Coinขอแชร์ : หอยเบี้ย เงินตราจากท้องทะเลสู่เงินย่อยในระบบเศรษฐกิจ
Coinขอแชร์ : หอยเบี้ย เงินตราจากท้องทะเลสู่เงินย่อยในระบบเศรษฐกิจ
14/11/2564 / 19 / สร้างโดย sakklavut sakklavut

- หอยเบี้ย เงินตราจากท้องทะเลสู่เงินย่อยในระบบเศรษฐกิจ -
เมื่อระบบเศรษฐกิจถือกำเนิดขึ้นบนโลก สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนย่อมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องถูกกำหนดขึ้นตามมาด้วย ดังที่เราพบว่า สังคมส่วนใหญ่มักเจริฐเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการขยายตัวของเส้นทางการค้านับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Route) ขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสุวรรณภูมิ
นอกจากเหรียญกษาปณ์หรือเหรียญตราที่ชุมชนโบราณทั่วโลกใช้สำหรับเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจแล้ว วัตถุอีกประเภทหนึ่งที่พบว่าต่างถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ก็คือ "หอยเบี้ย (Cowries Shells)” ที่เป็นสัตว์น้ำเค็มชนิดกาบเดี่ยว อาศัยตามชายฝั่งทะเลน้ำตื้นในเขตน้ำอุ่น ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า หอยเบี้ย ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เช่น แหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย จังหวัดลพบุรี และแหล่งโบราณคดีในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เป็นต้น และก็มีบางแหล่งที่พบหอยเบี้ยจำนวนมาก จึงทำให้สันนิษฐานว่า หอยเบี้ย น่าจะถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าแล้วมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยา ที่พบแพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่ชุมชนโบราณ
หลักฐานบันทึกการเดินทางของชาวจีน "เต่าอี่จื้อลิ่ว” ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 1893 ร่วมสมัยกับรัฐสุโขทัยและเมืองอโยธยา ได้กล่าวถึงสังคมในเมืองละโว้ (ลพบุรี) ไว้ว่า "ใช้หอยเบี้ยแทนเงินตราทั่วๆ ไป เบี้ยจำนวน 10,000 เบี้ย เทียบเท่ากับธนบัตรจงถ่ง (เงินตราราชวงศ์เหวียน) 25 ตำลึง” ดังนั้น สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ในระดับหนึ่งแล้วว่า หอยเบี้ย เปรียบเสมือนเงินตรารูปแบบหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของบ้านเมืองแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
แล้วหอยเบี้ยที่ใช้ในบ้านเรามีแหล่งที่มาจากไหน?
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า หอยเบี้ย ถือเป็นสัตว์ทะเลน้ำตื้น จึงมักจะพบตามแนวหมู่เกาะหรือเมืองที่ติดกับแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งเอกสารบันทึกของ ลา ลูแบร์ ทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปี พ.ศ. 2230 ได้ให้ข้อมูลแหล่งที่มาของหอยเบี้ยเหล่านี้ไว้ว่า "...ชาวยุโรปที่อยู่ในประเทศสยามเรียกเบี้ยนี้ว่า กอริ และชาวสยามเรียกว่า เบี้ย (Bia) เบี้ยชนิดนี้งมกันได้มากมายที่เกาะมาลดีเว่อส์ (- มัลดีฟส์) ลางทีก็มีมาจากฟิลิปปินส์ แต่เป็นจำนวนน้อย...” สอดคล้องกับข้อความในบันทึกของคณะทูต เดอ โชมองต์ ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้กล่าวว่า "...เงินปลีกย่อยนั้นเขาใช้เปลือกหอยซึ่งพวกฮอลันดาส่งมาจากเมืองมัลดีฟมาขายให้ หอยเบี้ยนี้ 800 ตัว มีค่าเท่ากับ 1 เฟื้อง หอยพวกนี้เขาเรียกว่า เบี้ย...”
การที่หอยเบี้ยถูกนำมาใช้เป็นเงินตราก็เนื่องด้วยมีคุณสมบัติบางประการที่ต่างไปจากเปลือกหอยชนิดอื่น กล่าวคือ หอยเบี้ยทุกตัวมีขนาดเท่ากัน จึงทำให้มีมูลค่า (value) เท่ากัน รวมถึงมีน้ำหนักเบาสามารถพกพาได้สะดวกถึงแม้จะพกไปในจำนวนมากก็ตาม อีกทั้งยังมีลักษณะของเปลือกและรูปทรงที่เหมือนกันทุกตัว ทำให้จำแนกได้ง่ายกว่าแม้จะต่างสายพันธุ์ หอยเบี้ยที่ถูกใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสามารถจำแนกได้ทั้งหมด 2 สายพันธุ์ ได้แก่ หอยเบี้ยจั่น (จากมหาสมุทรอินเดีย) และหอยเบี้ยนาง (จากหมู่เกาะฟิลิปปินส์และเกาะบอร์เนียว) ซึ่งจากคุณสมบัติดังกล่าวได้ทำให้หอยเบี้ยเป็นหนึ่งในเงินตราที่มีมูลค่า แต่เมื่อเทียบกับเงินตรารูปแบบอื่นๆ ก็พบว่า หอยเบี้ย ถือเป็นเงินตราที่มูลค่าน้อยที่สุดในระบบอัตราแลกเปลี่ยน โดยปรากฎหลักฐานการกล่าวถึงอัตราเงินตราในสมัยอยุธยาจากบันทึกของนายฟาน ฟลีต (วัน วลิต) ที่เดินทางเข้ามาสยามในปี พ.ศ. 2179 ความว่า "...ประชาชนคนสามัญจะใช้หอยตัวเล็กๆ ซึ่งมาจากมะนิลาและบอร์เนียวด้วย หอยเหล่านี้จำนวน 600-700 ตัว มีค่าเท่ากับ 1 เฟื้อง...” และ "...ประชาชนก็อาจซื้อของกินของใช้ที่ตลาดได้เพียงพอสำหรับวันหนึ่งด้วยหอยเพียง 5 ถึง 20 ตัว หรือน้อยกว่านั้น...”
อย่างไรก็ตาม หอยเบี้ย ถือเป็นเพียง "เงินย่อย” ในระบบสื่อกลางการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของสังคมรัฐในดินแดนประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งแท้จริงแล้วนั้น รัฐได้ผลิตสื่อกลางอีกรูปแบบหนึ่งจากโลหะมาใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนทางการค้า สิ่งนั้นก็คือ เงินพดด้วง มีหน่วยเป็นเฟื้อง – ตำลึง – บาท นั่นเอง
..
[อ้างอิง]:
- นวรัตน์ เลขะกุล. หอยเบี้ย ที่เป็นเงินตรา. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.), 2558.
- วิภาดา อ่อนวิมล. เงินตราในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสยาม. กรุงเทพฯ: โครงการวิจัย "ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” ในความสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2562

Coinขอแชร์ : หอยเบี้ย เงินตราจากท้องทะเลสู่เงินย่อยในระบบเศรษฐกิจ Coinขอแชร์ : หอยเบี้ย เงินตราจากท้องทะเลสู่เงินย่อยในระบบเศรษฐกิจ