย Web Admin

กรุงรัตนโกสินทร์มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นเวลา ๒๓๕ ปี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาหลักเมือง ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕




พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วขึ้นในคราวเดียวกัน โดยให้วัดตั้งอยู่ภายในเขตพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๐๐ ปี พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ในการจัดงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี หรือเรียกกันว่า "สมโภชพระนคร” ขึ้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๒๔๔ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๒๕ โดยนับจากวันฝังเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา

พระราชพิธีงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมงานสมโภชกรุงอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ซึ่งทำนุบำรุงบ้านเมืองให้รุ่งเรืองมาจนมาถึงในรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเตรียมงานต่างๆ เช่น การหล่อพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ – ๔ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การเตรียมงานการแสดงสินค้าแห่งชาติ (National Exhibition) รวมถึงการจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "มหาจักรีบรมราชวงศ์” เหรียญ "ดุษฎีมาลา” และ "สตพรรษมาลา” สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี


เหรียญสตพรรษมาลาที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ชื่อว่า "เหรียญสตพรรษมาลา” สำหรับพระราชทานแก่ฝ่ายหน้าและฝ่ายในเป็นที่ระลึกงานสมโภชกรุงครบ ๑๐๐ ปี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ ถือเป็นการออกแบบเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ครั้งแรกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษา



เหรียญสตพรรษมาลา ใช้อักษรย่อ ส.ม. มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖.๓๐เซนติเมตร ขอบเหรียญมีรัศมี ๒๐ แฉก เส้นรัศมีภายในมี ๑๐๐ แฉก (หมายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี) มีรายละเอียด ดังนี้

ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ รัชกาล คือ รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ในลักษณะผินพระพักตร์ด้านข้างเรียงกัน มีอักษรริมขอบว่า "พ.บ.ส.พระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พ.บ.ส.พระบรมพงษ์เชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.บ.ส.พระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.บ.ส.พระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.บ.ส.พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์” เบื้องล่างมีอักษร คำว่า "จีรํ รชเช ปติฏฐาตุ” และมีอักษรว่า "เบนซอน” [๑] ใต้พระบรมรูป (ภาพที่ ๔)



ด้านหลัง มีข้อความว่า "สมโภชพระนครเฉลิมกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา บางกอก ในการบรรจบร้อยปีที่ ๑ ตั้งแต่วัน ๑ ๑๐ฯ ๖ ปีขาล จัตวาศก ๑๑๔๔ เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึง ณ วัน ๑ ๔ฯ ๖ ปีมะเมีย จัตวาศก ๑๒๔๔ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันนี้” ขอบเหรียญมีรูปตราเครื่องหมายประจำรัชกาล ตราอุณาโลมคั่น และมีข้อความ "(ตราปทุมอุณาโลม) พ.บ.ส. พระรามาธิบดีที่ ๔ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ปราบดาภิเษก ณ วัน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล จัตวาศก จ.ศ.ร.๑๑๔๔ (ตราครุฑ) พ.บ.ส. พระรามาธิบดีที่ ๕ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย บรมราชาภิเษก ณ วัน ๑ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง เอกศก จ.ศ.ร. ๑๑๗๑ (ตราปราสาท) พ.บ.ส. พระรามาธิบดีที่ ๖ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บรมราชาภิเศก ณ วัน ๑ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ฉศก จ.ศ.ร. ๑๑๘๖ (ตรามหามงกุฎ) พ.บ.ส. พระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรมราชาภิเศก ณ วัน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ตรีศก จ.ศ.ร. ๑๒๑๓ (ตราจุลมงกุฎ) พ.บ.ส. พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว บรมราชาภิเษก ณ วัน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ.ร. ๑๒๓๐” เหรียญนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบสีแดงกับสีขาว กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร
การจัดสร้างและการพระราชทานเหรียญสตพรรษมาลา

จากข้อความในหนังสือพิมพ์ The Illustrated London News ฉบับวันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ของอังกฤษ ได้มีการกล่าวถึงการสั่งทำเหรียญสตพรรษมาลา ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยนายเจ ดับบลิว เบนสัน ซึ่งมีจำนวนกว่า ๖,๐๐๐ เหรียญ ทำด้วยโลหะประเภททองคำบริสุทธิ์ เงิน เงินเคลือบกะไหล่ เงินบรอนซ์ และบรอนซ์ ซึ่งมีห่วงคล้องริ้บบิ้นสีขาวแดงอันเป็นสีประจำชาติ ใช้ประดับโดยการสวมคอ ซึ่งเหรียญเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ขุนนางและข้าราชการของอาณาจักร (ภาพที่ ๕) และในการจัดสร้างเหรียญสตพรรษมาลา พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เดินทางไปยุโรป ในปีพ.ศ. ๒๔๒๔ เพื่อพาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และบุตรข้าราชการหลายนายออกไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ และได้มอบหมายให้เป็นผู้สั่งทำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เหรียญดุษฎีมาลา และเหรียญสตพรรษมาลา เพื่อให้ทันงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี [๒]



หนังสือสมโภชพระนครครบร้อยปี ได้มีการกล่าวถึงการจัดสร้างเหรียญสตพรรษมาลาและ การพระราชทานไว้ว่า "เหรียญสตพรรษมาลา ทองคำ ๕ เหรียญ เงินกาไหล่ทอง ๑๐๐ ปอนด์ เงินกาไหล่นาค ๑๐๐ ปอนด์ เงินแท้ ๑๐๐ ปอนด์ แช่เงินเอเล็กโตรเปลตอย่างหนา ๕๐๐ ปอนด์ สัมริต ๕๐๐๐ ปอนด์ เหรียญทองที่เป็นสำหรับส่วนแผ่นดินที่ ๑ นั้น เป็นเครื่องต้น เหรียญทองสำหรับแผ่นดินที่ ๒ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เหรียญสำหรับแผ่นดินที่ ๓ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าปรไมยิกาเธอ เหรียญแผ่นดินที่ ๔ พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้า เหรียญสำหรับแผ่นดินที่ ๕ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ๕ เหรียญนี้เป็นเหรียญออเนอ และมีเหรียญทองกาไหล่ไว้อีก ๕ เหรียญ นอกนั้นแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ผู้ใดควรจะได้รับพระราชทานเงินแลกาไหล่ทอง,นาค, ก็สุดแล้วแต่จะโปรด...” [๓]
 

จากข้อความดังกล่าว เหรียญสตพรรษมาลาทองคำ ผลิตจำนวน ๕ เหรียญ เพื่อสำหรับพระราชทานตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป โดยเหรียญแรกสำหรับพระราชทานให้กับแผ่นดินเป็นเครื่องต้น หมายถึงสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เหรียญที่ ๒ สำหรับพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ หรือ "สมเด็จกรมพระ” เหรียญที่ ๓ สำหรับพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดา รัตนราชประยูร เหรียญที่ ๔ สำหรับพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สำหรับเหรียญที่ ๕ สำหรับพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ส่วนชนิดเงินกะไหล่ทอง เงิน และทองแดง พระราชทานแก่ผู้ที่รองตามลำดับชั้นนั้นลงมา แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กับผู้ใด [๔]



เหรียญสตพรรษมาลานอกจากเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อพระราชทานให้แก่เจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี แล้วยังเป็นเหรียญที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรีทั้ง ๕ พระองค์ ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมาแต่ครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ถือว่า เป็นเหรียญที่มีความสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยเหรียญมีการสั่งทำ ณ ประเทศอังกฤษ

ปัจจุบัน เหรียญสตพรรษมาลาเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่พ้นสมัยพระราชทาน และเป็นเหรียญที่หาชมยาก สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจึงได้นำมาจัดแสดง ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราช อิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ในพระบรมมหาราชวัง ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมและศึกษา รวมถึงจัดแสดงเหรียญที่ระลึกในสมัยรัชกาลต่างๆ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. (ยกเว้นวันที่มีพระราชพิธี)


* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์

เชิงอรรถ

พ.บ.ส. คือ คำย่อของ พระบาทสมเด็จ

[๑] คำว่า "เบนซอน” บนเหรียญชัดเจนว่าผลิตโดย J.W Benson of London ซึ่งเป็นห้างทองประจำราชสำนัก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

[๒] ธโนทัย สุขทิศ, ค้นพบผู้ผลิตเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญสตพรรษมาลา ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๗, (กรุงเทพฯ : สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ), พ.ศ. ๒๕๔๙, หน้า ๑๕๔ - ๑๕๕.

[๓] กรมศิลปากร. สมโภชพระนครครบร้อยปี, (พระนคร : รุ่งเรืองรัตน์), พ.ศ. ๒๕๐๒. หน้า ๒๘.

[๔] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เรียบเรียง, ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม, (พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร), พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๓๘๗.




เอกสารอ้างอิง

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เรียบเรียง. ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม. พระนคร :โสภณพิพรรฒธนากร. พ.ศ. ๒๔๖๘.

กรมศิลปากร. สมโภชพระนครครบร้อยปี. พระนคร : รุ่งเรืองรัตน์. ๒๕๐๒.

ธงทอง จันทรางศุ. ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค. พิมพ์ครั้งที่ ๓. ๒๕๕๓.

ธโนทัย สุขทิศ. ค้นพบผู้ผลิตเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญสตพรรษมาลา ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๗. กรุงเทพฯ : สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ. ๒๕๔๓.

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ดร. ราชทูตแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว. ๒๕๔๗

สำนักนายกรัฐมนตรี. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด. ๒๕๓๖.

The Illustrated London News, June 17, 1887.

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 563
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..