เงินตราของอาณาจักรล้านช้าง
เงินตราของอาณาจักรล้านช้าง
22/8/2561 / 44 / สร้างโดย Web Admin

นางจริญญา บุญอมรวิทย์*

อาณาจักรล้านช้าง เป็นอาณาจักรของชนชาติลาว มีอาณาเขตอยู่ในบริเวณประเทศลาว ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยบางส่วน ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าของอาณาจักรล้านช้างได้มีการทำการค้าขายกับอาณาจักรบริเวณใกล้เคียง เช่น อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรกัมพูชา อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรอันนัม เป็นต้น ได้ส่งผลถึงรูปแบบเงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านช้างด้วย ได้แก่ เงินฮาง เงินตู้ เงินฮ้อย และเงินลาด


อาณาจักรล้านช้าง

พระยาฟ้างุ่มเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง หรือเรียกกันว่า "กรุงศรีสัตนาคนหุต” โดยทรงปราบปรามเมืองต่างๆ ไว้ในพระราชอำนาจเป็นผลสำเร็จในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และทรงแต่งตั้งเชื้อ พระวงศ์ ขุนนางลาว และผู้นำชนพื้นเมืองไปปกครองบ้านเมืองต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ โดยอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้นได้ขยายอาณาเขตทางทิศเหนือ จรดเขตเมืองอู - ภูขวาง เขตแดนเมืองสิบสองพันนาเชียงฮุ่งและผาใด เขตแดนเมืองเชียง ส่วนทิศใต้ จรดฝั่งบนของลำน้ำเสียว - แม่น้ำมูล บนที่ราบสูงโคราช และแก่งหลี่ผี เขตแดนกัมพูชา ในด้านทิศตะวันออกจรดเขตแดนไดเวียด ที่ริมฝั่งแม่น้ำแท้ และทางทิศตะวันตกจรดเขตแดนเมืองนครไท และกลุ่มเมืองลานเพี้ย (ลานพระยา) ศรีอยุธยา บนเขตที่ราบสูงโคราช [๑] ซึ่งอาณาจักรล้านช้าง มีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ที่สำคัญ ได้แก่ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระองค์มีความสัมพันธไมตรีที่แนบแน่นกับกษัตริย์ของไทย ในช่วงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และในสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช อาณาจักรล้านช้าง ซึ่งสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของ เมื่อภายหลังพระองค์สวรรคตแล้ว ต่อมาเชื้อพระวงศ์ลาวต่างแก่งแย่งราชสมบัติ ส่งผลให้อาณาจักรล้านช้างในได้เกิดการแตกแยกออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์


ความสัมพันธ์ทางการค้าของอาณาจักรล้านช้าง

ในยุคที่อาณาจักรล้านช้างมีความเจริญรุ่งเรือง ได้ขยายอาณาเขตทางทิศเหนือไปจนถึงสิบสองปันนาในยูนนาน รวมถึงบริเวณแม่น้ำโขงยาวลงไปถึงกัมพูชา ทำให้การติดต่อค้าขายกับอาณาจักรที่อยู่ใกล้เคียง ได้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางทำการค้าขายที่สำคัญ ซึ่งอาณาจักรล้านช้างในยุคเจริญรุ่งเรืองได้มีสินค้าออกและสินค้าเข้าที่สำคัญ ดังนี้


สินค้าออกของล้านช้าง ตามบันทึกของ Gabriel Quiroga de San Antonio บาทหลวงชาวสเปน กล่าวถึงกัมพูชาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ว่า "กัมพูชาค้าขายกับบรรดาประเทศเอเชีย และก็เป็นประตูสำคัญที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งอันล้ำค่าของอาณาจักรลาว” ซึ่งข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของอาณาจักรล้านช้างในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า รวมถึงบันทึกของชาวตะวันที่ได้เดินทางมาถึงเวียงจันทน์ อยุธยา และเมืองอื่นๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เช่น บันทึกของ Van Wuysthoff กล่าวไว้ว่า รายได้ที่สำคัญของอาณาจักรล้านช้างนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากครั่ง กำยาน และทองคำ [๒] นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงผลิตผลสำคัญๆ ของอาณาจักรล้านช้างในการส่งออก ได้แก่ แร่ธาตุ ประกอบด้วย ทองคำ เงิน เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก รวมทั้งของป่า ประกอบด้วย น้ำรัก ขี้ผึ้ง ปีกนก กำยาน หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ เอ็นเนื้อ ครั่งไหม นอแรด งาช้าง หนังกวาง ชะมดเชียง ดีบุก หนังงา ลูกเร่ว ลูกกระวาน


สินค้าเข้าของล้านช้าง สินค้าขาเข้าของอาณาจักรล้านช้างส่วนใหญ่เป็นของฟุ่มเฟือย ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สิ่งทออย่างดีเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในชนชั้นผู้ปกครอง ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไปเท่าไรนัก


ภาพรวมการค้าขายของอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรต่างๆ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาณาจักรอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำการค้ากับต่างประเทศ ทำให้พ่อค้าของอาณาจักรล้านช้างได้นำสินค้าประเภทน้ำรัก ขี้ผึ้ง ปีกนก ผ้าสายบัว ผ้าตาราง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ เอ็นเนื้อ ครั่งไหม กำยาน ดีบุก หนังงา ลูกเร่ว ลูกกระวาน และของป่าอื่นๆ มาขายในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเองมีความต้องการสินค้า หายากบางชนิดที่มีความต้องการของตลาดในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อขายให้กับตลาดต่างประเทศต่อไป

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาณาจักรกัมพูชา พบว่า อาณาจักรล้านช้างได้ใช้เส้นทางแม่น้ำโขงเป็นหลักในการเดินทางไปค้าขายกับอาณาจักรกัมพูชา โดยสินค้าที่นำไปค้าขายกับอาณาจักรกัมพูชาเป็นสินค้าประเภททองคำ กำยาน ครั่ง หนังกวาง ฝ้าย เป็นต้น เหตุผลหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการค้าขายระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรกัมพูชา เนื่องจากบางช่วงของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นศูนย์กลางค้าขายไม่ยินยอมให้พ่อค้าจากอาณาจักรอื่นๆ เข้ามาทำการค้าขายได้อย่างอิสระในเขตกรุงศรีอยุธยา ส่งผลให้พ่อค้าของอาณาจักรล้านช้างบางส่วนจึงหลีกเลี่ยง โดยเดินทางเข้ามาค้าขายในอาณาจักรกัมพูชาแทน

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาณาจักรล้านนา พบว่า อาณาจักรล้านนาเป็นศูนย์กลางใน การค้าขายขนาดใหญ่อีกแหล่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงการค้าภายในอาณาจักรและรัฐต่างๆ บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ เมืองลิ เมืองปั่น เมืองนาย เมืองมีด เชียงตุง เชียงรุ่ง หลวงพระบาง สุโขทัย อยุธยา เมาะตะมะ รวมทั้งเมืองหงสาวดี เป็นต้น ซึ่งเส้นทางคมนาคมของอาณาจักรล้านช้างที่ไปทำการค้าขายกับอาณาจักรล้านนา ได้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคม ต่อเข้ามายังเมืองพิชัย ซึ่งเป็นจุดสำคัญทางคมนาคมเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ทางเหนือ ทำให้เดินทางไปค้าขายในอาณาจักรล้านนาได้อย่างสะดวก โดยสินค้าที่นำไปค้าขายกับอาณาจักรล้านนาส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าพืชผลทางการเกษตรและงานหัตถกรรม

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาณาจักรอันนัม (เวียดนามในปัจจุบัน) พบว่า ผลิตผลของอาณาจักรล้านช้าง ได้แก่ กำยาน ครั่ง ผ้าไหม นอแรด เป็นต้น นำเข้ามาค้าขายกับอาณาจักรอันนัม ซึ่งการคมนาคมเพื่อทำการค้าขายระหว่างอาณาจักรอันนัมกับลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ได้มีเส้นทางการค้าสายหลัก คือ เส้นทางจาก Quang - tri ผ่าน Cam - lo ผ่านช่องเขา Lao – bao เมืองเซโปน และผ่านเมืองพีนแล้วทะลุถึงเมืองสุวรรณเขตซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง และเส้นทางการค้าขายระหว่างนครพนมกับอาณาจักรอันนัม ใช้เกวียนเดินทางไปมาได้ง่าย โดยจากท่าเรือโฮยอานมาถึงนครพนม ดังนั้นเส้นทางการค้าจากอาณาจักรอันนัมนั้นแยกได้เป็นสองเส้นทาง คือ เส้นทางเมืองพีน และเส้นทางนครพนม โดยพ่อค้าในเมืองอันนัมได้นำไหมดิบมาขายและซื้อผ้าไหมและนอแรดจากอาณาจักรล้านช้างกลับไป นอกจากนี้ ในระยะหลังอาณาจักรล้านช้างได้ส่งกำมะถันเข้าไปขายในอาณาจักรอันนัม เพื่อนำไปผลิตดินปืนอีกด้วย

ผลจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้อาณาจักรล้านช้างได้นำรูปแบบเงินตรา สัญลักษณ์ ตัวอักษร วัสดุที่ใช้ มาผลิตเป็นเงินตราที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอาณาจักรล้านช้าง เพื่อใช้เป็นเงินตราภายในอาณาจักรและใช้เป็นสื่อกลางในการค้าขายกับอาณาจักรใกล้เคียง โดยรูปแบบเฉพาะของเงินตราของอาณาจักรล้านช้างจะมีรูปทรงยาว และผลิตขึ้นหลายชนิด ดังนี้ [๓]

เงินฮาง นิยมหล่อขึ้นใช้เองในอาณาจักรล้านช้างและอาณาจักรกัมพูชา มีลักษณะเป็นเงินแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า โค้งงอเล็กน้อย ด้านบนมีร่องตรงกลาง ส่วนใหญ่มีอักษรจีนบอกรัชกาลที่ผลิตขึ้นตอกประทับไว้ ทำจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๘ ขึ้นไป มีลักษณะรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขอบโดยรอบ ที่เรียกว่า เงินฮาง เนื่องจากมีลักษณะคล้ายรางหญ้าม้าหรือ รางข้าวหมู คำว่า ฮาง มีความหมายว่า ราง


เงินฮาง

เงินฮาง


เงินตู้ หรือเงินฮางน้อย มีลักษณะรูปทรงเป็นแท่งแบน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมูลค่าตามน้ำหนัก ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ประมาณร้อยละ ๘๘ - ๙๐ โดยลักษณะรูปทรงคล้ายเงินฮาง แต่ไม่มีขอบสูงและท้องไม่เป็นร่องลึก ด้านหน้ามีรอยบุ๋มคล้ายนิ้วมือกด คำว่า "ตู้” เป็นภาษาลาว มีความหมายว่า ไม่มีขอบและริม


เงินตู้

เงินตู้


เงินฮ้อย คำว่าฮ้อยมาจากมาตราชั่งของชาวศรีสัตนาคนหุต ทำด้วยเนื้อเงิน ผสมทองแดงและทองเหลืองเป็นเงินตรามูลค่าสูงมีราคาต่างกันตามเนื้อเงิน มีรูปร่างคล้ายเรือชะล่าหรือกระสวยทอหูก หัวท้ายเรียวเล็กน้อย ด้านบนมีตุ่มทั่วไป คล้ายตัวบุ้ง โดยตอกตรารูปช้างและจักรเป็นสำคัญ และยังมีรูปอื่นๆ ด้วย เช่น รูปดอกจันทน์ ดอกพิกุล ดอกกล้วย ตัวเลข หรือตัวหนังสือ ส่วนด้านล่างมีลักษณะเรียบ โดยอาณาจักรล้านช้างกำหนดเรียกน้ำหนักสิบบาทว่า "ฮ้อยหนึ่ง” ต่อมาเงินฮ้อยผลิตขึ้นมีมูลค่าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเนื้อเงินที่เจือปนอยู่ ได้แก่ ฮ้อยน้ำสาม หมายถึง มีเนื้อเงินสามส่วนและโลหะอื่นเจ็ดส่วน ใช้เป็นราคาสามบาท ส่วนฮ้อยน้ำหก มีเนื้อเงินหกส่วนและโลหะอื่นสี่ส่วน ใช้เป็นราคาหกบาท และฮ้อยน้ำแปด มีเนื้อเงินแปดส่วนและโลหะอื่นสองส่วน ใช้เป็นราคาแปดบาท เป็นต้น


เงินฮ้อย

เงินฮ้อย

เงินลาด เป็นเงินปลีกชนิดราคาต่ำ ผลิตขึ้นจากเนื้อทองแดง ทองเหลือง และสำริด มีมูลค่าตามขนาดน้ำหนักที่ต่างกัน มีลักษณะรูปทรงคล้ายเรือลำเล็กๆ หรือกระสวยทอผ้า มีลักษณะคล้ายเงินฮ้อยแต่เรียวเล็กกว่า โดยมีตราประทับ อย่างน้อย ๓ ตราบนเงินลาด เช่น ตราช้าง เต่า จักร ปลา ดอกจัน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังพบเงินลาดที่มีลักษณะรูปกระสวยและมีร่องตรงกลาง แต่ไม่มีตราประทับ


เงินลาด

เงินลาด


จะเห็นได้ว่า จากความความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรกัมพูชา อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรอันนัม ส่งผลให้อาณาจักรล้านช้างได้กำหนดรูปแบบเงินตราเพื่อใช้ในการซื้อ ขาย จ่าย ทอน เป็นรูปแบบเฉพาะของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเงินตราดังกล่าวยังคงใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้ถูกรวมกับสยาม ส่งผลให้เงินตราของอาณาจักรล้านช้างได้ลดบทบาทลง และเงินตราสมัยรัตนโกสินทร์เข้าไปแทนที่จนกลายเป็นการใช้เงินตราของสยามที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

* ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

[๑] สุรศักดิ์ ศรีสำอางค์, ๒๕๕๖, เรื่องของพ่อ และรวมบทความทางวิชาการ ล้านช้าง : ล้านนา, จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประสม ศรีสำอาง.กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท, หน้า ๔๐ – ๔๒.
[๒] ซิยูกิ มาซูฮารา,๒๕๔๖, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ของอาณาจักรล้านช้าง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ จาก "รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป” ไปสู่ "รัฐกึ่งเมืองท่า”. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน,หน้า ๑๑๑ – ๑๑๒.
[๓] โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. ๒๕๔๘. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๒๙ เรื่องที่ ๖ เงินตรา/กำเนิดพัฒนาการของเงินตรา.กรุงเทพมหานคร: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, หน้า ๑๙๘ - ๑๙๙.


บรรณานุกรม

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. ๒๕๔๘. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๒๙ เรื่องที่ ๖ เงินตรา/กำเนิดพัฒนาการของเงินตรา. กรุงเทพมหานคร: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.
ชวิศา ศิริ. ๒๕๕๐. การค้าของอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒.วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
โยซิยูกิ มาซูฮารา. ๒๕๔๖. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ของอาณาจักรล้านช้าง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ จาก "รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป” ไปสู่ "รัฐกึ่งเมืองท่า”. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ.ชุดประวัติศาสตร์สำหรับประชาชน หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า : การค้าอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓. กรุงเทพมหาคร: เอ.ที.พริ้นติ้ง.
สุรศักดิ์ ศรีสำอางค์.๒๕๕๖. เรื่องของพ่อ และรวมบทความทางวิชาการ ล้านช้าง : ล้านนา.จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประสม ศรีสำอาง.กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.
อาณาจักรล้านช้าง. [online].วันที่สืบค้น ๑ มีนาคม ๒๕๕๙.https://th.wikipedia.org/wiki/.


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..