เหรียญเนื่องในวโรกาสครบรอบการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากวาระรัชดาภิเษกถึง 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จวบถึงวันนี้ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ นับเป็น ๗๐ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติที่พสกนิกรชาวไทยได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีด้วยความอยู่เย็นเป็นสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติในรัชกาลของพระองค์มีพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลแห่งการครองสิริราชสมบัติ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงพระราชกรณียกิจนานับประการเพื่อปวงชนชาวไทย กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบด้านการผลิตเหรียญ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกแห่งการครองสิริราชสมบัติในวโรกาสต่างๆ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระองค์
การครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
การครองสิริราชสมบัติ มีความหมายคือ คำว่า สิริ เป็นคำนาม มีความหมายว่า ศรี มิ่งขวัญ มงคล เช่น สิริราชสมบัติ คำว่า สิริ มักใช้เข้าคู่กับคำว่า "มงคล” เป็นสิริมงคล และคำว่า สิริ ยังมีความหมายว่า สวย งาม เช่น มีพระสิริโฉม ซึ่งถ้อยคำสำนวนที่ใช้กันว่า เสด็จขึ้นครองราชย์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ หรือ ทรงครองราชย์ ทรงครองราชสมบัติ หรือ ทรงครองสิริราชสมบัติ ล้วนมีความหมายในทำนองเดียวกัน คำว่า สิริ ที่เติมเข้ามาทำให้ถ้อยคำไพเราะและความหมายเพิ่มขึ้น ดังนั้น การครองสิริราชสมบัติครบรอบของพระมหากษัตริย์ กำหนดให้มีการจัดพระราชพิธีฉลองการครบรอบการครองสิริราชสมบัติเพื่อความเป็นสิริมงคล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีดังกล่าวขึ้น เริ่มตั้งแต่พระราชพิธีรัชดาภิเษก พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ตลอดระยะเวลาทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจเป็นเอนกอนันต์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรไทย
๑. พระราชพิธีรัชดาภิเษก
ตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี มีการเฉลิมฉลองหรือพิธีขึ้นฉลองสิริราชสมบัติของพระมหากษัตริย์เรียกว่า รัชดาภิเษก ซึ่งพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี มีเพียง ๔ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ และมีการจัดการพระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระองค์ทรงดัดแปลงวิธีการและแบบแผนมาจากชาติตะวันตกให้เป็นแบบไทย ซึ่งในครั้งนั้นมีการจัดบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จบูรพมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยมีการจัดพระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้น ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ นับเป็นครั้งที่ ๒ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี
ออกตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๐ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๑๔ จัดทำด้วยชนิดทองคำ (ธรรมดา) ราคาหน้าเหรียญ ๘๐๐ บาท และ ๔๐๐ บาท และชนิดเงิน ราคาหน้าเหรียญ ๑๐ บาท มีลวดลายด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และทรงฉลองพระองค์ครุย ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ภายในวงขอบเบื้องบนมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ ๙” เบื้องล่างมีข้อความว่า "ครองราชย์ครบ ๒๕ ปี” ด้านหลังของเหรียญ กลางเหรียญมีพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร.” ประดิษฐานเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระบวรเศวตฉัตรเปล่งรัศมีใหญ่น้อยออกไปโดยรอบ ภายในวงขอบเบื้องบนมีข้อความว่า "รัฐบาลไทย ๙ มิ.ย. ๒๕๑๔” เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาและคั่นด้วยลายกระหนก
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี
การสร้างเหรีญที่ระลึกประดับแพรแถบครองราชย์ครบ ๒๕ ปี สร้างครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในวาระที่พระองค์ครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ สมัยนั้นเรียกว่า "เหรียญรัชดาภิเษกมาลา” สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นที่ระลึก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ รัฐบาลสมัยนั้นได้ขอพระบรมราชานุญาตในการสร้างเหรียญรัชดาภิเษกขึ้นเป็นที่ระลึกตามโบราณราชประเพณีและเป็นการเทิดพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่าน โดยออกพระราชบัญญัติเหรียญรัชดาภิเษก พ.ศ. ๒๕๑๔ มีลักษณะเหรียญด้านหน้า มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ภายในวงขอบเบื้องบนมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องล่างมีข้อความว่า "สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ส่วนด้านหลัง มีพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ภายในวงขอบเบื้องบนมีข้อความว่า "ที่ระลึกพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี” ภายในวงขอบเบื้องล่างมีข้อความว่า "๙ มิถุนายน ๒๕๑๔” มีแพรแถบสีเหลืองริมสีเขียว และมีริ้วสีขาวขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง
๒. พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นพระราชพิธีโบราณที่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงครองราชสมบัติยืนยาวเป็นปีที่ ๔๑ ซึ่งนับว่ายืนยาวกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในประวัติศาสตร์สยาม และทรงครองสิริราชสมบัติสืบต่อมาจนสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นับรวมเป็นระยะเวลา ๔๒ ปี ๒๒ วัน ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จวบจนถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ นับรวมเป็นเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๔๒ ปี ๒๓ วัน ซึ่งมีระยะเวลายาวนานกว่าสมเด็จพระบรมอัยกาเจ้า (รัชกาลที่ ๕) และยืนยาวกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในแผ่นดินสยาม
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ออกตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๘๓ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ จัดทำด้วยชนิดทองคำ (ขัดเงาและธรรมดา) ราคาหน้าเหรียญ ๖,๐๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท และ๑,๕๐๐ บาท และชนิดเงิน (ขัดเงาและธรรมดา) ราคาหน้าเหรียญ ๖๐๐ บาท ๓๐๐ บาท และ ๑๕๐ บาท และชนิดนิกเกิล(ขัดเงาและธรรมดา) ราคา ๑๐ บาท และคิวโปรนิกเกิล ราคา ๕ บาท และ ราคา ๒ บาท ลวดลายด้านหน้าเหรียญ มีขอบเหรียญวงในเป็นรูป ๙ เหลี่ยม กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และทรงฉลองพระองค์ครุย ขอบเหรียญด้านซ้ายมีข้อความว่า "ภูมิพลอดุลยเดช” ด้านขวามีข้อความว่า "รัชกาลที่ ๙” ส่วนด้านหลัง ขอบเหรียญวงในเป็นรูป ๙ เหลี่ยม กลางเหรียญมีอักษร พระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร” ภายใต้พระมหามงกุฎยอดเปล่งรัศมี ด้านล่างมีข้อความบอกราคา ขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "ประเทศไทย” เบื้องล่างมีข้อความว่า "รัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑”
เหรียญที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
มีจำนวน ๒ แบบ ได้แก่ แบบที่ ๑ ชนิดทองคำ (ขัดเงา) และเงิน (ขัดเงา) ด้านหน้าเหรียญ กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องเต็มยศจอมทัพไทย ฉลองพระองค์ครุย ทรงสายสร้อยจุลจอมเกล้า ประทับ ณ พระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก สองข้างพระราชอาสน์ตั้งโต๊ะเคียงทอดเครื่องราชูปโภค ภายในวงของเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ขอบเหรียญด้านซ้ายมีข้อความว่า "พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก” ขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า "วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑” เบื้องล่างมีเครื่องหมายนกวายุภักษ์ สัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง แบบที่ ๒ ชนิดทองคำ (ธรรมดา) กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พระพักตร์เฉียงทางเบื้องขวา ทรงเครื่องแบบเต็มยศจอมทัพไทย ฉลองพระองค์ครุย สวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า ขอบเหรียญด้านล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ส่วนด้านหลัง มีลวดลายเช่นเดียวกับแบบที่ ๑
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
ออกตามพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. ๒๕๒๙ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ มีลักษณะเป็นเหรียญเงิน รูปกลมแบนใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐ มิลลิเมตร ลวดลายด้านหน้า ขอบเหรียญวงในเป็นรูปเก้าเหลี่ยม กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และทรงฉลองพระองค์ครุย ขอบด้านซ้ายมีข้อความว่า "ภูมิพล อดุลยเดช” ด้านขวามีข้อความว่า "บรมราชาธิราช” ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญมีพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร” และประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นพระมหากษัตริยา ธิราช ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี และฉลองพระบาท ขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "รัชมังคลาภิเษก วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑” แพรแถบมีสีเหลืองและตรงกลางของแพรแถบมีริ้วสีขาว
๓. พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญในการฉลองครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยในแผ่นดินสยามพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรก ที่ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
ออกตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๓๙ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ และฉบับที่ ๑๔๐ จัดทำด้วยชนิดทองคำ (ขัดเงาและธรรมดา) ราคาหน้าเหรียญ ๖,๐๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท และ ๑,๕๐๐ บาท และชนิดเงิน (ขัดเงาและธรรมดา) ราคาหน้าเหรียญ ๖๐๐ บาท ๓๐๐ บาท และ ๑๕๐ บาท และชนิดโลหะสีขาว (ขัดเงาและธรรมดา) ราคาหน้าเหรียญ ๒๐ บาท ชนิดโลหะสองสี ราคาหน้าเหรียญ ๑๐ บาท ชนิดโลหะสีขาวเคลือบไส้ทองแดง ราคาหน้าเหรียญ ๕ บาท และ ๒ บาท ชนิดโลหะขาว ราคาหน้าเหรียญ ๑ บาท ชนิดอะลูมิเนียมบรอนซ์ ราคาหน้าเหรียญ ๕๐ และ ๒๕ สตางค์ และชนิดอะลูมิเนียม ราคาหน้าเหรียญ ๑๐, ๕ และ ๑ สตางค์ ด้านหน้าเหรียญ กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และทรงฉลองพระองค์ครุย วงขอบเหรียญมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร” และ "รัชกาลที่ ๙” โดยมีลายกระหนกคั่นระหว่างข้อความ ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และขอบเหรียญมีข้อความว่า "ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ประเทศไทย”และข้อความบอกราคา
เหรียญที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
จัดทำขึ้น ๓ แบบ โดยแบบที่ ๑ เป็นเหรียญรูปกลมแบน วงขอบนอกเรียบ จัดทำด้วยเนื้อทองคำขาวและทองคำ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕๐ มิลลิเมตร ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท น้ำหนัก ๑๑๕ กรัม ด้านหน้า กลางเหรียญเนื้อทองคำมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรม ขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และฉลองพระองค์ครุย ภายในวงขอบเหรียญเนื้อทองคำขาว มีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราราชบรมนาถบพิตร และ "รัชกาลที่ ๙” โดยมีลายกระหนกคั่นระหว่างข้อความ ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญเนื้อทองคำ มีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ภายในวงขอบเหรียญเนื้อทองคำขาว มีข้อความว่า "ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙” ด้านล่างขอบเหรียญมีรูปนกวายุภักษ์ สัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง
แบบที่ ๒ เป็นเหรียญรูปกลมแบน วงขอบนอกเรียบ ชนิดทองคำ (ขัดเงา) ราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๐ มิลลิเมตร น้ำหนัก ๒๔๐ กรัม ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออกมหาสมาคม เมื่อวันบรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงถือพระแสงขรรค์ชัยศรี ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎประดับสายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ สายสร้อยจักรีสังวาลย์นพรัตนราชวราภรณ์ โต๊ะเคียงข้างที่ประทับทอดเครื่องราชูปโภคประทับเหนือพระที่นั่งกาญจนสิงหาสน์ ผินพระพักตร์ด้านซ้าย เบื้องหลังมีรูปพระบรมมหาราชวังมุมเด่น คือ ปราสาทพระเทพบิดร ภายในวงขอบเหรียญมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร” ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ใต้สัญลักษณ์มีเครื่องหมายนกวายุภักษ์ สัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง ภายในวงขอบเหรียญมีข้อความว่า "ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙”
แบบที่ ๓ เป็นเหรียญกลม ขอบเรียบ จัดทำด้วยชนิดทองคำ (ขัดเงา) ทองคำ (ธรรมดา) และทองแดงด้านหน้าของเหรียญ กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบก ทรงสายสะพายและสร้ายสร้อยแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า ด้านหลังของเหรียญ กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก รัชกาลที่ ๙” ด้านล่างมีข้อความว่า "๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙” มีจุดกลมคั่นระหว่างข้อความ และใต้สัญลักษณ์มีเครื่องหมายนกวายุภักษ์ สัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
มีลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ จัดทำด้วยทองคำและเงินกาไหล่ทอง มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง ๓๐ มิลลิเมตร สูง ๓๕ มิลลิเมตร ลวดลายด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่อง บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุยทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน พระหัตถ์ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรีวางพาดบนพระเพลา ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ด้านข้างพระที่นั่งทั้งสองข้าง มีโต๊ะเคียงสลักลายมังกร โต๊ะเคียงด้านขวาและซ้ายทอดเครื่องราชูปโภค ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ภายในวงขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า "ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี” ด้านซ้ายมีข้อความว่า "๙ มิถุนายน ๒๕๓๙” เบื้องล่างมีข้อความว่า "กาญจนาภิเษก” ขอบบนของเหรียญเป็นรูปพระแสงขรรค์ชัยศรีไขว้กับพระคฑาจอมพลสำหรับห้อยกับห่วงและแพรแถบ แพรแถบมีสีเหลืองมีริ้วสีน้ำเงินห้าริ้วบนแพรแถบ
๔. พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เคยเกิดขึ้นในยุโรปในสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย (Victoria Alexandrina) ของสหราชอาณาจักร ที่ทรงครองสิริราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๐-๒๔๔๔ โดยในแผ่นดินสยาม ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินสยามที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ครองสิริราชสมบัติยาวนานเท่ากับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีสมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และผู้แทนพระองค์ของพระประมุข รวม ๒๕ ประเทศ เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างเป็นทางการ
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
จัดทำด้วยชนิดทองคำ ราคาหน้าเหรียญ ๑๒,๐๐๐ บาท ประเภทขัดเงา (ภาพสามมิติ) และธรรรมดา ชนิดเงิน ราคา ๖๐๐ ประเภทขัดเงา (ภาพสามมิติ) และธรรมดา ชนิดโลหะสีขาว ราคา ๒๐ บาท (ขัดเงาและธรรมดา) ชนิดโลหะสองสี ราคา ๑๐ บาท ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ริมขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยลายรูปเพชรร้อยเรียงกันจำนวน ๖๐ เม็ด ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี แบบภาพสามมิติ เบื้องล่างตราสัญลักษณ์มีข้อความบอกราคาและคำว่า "ประเทศไทย” ขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙”
เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

จัดทำด้วยชนิดทองคำพ่นทราย เงินพ่นทราย และทองแดงพ่นทราย ด้านหน้ากลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี” เบื้องล่างมีข้อความว่า "วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙” โดยมีดอกไม้ประดิษฐ์คั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่าง

เหรียญที่ระลึก ประเภท Triple Cameo ด้านหน้า กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เบื้องบนรูปตราสัญลักษณ์มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฏ เสด็จขึ้นเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระแท่นราชบัลลังก์ ด้านขวาและด้านซ้ายมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะมีพระราชปฎิสันฐานกับราษฎรอย่างใกล้ชิด โดยมีลายประดิษฐ์คั่นระหว่างพระบรมรูปทั้งสาม ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปธงชาติไทยกับธงชาติของประเทศ พระราชอาคันตุกะที่เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงาน เบื้องบนรูปธงชาติ มีข้อความว่า "The Sixtieth Anniversary Cerebrations of His Majesty’s Accession to the Throne ๙th June, ๒๐๐๖” เบื้องล่างมีข้อความ "ชื่อพระราชอาคันตุกะแต่ละประเทศ” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนและเบื้องล่างมีรูปลายไทยประดิษฐ์ เหรียญที่ระลึกชุดดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานให้แก่สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และผู้แทนพระองค์ของพระประมุข รวม ๒๕ ประเทศ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในพระราชพิธีดังกล่าว
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
มีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปไข่ กว้าง ๓๐ มิลลิเมตร ยาว ๓๕ มิลลิเมตร หน้าเหรียญ มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ในวงขอบเหรียญมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙” ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ปี ในวงขอบเหรียญเบื้องบน มีข้อความว่า "พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี” เบื้องล่างมีข้อความว่า "วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙” นอกขอบเหรียญเบื้องบนมีจักรและตรีศูลประดับอยู่กลางรูปพระมหาเศวตฉัตร ๙ ชั้น สำหรับห้อยแพรแถบกว้าง ๓๒ มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีเหลือง ริมแพรแถบทั้งสองข้างเป็นริ้วสีน้ำเงิน ข้างละสามริ้วรวมหกริ้ว หมายถึง ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี ระหว่างริ้วน้ำเงินเป็นริ้วสีขาว มีความหมายถึงสีแห่งความบริสุทธิ์และศาสนา
๕. พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจตลอดเวลา ๗๐ ปี เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี
จัดทำด้วยชนิดทองคำ (ขัดเงา) ราคา ๑๖,๐๐๐ บาท เงิน (ขัดเงา) ราคา ๘๐๐ บาท และคิวโปรนิกเกิลราคา ๕๐ บาท ด้านหน้าของเหรียญ กลางเหรียญมี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช” โดยมีลายไทยประดิษฐ์อยู่ด้านหน้าและด้านหลังข้อความ ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ มีรัศมีโดยรอบรูปตราสัญลักษณ์ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙” เบื้องล่างมีข้อความบอกราคา และมีข้อความว่า "ประเทศไทย” โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่าง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ตั้งแต่วาระรัชดาภิเษกถึง ๗๐ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ กรมธนารักษ์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงพระราชกรณียกิจด้วยความพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรไทย ซึ่งเหรียญในวโรกาสสำคัญดังกล่าว ถือเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เทิดทูน และความจงรักภักดี ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
* ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
บรรณานุกรม
กรมธนารักษ์.๒๕๕๕.เหรียญกษาปณ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๕๕.กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
กรมธนารักษ์.๒๕๕๕.เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๕๕.กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
กรมธนารักษ์.๒๕๕๖.๘๔ กษาปณ์แห่งองค์ราชัน.กรุงเทพมหานคร : บริษัท โกลบอลอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
บันทึกด่วนที่สุด ที่ กค ๐๓๐๙/๑๗๓๕ ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ สำนักกษาปณ์ เรื่อง การจัดทำเหรียญกษาปณ์ ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี.
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ.๒๕๓๙.เหรียญและเงินตราไทยในรอบ ๕๐ ปี.กรุงเทพมหานคร : บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์.๒๕๔๔.เหรียญกษาปณ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๔๒.กรุงเทพมหานคร : บริษัทดาวฤกษ์ จำกัด.
ความหมายของคำว่า สิริราชสมบัติ.[online].วันที่สืบค้น ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐. http://www.royin.go.th.
พระราชพิธีอันเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง.[online].วันที่สืบค้น ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐.http://www.brh.thaigov.net.
๙ เหรียญพิเศษ อันเกี่ยวเนื่องกับในหลวง ร.๙.[online].วันที่สืบค้น ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐.http://www.prachachat.net.
๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ "พระราชา” ศรีสง่าแห่งแคว้น.[online].วันที่สืบค้น ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐. http://www.posttoday.com.