หยก : หินรัตนชาติแห่งศรัทธา
หยก : หินรัตนชาติแห่งศรัทธา
27/8/2561 / 47 / สร้างโดย Web Admin

ดาวนภา เนาวรังษี*

หยก เป็นหินที่มีตำนานและความเชื่อที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวจีนมาเป็นเวลานาน ในวัฒนธรรมของชาวจีนมีการนำหยกมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรม และนิยมนำมาทำเป็นสิ่งของเครื่องประดับ ตลอดจนงานศิลปวัตถุ เครื่องราง รูปสัญลักษณ์ หรือรูปเคารพต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับความศรัทธาและความเชื่อในเรื่องพลังอำนาจแห่งหินศักดิ์สิทธิ์นี้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ การนำหยกมาใช้ไม่เพียงแต่ปรากฏในวัฒนธรรมของชาวจีนเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศที่ได้รับการติดต่อสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน และพบว่ามีทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่มีการนำหยกมาใช้ในงานเครื่องประดับและเครื่องยศอีกด้วย


ความหมายของหยก

หยก ถือเป็นหินชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวและมีความแข็งกว่าหินธรรมดาทั่วไป อีกทั้งยังมีความสวยงามเฉกเช่นอัญมณีชนิดอื่นๆ

หยก หรือ Jade ในภาษาอังกฤษ มาจากคำในภาษาสเปนว่า "Piedra de hijada” หมายถึง เทพเจ้าแห่งหินทั้งปวง ใช้สำหรับรักษาโรคไตและอาการจุกเสียด ภาษาพม่า เรียกว่า "เจ้าเซง” หมายถึง หินที่มีสีเขียว

ในภาษาจีนกลาง หยกเป็นที่รู้จักว่า "หยู หรือ ยู่” หมายถึง งดงามและสมบูรณ์แบบ ชาวจีน ถือว่าหยกเป็นอัญมณีที่มีค่าสูงสุด ความนิยมของชาวจีนปรากฏในประวัติศาสตร์จีนครั้งแรก เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว มีปรัชญาจีนที่เปรียบเทียบลักษณะของหยกกับจิตใจของมนุษย์ในวรรณคดีเก่าแก่ของจีน [๑]


ชนิดของหยก

หยก สามารถแบ่งได้จากการพิจารณาโครงสร้างภายในตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด [๒] ดังนี้


๑. หยกเจดไดต์ (Jadeite) หรือหยกพม่า

เป็นหยกที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า หยกเจดไดต์ถือว่าเป็นหยกหินมีค่าชนิดหนึ่งที่เกิดจากหินแปรที่มีส่วนผสมของธาตุกรดเกลือ อลูมิเนียม และโซเดียม ทับถมกันหนาแน่น จนเกิดเป็นหินที่มีสีสันต่างๆ มีเนื้อใส และมีหลากหลายสี ซึ่งล้วนแต่เป็นสีที่เกิดจากธาตุโลหะที่แทรกอยู่ในโครงสร้าง หากไม่มีธาตุโลหะปะปนจะมีเนื้อสีขาวบริสุทธิ์และใส โดยธาตุโลหะที่ทำให้เกิดสีในหยกเจดไดต์ที่สำคัญ ได้แก่

ธาตุโครเมียม – ทำให้เกิดสีขาว

ธาตุเหล็ก – ทำให้เกิดสีเหลือง น้ำตาลถึงส้ม

ธาตุแมงกานีส – ทำให้เกิดสีชมพู และม่วงน้ำตาล

นอกจากองค์ประกอบสำคัญข้างต้นแล้ว หยกเจดไดต์ยังถือว่ามีความแข็งอยู่ในระดับสูง โดยมีความแข็งที่ระดับ ๗ – ๘.๕ ตามมาตรฐานสเกลของโมห์ [๓] โครงสร้างในมวลของหยกเจดไดต์นั้น เป็นแบบเม็ดอัดกันแน่น หรือที่เรียกว่า แกรนนูล่า (Granular) จึงทำให้หยกเจดไดต์มีความแข็งมากกว่าหินและไม่เปราะหรือแตกง่ายเมื่อเทียบกับพลอยเนื้อใสต่างๆ หยกเจดไดต์ จึงเป็นที่นิยมในการนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่มีราคาสูงเช่น หัวแหวน จี้ กำไลข้อมือ เป็นต้น


หยกเจดไดต์สีเขียวจักรพรรดิ

หยกเจดไดต์สีเขียวจักรพรรดิ ที่มา: อเนก หุตังคบดี, หยก หินจากสวรรค์ อัญมณีเพื่อความเจริญรุ่งเรื่อง, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป, ๒๕๕๑, หน้า ๑๒๐.


หยกเจดไดต์ ที่มีคุณภาพดีที่สุด และมีราคาแพงที่สุด ได้แก่ หยกจักรพรรดิ (Imperial Jade) ลักษณะคือมีสีเขียวปานกลางไปจนถึงสีเขียวเข้มเสมอทั่วกันทั้งชิ้น กึ่งโปร่งใสจนมองทะลุไปถึงด้านหลัง แหล่งที่พบอยู่ที่ประเทศพม่า ถือเป็นหยกที่ดีที่สุดในโลก และค่อนข้างหายาก เป็นของคู่บุญคู่บารมีของกษัตริย์หรือพระเจ้าจักรพรรดิ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกหยกสีเขียวมรกตนี้ว่า "หยกจักรพรรดิ” นั่นเอง


๒. หยกเนฟไฟรต์ (Nephrite) หรือหยกจีน

เป็นหยกชนิดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นหยกที่พบเป็นจำนวนมากและอยู่คู่กับแผ่นดินจีนมานานนับพันปี ชาวจีนมีความผูกพันกับหยกชนิดนี้มากกว่าชนชาติใดในโลก แหล่งของหยกเนฟไฟรต์ที่สำคัญของโลกอยู่ในบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) ประเทศแคนาดา ห่างจากชายแดนด้านตะวันออกของ Alaska ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบที่ประเทศไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เป็นหินหยกที่ประกอบด้วยธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และออกไซด์ของเหล็กปะปนอยู่ องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้หาหยกเนฟไฟรต์ที่มีสีเขียวใสประกายได้ยาก อีกทั้งหยกเนฟไฟรต์ยังมีสีสันไม่มากนัก ที่พบส่วนมากมักจะมีสีเขียวใบไม้อมดำ สีเทา สีน้ำตาล ไปจนถึงสีขาว และมักจะมีจุดสีดำที่เกิดจากออกไซด์ของธาตุเหล็กแทรกอยู่ สำหรับความแข็งของหยกเนฟไฟรต์นั้นอยู่ที่ระดับ ๕ – ๖ ตามมาตรฐานสเกลของโมห์ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าหยกเจดไดต์อยู่พอสมควร ด้วยเหตุนี้ หยกเนฟไฟรต์จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "หยกอ่อน”

แม้ว่าหยกเนฟไฟรต์จะมีคุณสมบัติและสีสันที่ด้อยกว่าหยกเจดไดต์ แต่ก็มีคุณสมบัติที่โดดเด่นบางประการ คือ ความเหนียวแน่นของเนื้อหยก เนื่องจากโครงสร้างที่ถักทอเป็นเส้นใยที่หนาแน่นทั่วเนื้อของหยก โดยที่เส้นใยแต่ละเส้นนั้น มีลักษณะเป็นแท่งผลึกอยู่ภายใน ซึ่งเหมาะแก่การนำมาแกะสลักเป็นรูปทรงต่างๆ หยกเนฟไฟรต์ หรือหยกจีนนั้นจึงมักจะถูกนำมาแกะสลักเป็นรูปและขนาดต่างๆ ตามต้องการ เช่น รูปสลักพระพุทธรูป รูปปั้นเทพเจ้าจีนต่างๆ ตราประทับหยก เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ถ้วยชาม แจกัน หรือเครื่องประดับอื่นๆ เช่น กำไล แหวน เป็นต้น


หยกกับการนำมาใช้

หยก นอกจากจะเป็นหินที่มีความสวยงามแข็งแรงทนทานแล้ว ยังถือเป็นเครื่องประดับอันสวยงามที่แสดงถึงสถานะทางสังคม อีกทั้งยังมีการนำมาทำเป็นภาชนะเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนิยมนำหยกมาแกะสลักเป็นจาน ชาม แก้วน้ำ ตะเกียง โต๊ะ และอาวุธ รวมถึงการนำมาแกะสลักเป็นรูปเคารพหรือรูปสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งความนิยมในการนำหยกมาทำเป็นเครื่องใช้ต่างๆ นี้ เริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉาง (Shang) (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และราชวงศ์โจว (Zhou) (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยเริ่มจากการนำหยกมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น อาวุธ ตราประจำตำแหน่งข้าราชการ เครื่องประดับ และทำเป็นรูปแกะสลักขนาดใหญ่เพื่อประดับบ้านเรือน

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han) (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) จึงเริ่มมีการนำหยกมาทำเป็นภาชนะเครื่องใช้ ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องเคลือบ สมัยราชวงศ์หยวน (Yuan) (ค.ศ. 1279-1368) และราชวงศ์หมิง (Ming) (ค.ศ. 1368-1644) ได้นำหยกมาแกะสลักเป็นรูปคนและสัตว์ ในสมัยราชวงศ์ชิง (Qing) (ค.ศ. 1644-1912) ได้นิยมนำมาแกะสลักเน้นการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น รูปดอกไม้ ผลไม้ และรูปสัตว์ [๔] เป็นต้น


โดยการนำหยกมาใช้ สามารถสรุปได้ตามลักษณะการใช้งานได้ดังนี้
 

๑. การนำหยกมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องประดับจากหยกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ กำไลหยก ซึ่งความนิยมนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการนำมาทำเป็นเครื่องประดับอื่นๆ เช่น แหวน สร้อย จี้ ต่างหู เข็มกลัด เป็นต้น

๒. การนำหยกมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ถ้วย ชาม แก้วน้ำ อาวุธต่างๆ เป็นต้น

๓. การนำหยกมาทำเป็นรูปเคารพหรือเครื่องราง เช่น รูปสลักพระพุทธรูป เทพเจ้าจีน สัตว์มงคลต่างๆ หรือรูปสัญลักษณ์มงคลของจีน สำหรับพกติดตัว และใช้เคารพบูชา เป็นต้น


หยก : ศรัทธาและความเชื่อ

เนื่องจากหยกเป็นหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สำหรับชาวจีนมีความเชื่อว่ากว่าจะกลายเป็นหยกได้นั้น ต้องใช้เวลานับล้านๆ ปี ในการซึมซับพลังจากจักรวาล อันประกอบไปด้วย พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และพลังงานความเย็นจากดวงจันทร์ รวมไปถึงพลังงานจากดวงดาวต่างๆ ชาวจีนจึงถือว่าหยกเป็นหินที่เป็นแหล่งรวมพลังของชีวิต อีกทั้งยังสามารถสื่อสารระหว่างโลกกับจักรวาล รวมไปถึงสวรรค์ ทำให้เกิดเป็นความเชื่อว่า การจะเดินทางไปสู่สวรรค์ได้นั้น ต้องใช้หยกเป็นสื่อ ชาวจีนจึงมักจะทำป้ายชื่อของตนขึ้นมาจากหยก เพื่อใช้เป็นเส้นทางที่นำไปสู่สวรรค์เมื่อเสียชีวิตลง หรือใช้เป็นป้ายประจำตระกูล อันเป็นเครื่องหมายของการสืบทอดเชื้อสายของตระกูลนั้น

นอกจากนี้ ยังมีความนิยมนำหยกมาทำเป็นเครื่องประดับและเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับพกติดตัวหรือใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีความเชื่อว่าหยกนั้นช่วยปกป้องคุ้มครอง และนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต การสวมใส่เครื่องประดับจากหยก นอกจากจะสวมใส่เพื่อความสวยงามและความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังมีความเชื่อว่าสามารถสวมใส่หยกเพื่อทำนายสุขภาพหรือทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย เช่น ถ้าหยกที่กำลังสวมใส่อยู่นั้นมีสีสันสดใส หมายถึง เจ้าของหยกกำลังจะมีโชค แต่หากหยกที่สวมใส่อยู่มีสีสันมัวหมอง หมายถึง เจ้าของหยกกำลังจะมีเคราะห์ เป็นต้น

ในราชสำนักจีน มีความเชื่อว่า หยก เป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิที่พระราชทานให้กับข้าราชบริพารที่มีความดีความชอบ มีการมอบ "ปี้” ซึ่งหมายถึง แผ่นป้ายวงกลมเจาะรูตรงกลางอันเป็นสัญลักษณ์แห่งสวรรค์ และเป็นสิ่งที่พระจักรพรรดิจีนมักจะมอบให้แก่เหล่าขุนนาง เพื่อเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ อีกทั้งยังมีการนำหยกมาแกะสลักอย่างประณีตงดงามด้วยฝีมือช่างชั้นสูง โดยทำเป็นตราพระราชลัญจกร พระธำมรงค์ พระคทา หรือพระที่นั่งสำหรับพระจักรพรรดิ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แสดงพระราชอำนาจของพระองค์ [๕] เนื่องจากมีความเชื่อว่า หยกเป็นหินแห่งสรวงสวรรค์ (Stone of Heaven) จึงเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะใช้สอยสำหรับโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven) อันหมายถึง พระจักรพรรดิ นั่นเอง แม้เมื่อสวรรคตแล้ว ในราชสำนักจีนยังมีความเชื่อว่า พลังแห่งหยกจะช่วยรักษาร่างกายให้เป็นอมตะ ศพไม่เน่าเปื่อย มีการพบหลักฐานเกี่ยวกับความเชื่อนี้จากการค้นพบหลุมฝังศพในสมัยราชวงศ์ฮั่น ภายในอุโมงค์ฝังพระศพของเจ้าชายหลิวเซิง (Liu Sheng) และหลุมฝังศพของพระชายาโตววุน (Dou Won) มีการทรงฉลองพระองค์ที่ทำจากการนำเอาแผ่นหยกบางๆ มาร้อยด้วยด้ายทองคำ เพื่อรักษาพระศพ และภายในโลงพระศพยังพบปี้อยู่รายรอบ ด้วยความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์พาดวงพระวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ [๖] รวมไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการนำหยกมาบดเป็นผงละเอียดผสมกับน้ำดื่ม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงทนทาน มีพละกำลัง และสร้างความกล้าหาญ


ปี้ ทำจากหยกเนฟไฟรต์

ปี้ ทำจากหยกเนฟไฟรต์ สมัยราชวงศ์ชาง (๑๖๐๐ - ๑๐๔๖ ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่มา:อเนก หุตังคบดี, หยก หินจากสวรรค์ อัญมณีเพื่อความเจริญรุ่งเรื่อง, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป, ๒๕๕๑,
หน้า ๓๐.


ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวจีนเท่านั้นที่มีศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับหยก ชาวแอซแท็คในเขตละตินอเมริกา ก็มีความนิยมใช้หยกเช่นเดียวกับชาวจีน ชาวแอซแท็คมีความเชื่อว่า หากสวมใส่หยกบริเวณเอวจะช่วยรักษาอาการปวดท้องและปวดเอวให้หายได้ [๗] ในวัฒนธรรมของชาวเมารีบนเกาะในประเทศนิวซีแลนด์ก็ปรากฏความเชื่อเช่นเดียวกันนี้ โดยชาวเมารีถือว่าหยกเป็นเครื่องหมายสืบทอดอำนาจภายในวงศ์ตระกูล [๖] สำหรับในดินแดนอียิปต์โบราณ มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการนำหยกไปใส่ไว้ในปากของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชนชั้นสูง เพื่อใช้เป็นสิ่งแทนหัวใจ เป็นต้น


พระราชลัญจกรหยกเนฟไฟรต์ขาว

พระราชลัญจกรหยกเนฟไฟรต์ขาวของพระจักรพรรดิเฉียนหลง ที่มา:อเนก หุตังคบดี,หยก หินจากสวรรค์ อัญมณีเพื่อความเจริญรุ่งเรื่อง, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป, ๒๕๕๑,หน้า ๑๗๒.


นอกจากการแกะสลักหยกเป็นรูปต่างๆ ตามความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลกับผู้ที่ได้ครอบครองแล้ว สีของหยกก็มีความเชื่อและความนิยมที่มีความหมายแตกต่างกัน เช่น

หยกสีเขียว เป็นสีที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ชาวจีนมีความเชื่อว่าหยกสีเขียวเป็นต้นกำเนิดของเงินทองไหลมาเทมาจึงเป็นสีที่นิยมกันมาก

หยกสีขาว เป็นสีที่สื่อนำเอาความโชคดีมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ เป็นสัญลักษณ์พลังจิตใจที่ใสสะอาดและความบริสุทธิ์ผุดผ่อง รวมถึงความมีอายุยืน

หยกสีม่วง เป็นสีที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มีความสุข ช่วยรักษาด้านอารมณ์และความอดกลั้นของผู้สวมใส่

หยกสีแดง เป็นสีที่สื่อให้เกิดการรับรู้ในอารมณ์ความรักได้ดี ช่วยลดความโกรธและความเครียดต่างๆ

หยกสีเหลือง เป็นสีที่ก่อให้เกิดสัญลักษณ์แห่งการกระตุ้นชีวิตชีวาให้เต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน และเพิ่มพลังให้กับผู้ที่สวมใส่ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับหยกที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นสิริมงคล ความดีงาม ความมีพลังอำนาจ และการนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้หยกมีความแตกต่างจากอัญมณีชนิดอื่นๆ


หยกกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

ในประเทศไทย แม้ความนิยมเกี่ยวกับหยกจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม และไม่แพร่หลายเท่าประเทศจีนมากนัก แต่ยังพบว่ามีการนำหยกมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป หรือรูปเคารพต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกเนฟไฟรต์ ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวไทยให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูง นอกจากนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกอย่างแพร่หลาย ยังปรากฏการทำเครื่องประดับและสิ่งของเครื่องใช้จากหยกในรูปแบบต่างๆ ด้วยฝีมือช่างทองหลวงจากตะวันตก สำหรับนำมาจัดถวายแก่ราชสำนัก เช่น ตลับพระโอสถหยก ตัวตลับทำจากหยกเนฟไฟรต์ จัดทำโดยห้างฟาร์แบร์เฌ่ เพื่อจัดถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น


ตลับพระโอสถหยก

ตลับพระโอสถหยก ที่มาภาพ : รัฐกร มงคลธรรม, ช่างทองหลวงแห่งพระมหากษัตริย์, นนทบุรี : บ้านรัก, ๒๕๕๔, หน้า ๑๐๒.


ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่จัดแสดงอยู่ ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ บางชิ้นได้มีการนำหยกมาทำเป็นเครื่องประดับร่วมกับทองคำหรืออัญมณีชนิดอื่นๆ โดย สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

๑. เครื่องราชูปโภค ได้แก่ ถ้วยชาพร้อมฝาหยก สำหรับพระราชทานเป็นเครื่องยศแก่เจ้านายชั้นเจ้าฟ้า


ถ้วยชาพร้อมฝาหยก

ถ้วยชาพร้อมฝาหยก สำหรับพระราชทานแก่เจ้านายฝ่ายหน้า(ด้านซ้าย) และ เครื่องประกอบพระราชอิสยยศสมเด็จพระเทพฯ (ด้านขวา) จัดแสดงณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ


๒. เครื่องประดับ ได้แก่ แหวนทองคำหัวหยกรูปมังกรประดับเพชรซีก ซึ่งมีลักษณะเป็นแหวนตรา สำหรับพระราชทานให้แก่เจ้านายหรือขุนนางชั้นสูง รวมไปถึงหน้าจั่นทองคำขอบหยก และกระดุมหยกเรือนทองคำ สำหรับประดับตกแต่งเครื่องแต่งกาย เพื่อความสวยงามอีกด้วย


แหวนทองคำหัวหยกรูปมังกร และ หน้าจั่นทองคำขอบหยก

แหวนทองคำหัวมังกรประดับเพชรซีก และ หน้าจั่นทองคำหยก จัดแสดง ณ นิทรรศการเครื่องประดับและอัญมณี ศาลาเครื่องราชอิสริยยศฯ


กล่าวโดยสรุป จากความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับหยกของชาวจีนที่ถูกสั่งสมมานานนับพันปี ได้มีการส่งต่อผ่านทางวัฒนธรรมไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเกี่ยวกับความสำคัญของหยกที่มีคุณค่าคู่ควรแก่พระเจ้าแผ่นดินและราชสำนักชั้นสูง เนื่องจากชาวจีนถือว่าหยกเป็นหินแห่งสรวงสวรรค์อันล้ำค่า ควรค่าแก่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งถือเป็นโอรสแห่งสวรรค์ ดังจะเห็นได้จากการสร้างสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับจากหยก สำหรับถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง



* ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

[๑] ธัญญารัตน์ อภิวงศ์, หยกกับเศรษฐกิจพม่าสมัยอาณานิคม (ค.ศ. ๑๘๘๕ – ๑๙๔๘), วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๘, หน้า ๒๖ – ๒๗.
[๒] อเนก หุตังคบดี, หยก หินจากสวรรค์ อัญมณี เพื่อความเจริญรุ่งเรือง, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อนิเมท กรุ๊ป, ๒๕๕๑, หน้า ๓๓ – ๔๗.
[๓] มาตรฐานสเกลของโมห์ (Moh’s scale) เป็นการแบ่งค่ามาตรฐานความแข็งของอัญมณีที่มีหน่วยวัดความแข็ง เริ่มจากระดับ ๑๐ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความแข็งมากที่สุด ไปจนถึงหน่วยที่มีความแข็งน้อยที่สุด คือ ระดับ ๑
[๔] Brian Hook, The Cambridge Encyclopedia of China (Cambridge : Cambridge University Press, 1991),P.393 – 394.
[๕] Perkin, Dorothy, Encyclopedia of China : the essential reference to chins, its history and culture (New York : A Roundtable Press, 1998), P.237.
[๖] Robert L Tharp, Son of Heaven : Imperial Art of China (Seattle : Son of Heaven Press, 1988), P.63.
[๗] C.M. Ou Yang, Definition – Nomenclature – Classification of Jade (New York : Christie’s, 1995), P.2.
[๘] อเนก หุตังคบดี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 55 - 56.

 

เอกสารอ้างอิง

ธัญญารัตน์ อภิวงศ์. หยกกับเศรษฐกิจพม่าสมัยอาณานิคม (ค.ศ. ๑๘๘๕ – ๑๙๔๘). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๘.
รัฐกร มงคลธรรม. ช่างทองหลวงแห่งพระมหากษัตริย์. นนทบุรี : บ้านรัก, ๒๕๕๔.
สมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา. มหัศจรรย์...หยกล้ำค่า. กรุงเทพฯ : บริษัท พรพิชชาพับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๗.
อเนก หุตังคบดี. หยก หินจากสวรรค์ อัญมณี เพื่อความเจริญรุ่งเรือง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อนิเมท กรุ๊ป, ๒๕๕๑.
Brian Hook. The Cambridge Encyclopedia of China. Cambridge : Cambridge University Press, 1991.
C.M. Ou Yang. Definition – Nomenclature – Classification of Jade. New York : Christie’s, 1995.
Perkin, Dorothy. Encyclopedia of China : the essential reference to chins, its history and culture . New York : A Roundtable Press, 1998.
Robert L Tharp. Son of Heaven : Imperial Art of China. Seattle : Son of Heaven Press, 1988


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..