เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406 / สร้างโดย Web Admin

นายกานต์ภพ ภิญโญ*
 

โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ มนุษย์มักจะหาหรือสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจขึ้นในรูปของผู้ปกป้อง เพื่อเป็นการชดเชยทางจิตวิทยา ศาสนาและความเชื่อบางนิกายมีมูลเหตุมาจากผลดังกล่าว โดยเฉพาะศาสนาที่นับถือเทพเจ้า และคติความเชื่อที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือหวนกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งก็เช่นเดียวกัน สำหรับการเคารพนับถือของผู้คนในดินแดนไทยสมัยโบราณเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย และเป็นความเชื่อแบบพหุวัฒนธรรม คือมีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ จากหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่า ชุมชนในแถบเอเชียอาคเนย์ มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องการนับถือผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น จนกระทั่งได้ติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนอื่น ศาสนาสำคัญอย่างพราหมณ์และพระพุทธศาสนา จึงเริ่มเข้ามาผสมผสานกับคติเดิม๑ และมีการสืบทอดปรับประยุกต์ให้สอดรับกับสังคมวัฒนธรรมของแต่ละยุคสมัย


มูลเหตุที่มาของการสร้างพระสยามเทวาธิราช

ในอดีตขนบธรรมเนียมของสังคมอันเป็นแบบแผน มักมีที่มาจากศูนย์กลางหรือราชสำนักแล้วค่อยแผ่ขยายออกไปพื้นที่ต่างๆ ในระดับประเทศ แม้แต่เรื่องของศาสนาหรือคติความเชื่อก็เช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดพหุความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรืออาจจะยาวนานถึงสมัยสุโขทัย๒ ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะการนับถือพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลัก และศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีบทบาทความสำคัญโดยตรงกับพระราชพิธีเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อเรื่องผีและเทวดาที่คอยปกปักรักษาองค์พระมหากษัตริย์และประเทศอีกด้วย


ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นช่วงเวลาที่ประสบปัญหาใหญ่ระดับประเทศหลายด้าน อย่างเช่นการเข้ามาคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และสืบเนื่องมาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔ จักรวรรดินิยมตะวันตกมีนโยบายรุนแรงต่อไทยหลายครั้ง เช่น คราวที่ เซอร์ เจมส์ บรู๊ค ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ กดดันให้ฝ่ายไทยปรับปรุงสนธิสัญญา เพื่อยุติการส่งกองกำลังทหารเข้าบุกทำลายป้อมปราการและยึดพระนคร๓ หรือการเข้ามาของ ลอร์ด จอห์น เฮย์ ข้าหลวงอังกฤษ ประจำสเตรท เซทเทิลเมนต์ เพื่อระดมยิงเมืองตรังกานู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในขณะนั้น ก่อนคุมกองทัพเรือขึ้นมายังกรุงเทพ๔ และเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองการปกครองของประเทศและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร๕ (ภาพที่ ๑ – ๒) ตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งหลาย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจด้วย จึงอาจเป็นเหตุผลที่รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นเพื่อเป็นหลักทางจิตใจแก่พระองค์ และอาณาประชาราษฎร์ ดังความในจดหมายส่วนตัวของหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล ถึงพันโทสุจิตร ตุลยานนท์ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๕ สันนิษฐานไว้ว่า


"เรื่องพระสยามเทวาธิราชนั้น ความเห็นของเธอที่ว่าอาจจะสร้างใน พ.ศ.๒๔๐๒ – ๒๔๐๓ อาจจะถูก หรือจะสร้างใน พ.ศ.๒๔๐๑ ก็เป็นได้ เพราะไทยได้ทำสัญญาค้าขายเสร็จกับชาติใหญ่ ๆ เช่น อังกฤษ, อเมริกา, ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘, พ.ศ.๒๓๙๙ และใน พ.ศ.๒๔๐๑ ญวนก็ได้รบกับฝรั่งเศส เพราะไม่ยอมทำสัญญา ไทยเป็นอันรอดตัวมาได้ และด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้น ทรงพระราชปรารภว่า ประเทศสยาม (ประเทศไทย) ต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา จึงรอดพ้นอันตรายมาได้หลายคราว...”๖


ซึ่งสอดคล้องกับพระนิพนธ์เรื่องสารคดี ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ความว่า

"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดศึกษาประวัติศาสตร์ ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นมาสักการะบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นหล่อเทวรูปสมมติขึ้น ถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช...” ๗


แม้ว่าหลักฐานเรื่องพระสยามเทวาธิราชสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จะมีน้ำหนักเพียงพอ แต่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับปีที่สร้างนั้น ยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่พบหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงการสร้างองค์พระสยามเทวาธิราช อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีองค์พระสยามเทวาธิราช เป็นประติมากรรมรูปสมมติเทวดาที่คอยคุ้มครองประชาชนชาวไทยและปกปักรักษาประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

สนธิสัญญาเบาวร์ริง

ภาพที่ ๑ (ซ้าย) สนธิสัญญาเบาว์ริง ฉบับภาษาไทยที่เขียนลงในสมุดไทย ก่อนส่งไปสหราชอาณาจักรประทับตรา ที่มา: ปรามินทร์ เครือทอง,พระจอมเกล้า พระเจ้ากรุงสยาม: เปิดกรุภาพเก่ากรุงสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ เบื้องหลังประวัติศาสตร์ในหนังทวิภพ, (กรุงเทพฯ:มติชน,๒๕๔๗),๑๖๙
ภาพที่ ๒ (ขวา) ภาพร่างบุคคล เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ที่มา: โครงการวิกิมีดียคอมมอนส์ มูลนิธิวิกิมีเดีย สแกนภาพมาจาก พิพิธภัณฑ์บริติช ประเทศอังกฤษ


จากองค์ประติมากรรมสู่รูปแบบที่หลากหลาย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ในสมัยนั้น หล่อประติมากรรมองค์พระสยามเทวาธิราชขึ้น มีลักษณะเป็นเทวรูปประทับยืน สูง ๘ นิ้ว ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ สวมมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ (ภาพที่ ๓) ประทับอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทร์แบบเก๋งจีน สลักลวดลายเป็นหงส์และมังกร ตรงกลางซุ้มพระวิมานสลักภาษาจีนว่า ฟู่ (ปกปักรักษา) กั๋ว (ประเทศ) เทียน (เทพเจ้า) เสิน (ท้องฟ้า) หรือแปลโดยรวมว่า พระวิมานนี้เป็นที่สถิตแห่งเทพเจ้าที่คอยปกปักรักษาบ้านเมือง๙ แต่แรกสร้างนั้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระที่นั่งดังกล่าว จึงอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชมาประดิษฐานยังพระวิมานทองสามมุข เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ๑๐ จวบจนปัจจุบัน



ประติมากรรมองค์พระสยามเทวาธิราช

 

ภาพที่ ๓ ประติมากรรมองค์พระสยามเทวาธิราช


อย่างไรก็ตาม การสร้างรูปเคารพแทนพระสยามเทวาธิราช ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงการสร้างประติมากรรมรูปเคารพตามที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้น หากแต่หลายวาระได้มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาเป็นสัญลักษณ์บนวัตถุหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๐ มีการผลิตใช้เหรียญกษาปณ์ ราคาเสี้ยว (เซี่ยว) อัฐ และโสฬส ด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระสยาม-เทวาธิราช หากแต่ว่าประทับนั่งบนโล่ ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ห้อง แต่ละห้องเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงดินแดนในอาณัติของประเทศไทยในสมัยนั้น ทั้งสยามเหนือ - กลาง - ใต้ ประเทศราชลาว และประเทศราชมลายู (ภาพที่ ๔) ซึ่งเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดนี้ อาจมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวจักรวรรดินิยมตะวันตกยังคงเข้ามาคุกคามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้ามาเพื่อขอกำหนดการเสียดินแดนในอาณานิคม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ กรมธนารักษ์ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พ.ศ. ๒๕๔๒ ขึ้นอีกสองวาระ นอกจากนี้ มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชไปเป็นสัญลักษณ์ประจำหน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย โดยเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชประทับนั่ง คล้ายกับบนหน้าเหรียญกษาปณ์ทองแดงพระบรมรูป – ตราสัญลักษณ์พระสยาม-เทวาธิราช ที่ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ได้เพิ่มให้พระสยามเทวาธิราชถือถุงเงินในพระหัตถ์ขวา โดยเริ่มใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นต้นมา (ภาพที่ ๕)

นอกจากรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ได้อัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชออกมาทำจำลอง เช่น เครื่องราง วัตถุมงคล หรือองค์ประติมากรรมจำลองขนาดต่างๆ ตามความเชื่อ ทำให้พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวดาผู้พิทักษ์ ที่คนไทยรู้จักกันอย่างแพร่หลาย และสั่งสมคติความเชื่อเกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราชสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน


เหรียญกษาปณ์ทองแดงพระบรมรูป,ตราสัญลักษณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพที่ ๔ (ซ้าย) เหรียญทองแดงบรมรูป - ตราสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช พ.ศ.๒๔๓๐ ที่มา: ไขยยศ พงศ์จารุสถิต, กษาปณ์ เมืองสยาม = The Coinage of Siam,(กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ลิซซิ่ง, ๒๕๕๙),๗๒.

ภาพที่ ๕ (ขวา) ตราสัญลักษณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มา:ธนาคารแห่งประเทศไทย, พระสยามเทวาธิราช...ตราธนาคารแห่งประเทศไทย, เข้าถึงเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://bot.or.th/thai/aboutbot/rolesandhistory.aspx


สำหรับบทความชิ้นนี้จะกล่าวถึงเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นเหรียญที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อพระสยามเทวาธิราชที่สำคัญและน่าสนใจ ซึ่งกรมธนารักษ์จัดสร้างขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มีการอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาเป็นสัญลักษณ์อีกครั้งบนเหรียญที่ระลึก ซึ่งทำให้ย้อนรำลึกถึงมูลเหตุของการสร้างองค์ประติมากรรมพระสยาม- เทวาธิราช เทวดาอารักษ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นเดียวกัน จึงสะท้อนให้เห็นว่า เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่คนไทยในสภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในช่วงเวลาหนึ่ง จึงกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป


ที่มาของการสร้างเหรียญที่ระลึกในยุควิกฤตเศรษฐกิจ


ราวกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประเทศไทยเข้าสู่จุดต่ำสุดทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ เมื่อนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าแรงและค่าครองชีพที่ถูกกว่า ส่งผลให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการ และอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวมากขึ้น๑๑ ผลพลอยได้จากสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้เกิดแรงงานมีฝีมือในกิจการบริษัทมากขึ้น การที่เศรษฐกิจในระดับมหภาคเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงโดนสถานการณ์บังคับจากประเทศมหาอำนาจให้ดำเนินนโยบายเสรีนิยมทางการเงิน และเกิดหลักการสถาบันการเงินล้มไม่ได้ เนื่องจากความไว้วางใจจากการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประชาชนจึงมีพฤติกรรมการเงินที่สุ่มเสี่ยง๑๒ เช่น ฝากเงินกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ใช้สินเชื่อน้อยกว่า โดยไม่ศึกษาสถานะทางการเงินของสถาบันนั้นๆ ให้รอบคอบ การลงทุนกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากเกินจะล้นตลาด จนเกิดเป็นปัญหาหนี้สินต่อเป็นทอด ตั้งแต่ระดับเจ้าของธุรกิจ ไปสู่สถาบันการเงิน และท้ายที่สุดก็เกิดเป็นปัญหาหนี้สินในระดับประเทศ


ผลกระทบของเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ส่งผลกระทบ ในด้านเศรษฐกิจโดยตรงคือ ทำให้สถาบันการเงินและบริษัทหลายแห่งล้มละลายหรือต้องปิดกิจการลง ลูกจ้างและแรงงานในภาคธุรกิจดังกล่าวต้องตกงาน ในขณะที่การเงินระดับบุคคลกำลังประสบปัญหา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับโครงสร้างและระดับหน่วยย่อย สังคมในภาพรวมต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การอพยพย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม ในระดับหน่วยย่อยบางคนถูกยึดทรัพย์สิน บางคนกระทำการอัตวินิบาตกรรม จนเกิดอัตราการฆ่าตัวตายใน พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่ผ่านมา และผลการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างคนไทยในช่วงวิกฤตการณ์ พบว่าร้อยละ ๑๗ คิดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย๑๓


จากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว กรมธนารักษ์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกเนื่องในวาระโอกาสต่าง ๆ ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล-อดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ ขึ้น เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนไทยในยามบ้านเมืองเผชิญกับสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในครั้งนั้น


ลักษณะของเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐


เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นเหรียญกลมแบน ขอบเหรียญเรียบ ไม่มีรอยฟันเฟือง จัดสร้างขึ้นสองชนิดด้วยกัน คือ ชนิดทองแดงรมดำพ่นทราย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕๐ มิลลิเมตร และชนิดทองแดงธรรมดา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐ มิลลิเมตร เหรียญทั้งสองชนิดมีลักษณะเหมือนกัน ดังนี้ (ภาพที่ ๖)


ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องขวา ชิดวงขอบเหรียญด้านซ้ายมีข้อความว่า "ภูมิพลอดุลยเดช” ด้านขวามีข้อความว่า "บรมราชาธิราช”


ออกแบบโดย นางไพฑูรย์ศรี ณ เชียงใหม่


ปั้นแบบโดย นางพุทธชาติ อรุณเวช


ด้านหลัง เป็นรูปพระสยามเทวาธิราช และรูปพระวิมานประกอบอยู่ด้านหลัง ชิดวงขอบเหรียญ ด้านล่างมีข้อความว่า "พระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540” ออกแบบโดย นางสาวสุภาพ อุ่นอารีย์

ปั้นแบบโดย นายวุฒิชัย แสงเงิน


เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช

ภาพที่ ๖ เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ.๒๕๔๐ ที่มา: กรมธนารักษณ์,เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๔๒ = Medals of Rattanakosin Era A.D. ๑๙๘๒ - ๑๙๙๙, (กรุงเทพฯ: กรมธนารักษ์, ๒๕๔๔),๒๕๙.


ความสำคัญของเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐


สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจมักมาพร้อมกับความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาอารักษ์ เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมระดับประเทศ ตลอดจนกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น การอัญเชิญรูปพระสยามเทวาธิราชมาเป็นสัญลักษณ์บนเหรียญที่ระลึก เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือเป็นขวัญกำลังใจให้กับประชาชนในครั้งนั้น จึงทำให้ย้อนรำลึกถึงครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตจักรวรรดินิยมตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมธนารักษ์ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้จัดสร้างและได้นำเหรียญทั้งหมดเข้าพิธีอธิษฐานจิตโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อให้เหรียญที่ระลึกดังกล่าวมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นไป ดังนั้น เหรียญพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงไม่เป็นเพียงแต่เหรียญที่ระลึกที่ทำให้คนไทยได้จดจำถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับคนไทยในยามเกิดวิกฤตเท่านั้น หากแต่ยังเปรียบเสมือนเหรียญวัตถุมงคลอีกด้วย


จากจุดเริ่มต้นการสร้างองค์ประติมากรรมรูปเคารพพระสยามเทวาธิราช ในสมัยรัชกาลที่ ๔ อันเนื่องมาจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก สู่การจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช ในวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่างยุคต่างสมัยกัน แต่สังคมไทย ก็มีทางออกให้กับปัญหาที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ผ่านสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวกันที่ส่งทอดความคิดจากรุ่นสู่รุ่น อาจมีรูปแบบภายนอกที่ต่างกันตามวาระโอกาสเท่านั้น ในส่วนกรณีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึก โดยปกติทั่วไปจะมีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นเนื่องในวาระโอกาสสำคัญ หรือเหตุการณ์พิเศษ เพื่อให้ประชาชนเก็บ เป็นที่ระลึก เก็บสะสม หรือเป็นของขวัญมอบให้แก่กัน สำหรับเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังเป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์ความทรงจำถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง และที่สำคัญคือมีความหมายต่อจิตวิญญาณ เป็นที่ยึดเหนี่ยวในยามที่สภาพจิตใจสับสนและไม่มั่นคง จากแรงกระทบของวิกฤตการณ์


ปัจจุบันเหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. ๒๕๔๐ จัดแสดง ให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่สนใจ ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญ โดยกรมธนารักษ์ ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานหอศิลป บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยเปิดให้เข้าชมการจัดแสดงในวันอังคาร - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๘.๐๐ น.


*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์

๑.สุจิตต์ วงษ์เทศ, ชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ: บรรพชนคนไทยในอุษาคเนย์ = Tribes and ethnic groups inSuvarnbhumi, ancesstor of the "Thai", (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗), ๓๔ - ๓๖.

๒.จารึกสมัยสุโขทัยมีข้อความกล่าวถึง "พระขะพุงผี” หรือ "พระขพง” ซึ่งเป็นผีหรือเทวดาอารักษ์เมืองสุโขทัยที่ผู้คนในสมัยนั้นต่างเคารพนับถือ (ดูเพิ่มเติมใน ศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่พบกลางวิหารวัดมหาธาตุ

๓.ขจร สุขพานิช, ข้อมูลประวัติศาสตร์: สมัยบางกอก, (กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, ๒๕๑๘), ๑๐๓.

๔.มอฟแฟ็ท, แอ๊บบอต โลว์, แผ่นดินพระจอมเกล้า (Mongkut the king of Siam), (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๐), ๑๔๓.

๕.วุฒิชัย มูลศิลป์, การปรับตัวของไทยและจีนในสมัยจักรวรรดินิยมใหม่, (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ, ๒๕๓๔), ๑๖.

๖.ประยูร อุลุชาฏะ, ๗ ความเชื่อของไทย (คติสยาม), (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๖), ๑๕ – ๑๖. อ้างถึงใน จดหมายส่วนตัวของหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล ถึงพันโทสุจิตร ดิศกุล ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๘.

๗.พูนพิศมัย ดิศกุล, สารคดี, (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๐๘),

๘.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, กฤษดาภินิหารพระเจ้ากรุงสยาม รัชกาลที่ ๔, (กรุงเทพฯ: สยามความรู้, ๒๕๕๖), ๑๘๖.

๙.กีรติ เอี่ยมดารา (นักจัดการงานในพระองค์ สำนักพระราชวัง), สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง [สัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง ๓๒], ๔ มกราคม ๒๕๕๘.

๑๐.เพลินพิศ กำราญ, พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช, พระราชพิธีสังเวยพระป้าย, การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา, ประเพณีการบวช, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๗), ๙ – ๑๑.

๑๑.สายชล สัตยานุรักษ์, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่: ประวัติศาสตร์สังคมไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๕๘), ๙๓๗.

๑๒.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์ปี ๒๕๔๐, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, ๒๕๔๕), ๔ – ๑๐.

๑๓.วอลเดน เบลโล, เชียร์ คันนิงแฮม และลี เค็ง ปอห์, โศกนาฏกรรมสยาม: การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓), ๓ – ๕.

 

เอกสารอ้างอิง


หนังสือภาษาไทย

กรมธนารักษ์. เหรียญกษาปณ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ: กระทรวงการคลัง, ๒๕๒๕.

กรมธนารักษ์. เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๔๒ = Medals of Rattanakosin Era A.D. ๑๙๘๒ – ๑๙๙๙. กรุงเทพฯ: กรมธนารักษ์, ๒๕๔๔.

ขจร สุขพานิช. ข้อมูล.ระวัติศาสตร์: สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, ๒๕๑๘.

ประยูร อุลุชาฏะ. ๗ ความเชื่อของไทย (คติสยาม). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๖.

ปรามินทร์ เครือทอง. พระจอมเกล้า พระเจ้ากรุงสยาม: เปิดกรุภาพเก่ากรุงสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ เบื้องหลัง ประวัติศาสตร์ในหนังทวิภพ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗.

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. กฤษดาภินิหารพระเจ้ากรุงสยาม รัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ: สยามความรู้, ๒๕๕๖.

พูนพิศมัย ดิศกุล. สารคดี. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๐๘.

เพลินพิศ กำราญ. พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช, พระราชพิธีสังเวยพระป้าย, การพระราชกุศล หล่อเทียนพรรษา, ประเพณีการบวช. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.

มอฟแฟ็ท, แอ๊บบอต โลว์. แผ่นดินพระจอมเกล้า (Mongkut the king of Siam). กรุงเทพฯ: สมาคม สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๐.

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์ปี ๒๕๔๐. กรุงเทพฯ: คบไฟ, ๒๕๔๕.

วอลเดน เบลโล, เชียร์ คันนิงแฮม และลี เค็ง ปอห์. โศกนาฏกกรรมสยาม: การพัฒนาและการแตกสลายของ สังคมไทยสมัยใหม่ กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓.

วุฒิชัย มูลศิลป์. การปรับตัวของไทยและจีนในสมัยจักรวรรดินิยมใหม่. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ, ๒๕๓๔.

สมภาร พรมทา. มนุษย์กับศาสนา. กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๔๖.

สายชล สัตยานุรักษ์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่: ประวัติศาสตร์ สังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๕๘.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ: บรรพชนคนไทยในอุษาคเนย์ = Tribes and ethnic groups in Suvarnbhumi, ancestor of the "Thai”. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗.

สื่อโสตทัศนวัสดุ

กีรติ เอี่ยมดารา (นักจัดการงานในพระองค์ สำนักพระราชวัง). สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง [สัมภาษณ์ออกอากาศ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง ๓๒], ๔ มกราคม ๒๕๕๘.

ข้อมูลจากเว็บไซต์

ธนาคารแห่งประเทศไทย. พระสยามเทวาธิราช ตราธนาคารแห่งประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2560. เข้าถึงได้จาก https://www.bot.or.th/thai/aboutbot/rolesandhistory/pages/history.aspx


 




ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
บทบาทเงินรูปีในอาณาจักรล้านนา
31/8/2561 / 122
การติดต่อค้าขายระหว่างชาวอังกฤษที่เข้ามาปกครองในพม่าและล้านนา ถือเป..