ประติมานวิทยาพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ
ประติมานวิทยาพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ
21/8/2561 / 36 / สร้างโดย Web Admin

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี*

การนับถือเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถานที่ต่าง ๆ เป็นคติความเชื่อที่อยู่คู่สังคมไทย มาช้านาน ซึ่งได้แสดงออกมาให้เห็นในลักษณะของการสร้างรูปเคารพ เพื่อเป็นตัวแทนของเทพยดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ โดยปรากฏหลักฐานจากรูปเคารพตามความเชื่อทางศาสนาที่สร้างโดยกลุ่มชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป หรือรูปเคารพอื่น ๆ ในสมัยต่าง ๆ ที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านาย หรือขุนนาง ซึ่งยังมีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

ในราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังคงสืบทอด คติการสร้างรูปเคารพแทนองค์เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือบูชาเช่นกัน เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) มีการสร้างเทวรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้น โดยประดิษฐานไว้ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นรูปเคารพแทนเทพผู้ปกปักรักษาและคุ้มครองสยามประเทศอยู่เย็นเป็นสุข รอดพ้นวิกฤติภยันตรายที่เข้ามารุกรานได้ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยให้ความเคารพนับถือสืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีรูปเคารพแทนองค์เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ดูแลทรัพย์สินและคลังสมบัติตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่น เทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ (ภาพ ๑) โดยเชื่อว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของเทพเจ้าผู้รักษาคลังสมบัติของแผ่นดิน ตลอดจนเป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพระคลังมหาสมบัติปฏิบัติงานด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในคุณธรรมและความถูกต้อง


เทวรูปพระคลัง ในมหาสมบัติ

ภาพที่ ๑ เทวรูปพระคลัง ในมหาสมบัติ


ความเป็นมาของพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ

เทวรูปพระคลังประดิษฐานอยู่ภายในอาคารสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ในพระบรมมหาราชวัง สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้เคยเป็นที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ ส่วนเทวรูปพระคลังมีประวัติความเป็นมาไม่ชัดเจน และไม่พบหลักฐานหรือเอกสารที่กล่าวถึงประวัติการสร้าง เทวรูปดังกล่าว มีเพียงประวัติที่เล่าสืบต่อกันมาว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเรียกเทวรูปองค์นี้สืบต่อกันมาว่า "พระคลัง” หรือบ้างก็นิยมเรียกกันว่า"เจ้าพ่อคลัง” ปัจจุบันมีชื่อเรียก ว่า "พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ”


ลักษณะทางประติมานวิทยาของพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะของเทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติทางด้านประติมานวิทยา ที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความเชื่อของผู้สร้างในสมัยนั้น ผ่านลักษณะทางศิลปกรรมของเทวรูปองค์นี้ ที่ยังปรากฏให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ประติมานวิทยา หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์และตีความสัญลักษณ์ทางศาสนาหรือความเชื่อ ผ่านงานศิลปกรรม ซึ่งมีทั้งประเภทงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และประติมากรรม [๑] ดังนั้นประติมานวิทยาเทวรูปพระคลังในพระคลังมหาสมบัติจึงเป็นการศึกษา วิเคราะห์ และตีความจากลักษณะหรือสัญลักษณ์ ความเชื่อจากเทวรูปพระคลัง รวมไปถึงองค์ประกอบแวดล้อมที่มีอยู่ด้วย ทำให้สามารถเข้าใจถึงความหมายและคติความเชื่อของผู้สร้างในสมัยนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีลักษณะทางประติมานวิทยา ดังนี้

๑. เทวรูปพระคลัง (ภาพ ๒) มีลักษณะเป็นประติมากรรมลอยตัวหล่อด้วยสำริดปิดทอง ขนาดความสูงประมาณ ๑๒ นิ้ว (หรือประมาณ ๓๒ เซนติเมตร) ในลักษณะท่ายืน ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิราช พระเศียรสวมศิราภรณ์ลักษณะคล้ายมงกุฎ พระพักตร์กลมรี พระโอษฐ์อมยิ้ม แต่งพระองค์ด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ประกอบด้วย กรองศอ สร้อยสังวาล ทับทรวง ต้นพาหาทั้งสองข้างประดับด้วยพาหุรัด พระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม สวมพาหุรัด คาดสายรัดพระองค์และปั้นเหน่ง ทรงผ้านุ่งยาวลายยกดอก ประดับด้วยชายไหวชายแครง [๒] พระบาทสวมฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนแท่นฐานบัวลูกแก้ว รองรับด้วยพานรองทองเหลืองปากผายขอบกลีบบัว มีข้อสังเกตว่า การทรงเครื่องของพระคลังมีลักษณะ คล้ายกับพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบจักรพรรดิราชที่นิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพ ๓) จึงกล่าวได้ว่า ลักษณะการทรงเครื่องของพระคลังเป็นการแสดงฐานะเทพยดาตามความเชื่อของคนไทย มีคติและรูปแบบเดียวกันกับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีลักษณะทางประติมานวิทยา ๓ ประการ ดังนี้


เทวรูปพระคลังในพระคลังมหาสมบัติ

ภาพ ๒ เทวรูปพระคลังในพระคลังมหาสมบัติ


พระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์

ภาพ ๓ พระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์ สมัยรัตนโกสินทร์ ภาพซ้ายพระพุทธรูปทรงเครื่อง
สมัยรัชกาลที่ ๑ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพขวาพระพุทธรูปทรงเครื่อง สมัยรัชกาลที่ ๕ ในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส


ประการแรก ในพระหัตถ์ของเทวรูปพระคลัง (ภาพ ๔) สื่อความหมายและนัยยะบางประการในฐานะและบทบาทของพระคลังได้อย่างชัดเจน โดยพระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หมายถึง การพิทักษ์ ปกป้องรักษาในลักษณะเดียวกับพระสยามเทวาธิราช (ภาพ ๕) พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ หรือทรัพย์สมบัติ โดยลักษณะเทวรูปถือดอกบัว เป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู จากอินเดียมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ พบหลักฐานโบราณวัตถุสมัยทวารวดี (ภาพ ๖) ปรากฏรูปพระลักษมีถือดอกบัว หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นลักษณะการถือดอกบัวของพระคลัง อาจสื่อความหมายเช่นเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวได้ส่งอิทธิพลต่อความเชื่อสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์


พระขรรค์และดอกบัวในพระหัตถ์

ภาพที่ ๔ พระขรรค์และดอกบัวในพระหัตถ์


เทวรูปพระสยามเทวาธิราช

ภาพที่ ๕ เทวรูปพระสยามเทวาธิราช

ที่มาภาพ : ภาพจากหนังสือ พระพุทธปฏิมา ในพระบรมมหาราชวัง


ฝาจุกภาชนะดินเผา

ภาพที่ ๖ ฝาจุกภาชนะดินเผา รูปคชลักษมีถือดอกบัว สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ สมัยวัฒนธรรรมทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒
ที่มาภาพ : http://www.g-pra.com/webboard/show.php?Category=show&No=361211


ประการที่สอง ลักษณะการวางท่าทางคล้ายกับการวางท่าทางของพระสยามเทวาธิราช สำหรับพระคลังตั้งอยู่บนพานทองเหลืองขอบตัดเป็นลักษณะกลีบบัว (ภาพ ๗) ในลักษณะยืนตรง สื่อความหมายถึง การรักษาด้วยความแข็งแรง มั่นคง ส่วนพานกลีบบัวสื่อความถึงลักษณะของดอกบัว หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ โดยมีองค์ประกอบรวมหมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวยที่มีความมั่นคงแข็งแรง


ลักษณะกากรวางและการยืนของเทวรูปพระคลัง

ภาพ ๗ ลักษณะการวางและการยืนของเทวรูปพระคลังอยู่บนพานทองเหลืองขอบตัดเป็นกลีบบัว


ประการที่สาม พระคลังมีลักษณะการทรงเครื่องแบบเทวดาอย่างไทย (ภาพ ๘) ประกอบด้วย สร้อย สังวาล พาหุรัด รองพระบาทเชิงงอน และผ้านุ่ง สื่อถึงความมั่งคั่งร่ำรวย และแสดงถึงความเป็นจักรพรรดิราช คล้ายกับพระสยามเทวาธาช แต่ลักษณะการนุ่งผ้าต่างกัน โดยพระสยามเทวาธิราชที่นุ่งผ้าแบบสนับเพลา [๓] ส่วนพระคลังนุ่งแบบผ้านุ่งยาว คล้ายกับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่นิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ มีข้อสังเกตว่า ภูษณาภรณ์ที่เป็นผ้านุ่งของพระคลังนั้นเป็นลายยกดอก มีลักษณะคล้ายกับผ้าสบงลายยกดอกของพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพ ๙) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบมากในพระพุทธรูปสมัยนี้


พรคลังทรงเครื่องเทวดาอย่างไทยพระภูษาหรือผ้านุ่งลายยกดอก

ภาพ ๘ พรคลังทรงเครื่องเทวดาอย่างไทยพระภูษาหรือผ้านุ่งลายยกดอก


พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ห่มจีวรลายยกดอก

ภาพ ๙ พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ห่มจีวรลายยกดอก


จากลักษณะพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เทวรูปพระคลังถูกสร้างในลักษณะของเทพผู้พิทักษ์รักษาเช่นเดียวกับพระสยามเทวาธิราช แต่รายละเอียดและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องนั้นแตกต่างจากพระสยามเทวาธิราช เพื่อให้เห็นบทบาทที่แตกต่างกัน เชื่อกันว่าพระสยามเทวาธิราชอยู่ในฐานะเป็นเทพผู้รักษาสยามประเทศ ส่วนพระคลังในพระคลังมหาสมบัติเป็นเทพผู้รักษาคลังสมบัติของประเทศ

 

๒. พญานาคเจ็ดเศียร (ภาพ ๑๐) หล่อด้วยสำริด สร้างขึ้นให้เป็นสัตว์บริวารหรือพาหนะของพระคลังเช่นเดียวกันเทพเจ้าในศาสนาฮินดู มีลักษณะเป็นพญานาคเจ็ดเศียรชูคอแผ่พังพานด้านหน้าสลักลายดอกจัน ๑ ดอก ลำตัวขดตัวเป็นขนดสามชั้น ผิวลำตัวสลักลายเกร็ดนาค ตั้งอยู่บนพานรองกลีบบัวทองเหลืองลักษณะเดียวกับพานรองเทวรูปพระคลัง โดยวางอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าเทวรูปพระคลัง ตามคติความเชื่อพญานาคสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากนาคเป็นสัตว์ที่ให้น้ำ นอกจากนี้พญานาคคืองูใหญ่ เป็นสัตว์ที่มีหน้าที่เฝ้าสมบัติ ตามคติความเชื่อโบราณเป็นสัตว์สำหรับดูแลแก้วแหวนเงินทองภายในสถานที่สำคัญคติความเชื่อดังกล่าวจึงมีความหมายเดียวและสัมพันธ์กับบทบาทของพระคลัง ประติมากรรมพญานาค น่าจะใช้เป็นสัตว์ที่เฝ้าทรัพย์สมบัติ หรืออาจเป็นสัตว์พาหนะของพระคลังด้วยเช่นกัน


พญานาคเจ็ดเศียร

ภาพ ๑๐ พญานาคเจ็ดเศียรสำริดสัตว์บริวารพระคลัง


เทวรูปพระคลังแกะสลักด้วยไม้

ภาพ ๑๑ เทวรูปพระคลังแกะสลักด้วยไม้


๓. เทวรูปไม้ (ภาพ ๑๑) เป็นประติมากรรมแกะสลักด้วยไม้ ตั้งอยู่ด้านหลังเทวรูปพระคลัง จำนวน ๓ องค์ ไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงวัตถุประสงค์การสร้างเทวรูปทั้ง ๓ องค์ดังกล่าว แต่ละองค์มีลักษณะ การวางองค์ประกอบ และท่าทางเหมือนกับเทวรูปพระคลัง โดยมีรายละเอียดการสลักตกแต่งแตกต่างกัน ในที่นี้ขอเสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเทวรูปไม้ทั้ง ๓ องค์ไว้สองประเด็น คือ

ประเด็นแรก อาจเป็นเทวรูปพระคลังจำลองที่มีผู้สร้างเลียนแบบและนำมาถวายในวาระโอกาสต่าง ๆ แต่ละองค์จึงสร้างขึ้นไม่พร้อมกัน เช่น ขุนนางหรือข้าราชการที่มาดำรงตำแหน่งในกรมพระคลังมหาสมบัติมาสร้างถวายเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจ เทวรูปพระคลังจำลองทั้ง ๓ องค์นี้ มีลักษณะเป็นเหมือนการจำลองหรือเลียนแบบ แต่ใช้วัสดุต่างชนิดจากองค์จริง นอกจากนี้ลักษณะเทวรูปไม้ทั้ง ๓ องค์ มีลักษณะการวางท่าและถือสิ่งของเช่นเดียวกับพระคลัง เป็นการสื่อความหมายถึงการดูแลรักษาทรัพย์สินสมบัติของแผ่นดิน และบันดาลให้เกิดความมั่งคั่ง ร่ำรวย และความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่สอง อาจเป็นร่างแบบเทวรูปพระคลังก่อนที่จะหล่อองค์เทวรูปพระคลังองค์จริง ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง เนื่องจากเทวรูปไม้ทั้ง ๓ องค์ มีลักษณะการสลักตกแต่งลวดลายแบบหยาบ และมีรายละเอียดในการสลักตกแต่งที่ไม่เหมือนกัน เทวรูปไม้ทั้ง ๓ องค์ จึงน่าจะเป็นการร่างต้นแบบองค์เทวรูป พระคลังที่สร้างขึ้นช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีมาก่อนเทวรูปพระองค์องค์จริง

๔. จารึกดวงฤกษ์มงคล เขียนด้วยตัวอักษรภาษาไทย วางตั้งอยู่ด้านหลังเทวรูปไม้ ประกอบด้วย แผ่นดวงฤกษ์ทองแดง (ภาพ ๑๒) จำนวน ๑ แผ่น และหมายดวงฤกษ์กระดาษ (ภาพ ๑๓) จำนวน ๑ แผ่น สำหรับแผ่นดวงฤกษ์ทองแดง ระบุชื่อกรมพระคลังมหาสมบัติไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งวันและเวลาอันเป็นฤกษ์มงคล ในการประกอบพิธีสำคัญ โดยมีข้อความว่า " กรมพระคลังมหาสมบัติ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๗๓ เวลา ๑๔.๐๕ น. ตรงกับวัน ๒ฯ๓ ค่ำ ปีมะเมียโทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ เวลาบ่าย ๒ โมง ๕ นาที ลัคนาวิถี ราศีเมถุน”

ส่วนหมายกระดาษมีข้อความเขียนด้วยลายมืออยู่ในกรอบกระจก เนื้อความบอกฤกษ์มงคลเป็นช่วงวันและเวลาอันเป็นเดียวกันกับแผ่นดวงฤกษ์ทองแดง มีข้อความ ดังนี้ "ดวงฤกษ์ วันจันทร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๗๓ ตรงกับเดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมียโทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ เวลาบ่าย ๒ โมง ๕ นาที ถึงเวลาบ่าย ๒ โมงกับ ๔๕ นาที (๑๔.๐๕ ถึง ๑๔.๔๕) ในระวางฤกษ์ จะได้ตั้ง สัจจาธิษฐาน ขอความสมบูรณ์ธนทรัพย์ให้เจริญ แก่ประเทศและชาติเสร็จแล้วจะได้จุณเจิมส่วนสำคัญแห่งวัตถุนั้น ๆ แล้วจะได้นำพระราชทรัพย์เคลื่อนไปสู่ที่ใหม่ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด พระญานเวช”

จากเนื้อหาในแผ่นดวงฤกษ์ดังกล่าวมีการระบุดวงฤกษ์ วันเวลาและปีศักราช เหมือนกันทั้งสองแผ่นไว้อย่างชัดเจน อันเป็นฤกษ์มงคลในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปสู่ที่ใหม่ แผ่นจารึกทั้งสองแผ่นดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับเทวรูปพระคลัง ซึ่งยังเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป


แผ่นดวงฤกษ์ทองแดง

ภาพที่ ๑๒ แผ่นดวงฤกษ์ทองแดง

๕. วิมานเก๋งจีน (ภาพ ๑๔) เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ มีลักษณะเป็นเก๋งจีนทำด้วยไม้แกะสลักแบบจีนทาชาดสีแดง มีประตูลักษณะเป็นบานเฟี้ยมเปิดปิดได้ ตามลักษณะเรือนหรือวิมานที่ประทับของเทพเจ้าจีน มีลักษณะที่ได้รับอิทธิพลจากจีนอย่างชัดเจน วิมานเก๋งจีนที่ประทับของพระคลังนี้น่าจะสื่อถึงความหมายของพระคลังมหาสมบัติ โดยมีงานประดับที่สื่อความหมายมงคลแบบจีน (ภาพ ๑๕) เช่น บริเวณเหนือกรอบประตูด้านหน้ามีภาพสลักลายฉลุเป็นภาพ "ฮก ลก ซิ่ว” หมายถึง โชค ลาภ และอายุยืน สัญลักษณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเหนือประตูด้านหน้าวิมานเก๋งจีน เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายอันเป็นมงคลที่อำนวยให้เกิดความสุขความเจริญ


วิมานเก๋งจีน

ภาพ ๑๔ วิมานเก๋งจีน


ลายประดับมงคลในวิมานเก๋งจีน

ภาพ ๑๕ ลายประดับมงคลในวิมานเก๋งจีน


ตัวอย่างเช่น บริเวณรอบเสาซุ้มประตูด้านหน้าวิมานสลักรูปมังกร สื่อความหมายถึง พลังอำนาจขับไล่สิ่งชั่วร้ายและการปกปักพิทักษ์รักษา ตรงระเบียงรอบวิมานเก๋งจีนฉลุลายผลไม้และดอกไม้มงคลแบบจีน เช่น ผลลูกท้อ พวงองุ่น ดอกโบตั๋น หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ความโชคดี และขับไล่สิ่งชั่วร้าย ส่วนบานประตูหน้าต่างฉลุลายมงคลสื่อถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เช่น ลายแก้วชิงดวง ลายผลลูกท้อ ลายดอกท้อ ลายดอกโบตั๋น เป็นต้น จากลักษณะลายประดับดังกล่าวแสดงถึงคติความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ที่มีความเชื่อสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

พระคลังในพระคลังมหาสมบัติเป็นประติมากรรมรูปเคารพที่ไม่พบหลักฐานการสร้างอย่างชัดเจน เชื่อกันว่า เป็นเทพผู้ดูแลรักษาทรัพย์สินและพระคลังมหาสมบัติของชาติ โดยมีลักษณะทางประติมานวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงบทบาทและหน้าที่อย่างชัดเจน นับว่าเป็นประติมากรรมที่แฝงด้วยคติความเชื่อมงคลที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติราชการในด้านการคลังและทรัพย์สินใน พระคลังมหาสมบัติ อันเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพระคลังมหาสมบัติปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยมีการสอดแทรกสัญลักษณ์มงคลที่มีความหมายให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เคารพกราบไหว้ นับว่าเป็นประติมากรรมรูปเคารพที่น่าสนใจและมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับเทวรูป พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติอีกหลายประการที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป


*ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์

[๑] สัมภาษณ์ รศ. ดร.เชษฐ์ ติงคสัญชลี. อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๘.
[๒] ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายคำว่า ชายแครง คือ ผ้าห้อยทับหน้าขา และ ชายไหว คือ
[๓] ผ้าห้อยที่อยู่ระหว่างชายแครง ทั้งสองเป็นเครื่องแต่งกาย
[๔] สนับเพลา คือ ผ้านุ่งแบบกางเกง


เอกสารอ้างอิง

กิตติ วัฒนะมหาตม์. สัตว์มงคล เครื่องรางของขลัง. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ , ๒๕๔๗.
ช่อทิพย์ จำนงวงษ์. เทวรูปพระคลังในพระคลังมหาสมบัติ. สารสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ฉบับที่ ๑๙
ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ – มีนาคม ๒๕๕๔. หน้า ๑๒.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. ฮก ลก ซิ่ว โชค ลาภ อายุยืน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๔๙.
พิชญา สุ่มจินดา. พระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง : ความรู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลง
ความขัดแย้งที่ต้องวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๕๐
ชลลดา วัฒนศิริ. พระคลังข้างที่กับการลงทุนในประเทศ พ.ศ. ๒๔๓๓ – ๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร
มหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙.
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิสกุล. สารคดี : พระสยามเทวาธิราช. พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, ๒๕๑๓.
หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๓๕.


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
มาสกและกหาปณะ : เงินตราพุทธกาลในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา
3/9/2561 / 564
เงินตรานับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ โ..
ภาพจำลองพระพุทธชินสีห์บนเหรียญที่ระลึกสำคัญของไทย
2/9/2561 / 295
พระพุทธรูปเป็นศาสนวัตถุอันเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา คติในการ..
เหรียญที่ระลึกพระสยามเทวาธิราช พ.ศ. 2540
1/9/2561 / 406
โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ..