ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295 / สร้างโดย Web Admin

จิรศักดิ์ อินทะวิชัย*

พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการสร้างพระพุทธรูปนั้นอาจสื่อได้ถึงหลักคิด ๒ ประการ คือ ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ในอริยสัจของพระพุทธเจ้า๑ และพระพุทธรูปนั้นยังจัดเป็นอุเทสิกเจดีย์ คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า๒ ด้วยคติดังกล่าวส่งผลให้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์หรือชนชั้นผู้ปกครองทรงสร้าง หรือมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ จะได้รับความสำคัญและเพิ่มความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนมากยิ่งขึ้น ดังเช่นพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของไทย ซึ่งมีความเป็นมาสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมาอย่างช้านาน ทำให้องค์พระกลายเป็นที่เคารพศรัทธาบูชายิ่งมาจน ณ ปัจจุบัน ความสำคัญดังกล่าวส่งผลให้มีการจำลองภาพพระพุทธชินสีห์ลงบนหน้าเหรียญที่ระลึกแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พระพุทธชินสีห์

พระพุทธชินสีห์(องค์หน้า),พระพุทธสุวรรณเขต (องค์หลัง) ประดิษฐานในพระอุโบสถบวรนิเวศราชวรวิหาร


ความเป็นมา

พระพุทธชินสีห์ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ตามพงศาวดารเหนือระบุว่า พญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยโปรดให้สร้างองค์พระพุทธชินสีห์ขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราช และพระศรีศาสดา ราว พ.ศ. ๑๙๐๐ เดิมประดิษฐานที่พระวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก๓ ครั้นถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๗๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้อัญเชิญองค์พระจากเมืองพิษณุโลกมาประดิษฐานยังมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๓๙๒ วชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ยังมุขหน้าหรือบริเวณภายในพระอุโบสถ เบื้องหน้าพระพุทธสุวรรณเขต พร้อมทั้งทรงโปรดให้กะไหล่พระรัศมีใหม่ด้วยทองคำ ฝังเพชรที่พระเนตรและพระอุณาโลม พร้อมทั้งปิดทองทั้งองค์ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงโปรดให้แผ่ทองคำลงยาราชาวดี๔ ประดับพระรัศมี พร้อมทั้งทรงถวายฉัตรตาด ๙ ชั้น ผ้าทรงสะพักพาด ต้นไม้เงินและต้นไม้ทอง พ.ศ. ๒๓๙๘ ทรงโปรดให้หล่อฐานด้วยสำริด พร้อมทั้งปิดทองทั้งฐานและองค์พระใหม่ ในการนี้ทรงโปรดให้สมโภช ๕ วัน ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ทรงโปรดให้สมโภชอีกครั้ง ภายหลังเสด็จกลับจากนมัสการพระพุทธชินราช ครั้งนี้ได้ทรงถวายพระธำมรงค์หยกสวมนิ้วพระอังคุฐซ้าย และถวายเงิน ๕๐ ชั่ง๕


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้า ให้ปิดทองและสมโภชขึ้นในคราวเดียวกับการฉลองพระอารามที่ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อคราวประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนครทางสถลมารค ทรงนมัสการและถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแด่องค์พระพุทธชินสีห์ ภายหลังพระองค์เสด็จสวรรคตจึงได้ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารในฐานพุทธบัลลังก์องค์พระพุทธชินสีห์๖ และบัญญัติให้ วัดบวรนิเวศวิหารได้เป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาส่วนพระองค์ในราชวงศ์จักรี ที่มีต่อพระปฏิมาองค์นี้ยิ่ง โดยเฉพาะในวันบำเพ็ญพระกุศลประกอบพระราชพิธีทอดผ้าพระกฐินพระราชทานองค์พระพุทธชินสีห์จะมีการเปลี่ยนพระเมาลีพิเศษที่ลงยาสีเป็นประจำทุกปี



พระพุทธชินสีห์ขณะทรงพระเมาลีลงยา

ที่มาภาพ: พิชัย ยินดีน้อย


พุทธลักษณะ
 

เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๘๐ เมตร สูง ๓.๗๒ เมตร ศิลปะสุโขทัย สกุลช่างพิษณุโลก ถูกจัดอยู่ในแบบพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราชซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ พระพักตร์เป็นรูปรีกับพระวรกายอวบอ้วนมากกว่าแบบสุโขทัย และมีนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน๗ ส่วนนามของพระปฏิมาองค์นี้นั้น มาจากการสมาสของคำว่า ชินะ และ สีหะ อันแปลความได้ว่า ผู้มีชัยอย่างราชสีห์ ซึ่งสื่อถึงพระนามของพระพุทธเจ้าในฐานะมหาบุรุษ พุทธลักษณะดังกล่าวนี้ได้สร้างความเลื่อมใสให้กับผู้ที่พบเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ทรงศรัทธาเลื่อมใสในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภก ประกอบกับองค์พระมีความเป็นมาที่ยาวนาน ทำให้มีการจำลององค์พระพุทธชินสีห์ไปสักการะบูชาในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่น องค์พระพุทธชินสีห์จำลองแบบลอยองค์ วัตถุมงคลพระพุทธชินสีห์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น


พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับชกาลที่ ๙


พระภิกษุพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ (ภูมิพโลภิกขุ) ขณะทรงผนวชทรงประทับภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เบื้องหน้าพระพุทธสุวรรณเขตพระพุทธชินสีห์


พระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึก

๑. เหรียญที่ระลึกทรงสมโภชเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๔๐


 




ภาพพระพุทธชินสีห์ปรากฏครั้งแรกบนเหรียญที่ระลึกทรงสมโภชเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๔๐ ทรงกลม ขอบเรียบ ที่มาภาพ: ชัชวาล วูวนิช และคณะ เหรียญบนแผ่นดิน ร.๕ กรุงเทพฯ คอมมอนเซนซ์ ดีไซน์แอนด์พริ้นท์ ๒๕๔๙


ภาพพระพุทธชินสีห์ปรากฏครั้งแรกบนเหรียญที่ระลึกทรงสมโภชเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ มี ๒ แบบ แบบที่ ๑ ทรงกลม ขอบเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๒ มิลลิเมตร ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานบนแท่นขาสิงห์ตรงกลางลายเส้นใบโพธิ์ ส่วนล่างมีข้อความว่า "พระพุทธชินสีห์” ด้านหลัง ส่วนบนเป็นรูปอุณาโลม และมีข้อความว่า "งารสมโภช เมื่อเสดจกลับ จากยุโรป ๒๔๔๐ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นเหรียญที่พิมพ์ลองแบบก่อนจะมาตัดขอบภายหลัง แบบที่ ๒ มีลักษณะเป็นเหรียญรูปใบโพธิ์ที่ตัดขอบเรียบร้อยแล้ว ขนาดกว้าง ๒๙ มิลลิเมตร ยาว ๓๔ มิลลิเมตร ทั้งสองแบบผลิตจากโลหะเงินกะไหล่ทอง เงิน และทองแดง สั่งผลิตจากต่างประเทศ๘ จึงมีลายเส้นที่คมชัด งดงาม และยังมีความสำคัญคือเป็นเหรียญที่ปรากฏภาพพระพุทธรูป เหรียญแรกของประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีจุดมุ่งหมายในการสร้าง ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อสมโภชพระพุทธชินสีห์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญขององค์พระซึ่งเป็นพระราชศรัทธายิ่งของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนประชาชนชาวสยามทั้งหลาย
๒. เพื่อเป็นที่ระลึก ร. ๕ เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้เสด็จประพาสยุโรป แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวสยามที่มีต่อพระมหากษัตริย์ยิ่ง ด้วยการเดินทางครั้งนี้นั้น พระองค์ทรงต้องเผชิญ ความยากลำบากการเดินเรือในมหาสมุทรนานกว่า ๘ เดือน
๓. เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอของ ร.๕ สันนิษฐานว่าคงเป็นพระดำริของของพระองค์ในการจำลองภาพพระพุทธชินสีห์มาเป็นแบบ เนื่องจากพระองค์ทรงร่วมเป็นหลักในงานสมโภชดังกล่าว อีกทั้งยังได้ทรงโปรดให้คณะสงฆ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรและสดุดีพระเกียรติคุณในโอกาสดังกล่าว เหรียญชนิดนี้ยังเป็นที่นิยมในหมู่วงการพระเครื่องเรียกว่า "เหรียญปู่” ในปัจจุบันหาได้ยาก เนื่องจากไม่ปรากฏจำนวนที่สร้าง๙
อนึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศช่วงต้นรัชกาลที่ ๙ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็ได้ทรงเสด็จนมัสการพระพุทธชินสีห์ ทั้งก่อนเสด็จและหลังเสด็จนิวัติทุกครั้ง๑๐ซึ่งเชื่อว่าเป็นคตินิยมที่มาจากการสร้างเหรียญที่ระลึก ฯ พ.ศ. ๒๔๔๐ นี้ ในครั้งนี้ก็ได้มีการสร้างเหรียญที่ระลึกรูปขอบตัดใบโพธิ์ขึ้นด้วย โดยลักษณะเหรียญเหมือนกันทุกประการเพียงแต่เปลี่ยนข้อความเป็น "ที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินนิวัตจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔” เท่านั้น๑๑



เหรียญที่ระลึกทรงสมโภชเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๔๐ รูปใบโพธิ์
ที่มาภาพ: ชัชวาล วูวนิช และคณะ เหรียญบนแผ่นดิน ร.๕ กรุงเทพฯ คอมมอนเซนซ์ ดีไซน์แอนด์
พริ้นท์ ๒๕๔๙


๒. เหรียญพระราชทานตั้งโต๊ะ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๔๗

ความสำคัญของพระพุทธชินสีห์ถูกนำมาสร้างเหรียญอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เรียกว่าเหรียญพระราชทานตั้งโต๊ะ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือเหรียญพระพุทธชินสีห์ ลักษณะเหรียญเป็นรูปคล้ายเปลวเพลิง ขนาดกว้าง ๒๗ มิลลิเมตร ยาว ๓๒ มิลลิเมตร ทั้งยังพบว่ามีการเจาะหูเชื่อมสำหรับร้อยห่วงในบางเหรียญด้วย ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานบนอาสนะบัวคว่ำบัวหงายฐานสิงห์อยู่กลางเหรียญ ด้านซ้ายมีอักษรว่า "พระพุทธ” ด้านขวามีอักษรว่า "ชิณสีห์” ด้านหลังเป็นอักษรว่า "ที่รฤกตั้งโตะในการเสด็จพระราชทานกฐิน วัดบวรนิเวศวิหาร ๑/๘/๑๒๓” ผลิตจากโลหะเงิน ทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ผู้ชนะในการประกวดงานตั้งโต๊ะเครื่องบูชา ซึ่งก็คือการประกวดโดยนำเครื่องเคลือบลายคราม ที่สั่งจากจีน นำมาจัดโต๊ะหมู่บูชาเป็นชุด ๆ เนื่องจากในช่วงดังกล่าวเป็นที่นิยมกันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คหบดี นักสะสมของเก่า ตลอดจนนักเล่นเครื่องลายครามและเครื่องตั้งโต๊ะ๑๒ จุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่ง คือ เป็นสิ่งที่ระลึก ในการเสด็จ ฯ พระราชทานกฐิน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ ๕ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนพระองค์ได้เสด็จมาในการพระราชพิธีดังกล่าวขึ้นในวันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๔๗

เหรียญพระพุทธชินสีห์ที่ผลิตขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นเหรียญที่ระลึกอันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างร่วมสมัยกับเหตุการณ์และสถานที่ สะท้อนถึงธรรมเนียมนิยมในสังคมในการสะสมของแบบจีน และพระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาไทยได้เป็นอย่างดี


เหรียญพระราชทานตั้งโต๊ะ

เหรียญพระราชทานตั้งโต๊ะ หรือเหรียญพระพุทธชินสีห์ พ.ศ.๒๕๔๙
ที่มาภาพ: ชัชวาล วูวนิช และคณะ เหรียญบนแผ่นดิน ร.๕ กรุงเทพฯ คอมมอนเซนซ์ ดีไซน์แอนด์
พริ้นท์ ๒๕๔๙


๓. เหรียญพระพุทธชินสีห์ ชุดเหรียญที่ระลึกพุทธปัญจภาคี พ.ศ. ๒๕๓๙

การจัดสร้างเหรียญในครั้งนี้ได้จำลองภาพพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานตรงกลางใบโพธิ์มาใช้อีกครั้ง แต่ต่างกันที่ครั้งนี้ องค์พระประดิษฐานบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเท่านั้น ผลิตขึ้นเพื่อเป็นวัตถุมงคลบูชาของพสกนิกรชาวไทย และแสดงพระบุญญาธิการ๑๓ ในฐานะองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช ร.๙ ในวาระเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ลักษณะเหรียญเป็นรูปรี ขอบเรียบ ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผินพระพักตร์เบื้องขวา ชิดวงขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "ภูมิพลอดุลยเดช บรมราชาธิราช” ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระพุทธชินสีห์ ด้านล่างมีเครื่องหมายโรงกษาปณ์ ข้อความว่า "๒๕๓๙”"พระพุทธชินสีห์” ตามลำดับ ชิดวงขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "สร้างถวายในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก” ชุดเหรียญที่ระลึกนี้ผลิตด้วยโลหะ ๓ ชนิด ได้แก่ ทองคำ เงิน และทองแดง จำนวนรวม ๔๑๒,๐๐๐ เหรียญ การจัดสร้างเหรียญครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธชินสีห์ในฐานะ ๑ ใน ๕ พระพุทธรูปที่สำคัญและเป็นที่นิยมสักการะของประชาชนชาวไทย ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน จึงถูกคัดเลือกนำมาเป็นต้นแบบในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกในโอกาสมหามงคลนี้


เหรียญพระพุทธชินสีห์

เหรียญพระพุทธชินสีห์ ในชุดเหรียญพุทธปัญจภาคี พ.ศ.๒๕๓๙


ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์ยังได้รับความนิยมมาโดยลำดับ เนื่องจากมีการนำภาพหรือแบบจำลององค์พระพุทธชินสีห์มาสร้างในวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ อีก เช่น เหรียญพระพุทธชินสีห์ใบมะขาม ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ เหรียญที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินนิวัติจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เหรียญพระพุทธชินสีห์ พ.ศ. ๒๕๑๖ เหรียญ ญสส ที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธชินสีห์นั้น เป็นพระพุทธรูปสำคัญของไทย ที่มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัย สกุลช่างพิษณุโลก มีความเป็นมาแต่อดีตอันยาวนาน ประกอบกับเป็นที่พระราชศรัทธายิ่งขององค์พระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ องค์พระประดิษฐานอยู่ภายในวัดสำคัญอันเป็นศูนย์กลางการปกครองของคณะสงฆ์ไทยมาอย่างยาวนาน ในฐานะที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าและพระสังฆราชหลายพระองค์ภาพขององค์พระพุทธชินสีห์จึงมีโอกาสผ่านสายตาพุทธศาสนิกชน ภาพแห่งความศรัทธาจึงถูกผลิตซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง


* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
๑. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, กรุงเทพฯ: มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๕๙ หน้า ๑๔๐.
๒. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ศัพทานุกรมโบราณคดี, กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๕๐ หน้า ๒๖๔.
๓. กรมศิลปากร, พระราชพงษาวดารภาคเหนือ ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, มปท., มปป. หน้า ๑๔.
๔. การลงยา คือ การตกแต่งสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ เงิน และทองแดง โดยทุบส่วน ที่ต้องการลงยานั้นให้บุบลงเล็กน้อย หรือกั้นขอบด้วยลวดโลหะชนิดเดียวกับสิ่งของนั้น แล้วนำผงแก้วที่ได้จาก การหลอมละลายแร่ธาตุสีต่าง ๆ ผสมน้ำแล้วใช้ลวดทุบปลายแบนตักเอาตัวลงยาใส่ลงตามตำแหน่งที่ต้องการ ทั้งนี้การลงยาราชาวดี หมายถึง การลงยาชนิดสีฟ้าเพียงสีเดียว
๕. สมเด็จกรมพระยา ฯ ดำรงราชานุภาพ, ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพ ฯ: มติชน, ๒๕๔๘ หน้า ๙๗.
๖. วัดบวรนิเวศวิหาร (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก http://www.watbowon.com/index_main.htm, (วันที่ค้นข้อมูล: ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐).
๗. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (ศ.ดร.), พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย, กรุงเทพ ฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๔ หน้า ๒๔๓.
๘. ราม วัชรประดิษฐ์, "เหรียญปู่พระพุทธชินสีห์ ๒๔๔๐” ในพันธุ์แท้พระเครื่อง (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1468152028, เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙.
๙. เรื่องเดียวกัน.
๑๐.ไตรเทพ ไกรงู, พระพุทธชินสีห์รุ่นแรก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ในพระเครื่อง (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/218524, เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘.
๑๑. การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ประเทศและรัฐในทวีปยุโรปรวม ๑๘ ประเทศโดยเสด็จตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน – ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓
๑๒. ชัชวาล วูวณิชและคณะ, เหรียญบนแผ่นดิน ร.๕, กรุงเทพฯ: คอมมอนเซนซ์ ดีไซน์แอนด์พริ้นท์, ๒๕๔๙ หน้า ๒๗๖.
๑๓. สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์, เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๔๒, กรุงเทพฯ: ดาวฤกษ์, ๒๕๕๔ หน้า ๑๐๐.

 
บรรณานุกรม

หนังสือ
กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ: ศรีบุญพับลิเคชั่น, ๒๕๒๔
ชัชวาล วูวนิช และคณะ. เหรียญบนแผ่นดิน ร.๕. กรุงเทพฯ: คอมมอนเซนซ์ ดีไซน์แอนด์พริ้นท์, ๒๕๔๙
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ตำนานพระแก้วมรกต ตำนานพระพุทธชินราช ตำนาน พระพุทธชินศรี ตำนานพระศรีศาสดา และตำนานพระพุทธสิหิงค์, มปท., มปป.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ การศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๕๙
สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๔๒ Medals of the Rattanakosin Era A.D. 1982-1999. กรุงเทพฯ: ดาวฤกษ์, ๒๕๔๔
ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (ศ.ดร.). พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๔
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (เล่ม ๒).กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๕

เอกสารออนไลน์
ไตรเทพ ไกรงู. พระพุทธชินสีห์รุ่นแรก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ในพระเครื่อง (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/218524. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐)
ราม วัชรประดิษฐ์. "เหรียญปู่พระพุทธชินสีห์ ๒๔๔๐” ในพันธ์แท้พระเครื่อง (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1468152028. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐)

 


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..
บทบาทเงินรูปีในอาณาจักรล้านนา
31/8/2561 / 122
การติดต่อค้าขายระหว่างชาวอังกฤษที่เข้ามาปกครองในพม่าและล้านนา ถือเป..